โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 และวิธีการรับมือของครัวเรือนเกษตรไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับตัวอย่างครัวเรือนเกษตร 720 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งถูกสุ่มมาจากทะเบียนเกษตรกรตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา

โดยสรุปงานวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งกระทบครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่อย่างถ้วนหน้า ทั้งจากการทำการเกษตรเพื่อการค้าและต้องอาศัยระบบการขนส่งผลผลิต กระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และกระทบจากการพึ่งพิงรายได้นอกภาคเกษตรซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ ประกอบกับการมีภาระหนี้สินเกษตรกรที่สูง และปัญหาสภาพคล่องจากความไม่สัมพันธ์กันของรายได้และรายจ่าย ทำให้ครัวเรือนเกษตรมีข้อจำกัดในการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้

และที่สำคัญคือ งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งจะกระทบหนักกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สินมาก อยู่นอกเขตชลประทาน และมีทุนทางสังคมต่ำ ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงวิธีการรับมือกับวิกฤติมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ในอีกด้านหนึ่ง วิกฤติครั้งนี้ก็มาพร้อมโอกาสคือ  โอกาสที่จะมีเกษตรกรรุ่นใหม่ โอกาสที่มาจากการบีบบังคับให้เกษตรกรได้เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลผลิต การสร้างคุณค่าและการเข้าถึงตลาดของผลผลิตทางการเกษตร โอกาสที่ทำให้สถาบันในระดับท้องถิ่นต่าง ๆ ได้มีบทบาทมากขึ้น และโอกาสที่ทำให้ทุกคนหันมาพึ่งพิงและพยายามสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งจากข้างใน

งานวิจัยนี้ได้สะท้อนถึงความสำคัญและความจำเป็นของความช่วยเหลือภาครัฐในระยะสั้นที่ทันการณ์ เพียงพอ และมุ่งเป้าไปสู่ครัวเรือนเกษตรกรรายเล็ก และครัวเรือนที่มีความเปราะบางสูง เพื่อประคับประคองครัวเรือนให้อยู่รอดได้ในระยะสั้น และลดผลกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาว รวมถึงความจำเป็นในการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรไทยทั้งในการผลิตและตลาดให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติโควิด แต่อาจจะเป็น new normal ต่อไปในอนาคต

นโยบายและมาตรการของรัฐที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว มีความจำเป็นในการสร้างระบบหลักประกันทางสังคมให้ครัวเรือนเกษตรและแรงงานนอกระบบโดยรวม ตลอดถึงการสร้างสถาบันและวัฒนธรรมการออมให้กับครัวเรือนกลุ่มนี้ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจในอนาคต

และท้ายที่สุด คือ การต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบี้ยวในภาคเกษตรและความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจไทย

ที่มา : บทความของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “ครัวเรือนเกษตรไทยในวิกฤติโควิด-19” https://bit.ly/2TtjPCC

บทความแนะนำ