โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 23 วิถีเกษตร….อีกเรื่องราวการทำเกษตรอินทรีย์

…..ท่ามกลางอากาศร้อนระอุทะลุไป 40 องศาเซลเซียลในบางวัน เป็นวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ส่งผลตรงต่อภาคการเกษตรที่ต้องมีการดูแลและจัดการมากขึ้น เช่นเดียวกับ กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สมาชิกต้องมีการวางแผนจัดการ บางครอบครัวสามารถปลูกผักสลัดได้เติบโต งดงามน่ากิน นำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ได้ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา นอกจากการปรับปรุงดินให้สมบูรณ์ การวางผังแปลงที่เหมาะสม การรักษาระบบนิเวศของแปลง และอื่นๆ รวมไปถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลักปฏิบัติการทำเกษตรอินทรีย์ ….

“เราต้องปรับปรุงดินให้มีอินทรียวัตถุที่ดีใส่ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีจนเป็นดินปลูก ปลูกสลัดในหน้าแล้งขาดน้ำไม่ได้ต้องรดน้ำ 3 เวลาต่อวัน ถ้าน้ำน้อยสลัดจะขมไม่อร่อย ถ้าร้อนมากก็ใช้แสลนขึงบังแสง ต้องเลือกสลัดที่เติบโตได้ดี คือ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เบบี้คอส ต้องมีโรงเรือนสำหรับเพาะกล้าๆ ได้ 20 วัน ก็ย้ายลงแปลงปลูกที่เราเตรียมดินไว้อย่างดีแล้ว”  กนกพร ดิษฐกระจันทร์ ประธานกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง เล่าให้ฟัง

วิถีเกษตร….อีกเรื่องราวการทำเกษตรอินทรีย์

       จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอู่น้ำ อู่ข้าวของไทย สามารถทำนาได้ตลอดทั้งปี แต่ในความเป็นจริงสภาพพื้นที่ในอำเภออู่ทองนั้นมีหลายลักษณะ ถึงแม้จะมีระบบชลประทานเข้าถึงแปลงเกษตร แต่บางพื้นที่เป็นที่รับน้ำในช่วงน้ำหลาก ทำให้มีน้ำท่วมขังนาน อย่างบ้านตาลลูกอ่อน ของกนกพร ดิษฐกระจันทร์ หรือเล่ ประธานกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อเกื้อหนุนช่วยเหลือกันและกันระหว่างสมาชิก เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน ปัญหาด้านสุขภาพ รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงแต่ขายผลผลิตได้ต่ำ หลังจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาสารเคมีแบบเข้มข้นกันมา จึงตัดสินใจรวมตัวแล้วไปอบรมเกษตรอินทรีย์กับมูลนิธิข้าวขวัญ ในปี 2550 จากนั้นมาสมาชิกในกลุ่มได้เปลี่ยนความคิด ปรับวิถีการผลิตสู่เกษตรอินทรีย์

       ในการทำเกษตรอินทรีย์นั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนจัดการที่ดี ต้องรู้จักสภาพพื้นที่ที่จะทำเกษตรแล้วเลือกพืชที่เหมาะสมที่จะปลูก ต้องปรับปรุงดินให้ดี แต่ด้วยสภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ลุ่ม มีระบบชลประทาน การทำนาจึงเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร และการอบรมกับมูลนิธิข้าวขวัญก็เป็นการอบรมการทำนาในระบบอินทรีย์

วางผังและวางแผน….ทำเกษตรอินทรีย์

           พื้นที่ทำเกษตรของกนกพรในบ้านลูกตาลอ่อน อำเภออู่ทองมีอยู่ 9 ไร่ เดิมเป็นที่ทำนาทั้งหมด เมื่อตั้งใจปรับเปลี่ยนการทำเกษตรสู่เกษตรอินทรีย์ จึงต้องเริ่มด้วยการปรับพื้นที่ แล้วถึงจะมีการวางแผนการทำเกษตรว่าจะปลูกผัก หรือทำนา โดยสังเกตและวิเคราะห์ชนิดพืชผักที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง

  1. วางผังแปลงที่เหมาะสม จากพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการทำเกษตร จึงต้องยกคันขอบแปลงให้สูง 5 เมตร เพื่อบรรเทาน้ำท่วมขัง ทำคันขอบแปลงให้กว้างพอที่ลงไม้ผล ไม้ยืนต้น ด้านในพื้นที่ขุดสระกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง บนคันสระทำแปลงปลูกผัก แล้วแบ่งพื้นที่บางส่วนทำนา
  2. วางแผนทำเกษตร พื้นที่ 9 ไร่ มีทั้งการทำนา ปลูกผัก ไม้ยืนต้นและไม้ผล ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดต้องมีการจัดการและการวางแผนที่ดี มีการวิเคราะห์สถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ด้วยวิถีการทำเกษตรอินทรีย์นั้น จำเป็นต้องรู้จักสภาพนิเวศของแปลง รู้จักวางแผนจัดการแปลงของตนเลือกพืชที่เหมาะสม รู้จักการดูแลรักษาระบบนิเวศที่สร้างความหลากหลายของพืช รู้จักคิดวิเคราะห์ตระหนักต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น พร้อมที่ปรับตัวได้ตลอด ที่สำคัญการทำงานกลุ่มที่ต้องเกื้อหนุนกันและมีตลาดที่รองรับผลผลิต และการแปรรูปผลผลิตที่เหลือย่อมจำเป็น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้วิถีเกษตรอินทรีย์อยู่รอดได้ ไม่ว่าเกิดวิกฤตใดๆ

……………………………………………………………

ขอขอบคุณ : กนกพร ดิษฐกระจันทร์ ข้อมูลสัมภาษณ์วันที่ 14 พฤษภาคม 2563
                   ภาพประกอบ จากเพจ กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบรุี และโพสต์ของกนกพร ดิษฐกระจันทร์

บทความแนะนำ

เสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ โดย วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

“กรอบแผนฯ 13 ควรให้ความสำคัญการศึกษานอกระบบที่สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านศูนย์เรียนรู้ที่มีหลักสูตรเกิดจากประสบการณ์ของเกษตรกรในชุมชนนั่นเอง…”