โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที 2 พันธุกรรมข้าวกับการเปลี่ยนผ่านความมั่นคงทางอาหารของภาคใต้

“พื้นที่ปลูกข้าวทางภาคใต้มีอยู่เพียง 5% เท่านั้น สัดส่วนพืชไร่ยิ่งแทบเป็นศูนย์ พืชผักมีเพียง 1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าวิกฤติมาก เนื่องจากพื้นที่อาหารส่วนใหญ่ถูกแย่งไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นถึง 90% ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายสายพันธุ์ของพืชสูญเสียไปและสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สามารถพึ่งตนเองทางอาหารของภาคใต้ใต้” เป็นอีกประเด็นน่าสนใจ จากการให้มุมมองการเปลี่ยนผ่านมั่นคงทางอาหารของภาคใต้ โดย รศ.ดร.ร่วมจิตต์ นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ในงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ รศ.ดร.ร่วมจิตต์ นกเขา ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนผ่านประสบการณ์การอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน และทิศทางการขับเคลื่อนที่น่าสนใจหลายประเด็น ดังต่อไปนี้

พันธุกรรมข้าว

           ในอดีตเรามักมองว่าชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นกระดูกสันหลังของอาชีพเกษตรที่สำคัญคือพันธุกรรมพืช ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่พัฒนาการเกษตรให้เกิดความยั่งยืนและมีความมั่นคงทางอาหาร และแน่นอนว่าส่งผลให้เกิดความมั่นคงในชีวิต แม้ว่าพันธุกรรมข้าวที่เรามีอยู่ถึง 24,000 สายพันธุ์ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช (Gene Bank) แต่ว่ายังขาดการศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อพันธุกรรมที่มีอยู่ หลายคนได้พูดถึงการสร้างพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ แต่ว่าก็ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องศักยภาพของฐานพันธุกรรมที่มีอยู่ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช (Gene Bank) ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่ตอนนี้กำลังมีการสร้างเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สีเขียวขึ้นมา แต่ความจริงแล้วบนโลกมีเชื้อพันธุกรรมข้าวที่มีเมล็ดสีเขียวอยู่ ถ้ามองการแบ่งเชื้อพันธุกรรมข้าวสามารถมองได้ 2 กลุ่ม คือ ข้าวแอฟริกาซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โอไรซากลาเบอร์ริมา (Oryza Graberrima) และข้าวเอเชียซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โอไรซาซาติวา (Oryza Sativa) ความหลากหลายพันธุกรรมข้าวจะมีตั้งแต่เมล็ดดำ เมล็ดเขียว เมล็ดขาว เมล็ดม่วง เมล็ดเหลือง ซึ่งมีอยู่หลากหลายสีตามเชื้อพันธุกรรมข้าว

           หากมองถึงฐานทรัพยากรที่อยู่ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวของโลกที่ตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีเชื้อพันธุกรรมประมาณ 129,500 กว่าสายพันธุ์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเชื้อพันธุ์ที่มีอยู่ไทย ที่มีพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองอยู่ 17,000 เชื้อพันธุกรรม ข้าวป่า 1,000 เชื้อพันธุกรรม ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์ 3,000 เชื้อพันธุกรรม และพันธุ์ข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ 3,000 เชื้อพันธุกรรม จากตัวเลขเชื้อพันธุกรรมนี้ กล่าวได้ว่าความมั่นคงทางอาหารเรื่องข้าวของไทยไม่น่ากังวล เพราะว่าเรามีปริมาณมากพอ แต่ถ้าถามว่าคนไทยมีความมั่นคงในการบริโภคข้าวหรือทางอาหารไหม? ตอบได้ว่าไม่มี เพราะนอกจากความมั่นคงเรื่องข้าวที่มีมากพอแล้วต้องเป็นข้าวที่ปลอดภัย เป็นข้าวที่มีคุณภาพ และต้องมีความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วย

พันธุกรรมข้าวทางภาคใต้

           จากพื้นที่ทำการเกษตรในประเทศไทยมีทั้งหมด 149 ล้านไร่ แต่ทางภาคใต้พบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่เพียง 5% เท่านั้น โดยที่ส่วนใหญ่นั้นปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชเศรษฐกิจอื่นถึง 90% ขณะที่ภาคเหนือมีพื้นที่ทำนาอยู่ถึง 49% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 65% และภาคกลาง 33% จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สามารถพึ่งตนเองทางอาหารได้ของภาคใต้ สัดส่วนพืชไร่แทบเป็นศูนย์ พืชผักมีเพียง 1% และพื้นที่ทำการเกษตรอื่นๆ อยู่ที่ 4% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่วิกฤติมาก เนื่องจากพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ถูกแย่งไปปลูกพืชพลังงาน ที่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายสายพันธุ์ของพืชสูญเสียไป นอกจากการเสียพื้นที่ไปให้พืชพลังงานที่เยอะแล้ว ยังพบว่าวิถีชีวิตการบริโภคของคนภาคใต้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังเช่นในอดีตที่คนภาคใต้เมื่อตื่นมาก็จะทานข้าว แต่ปัจจุบันคนภาคใต้ก็จะดื่มกาแฟเป็นอาหารเช้า และ จากงานวิจัยก็พบว่าในอดีตคนไทยนั้นจะบริโภคข้าวสารประมาณ 114 กก./คน/ปี แต่ปัจจุบันพบว่าคนไทยบริโภคข้าวสารลดลงเหลือ 99 กก./คน/ปี หรือคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกประมาณ 300 กก./คน/ปี

การอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวไร่ในพื้นที่ภาคใต้

           หากถามถึงสัดส่วนพื้นที่หรือจำนวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวไร่ เราไม่สามารถตอบได้เลยว่าในฤดูปลูกแต่ละปีมีพื้นที่ปลูกข้าวไร่มากน้อยเท่าไหร่ เนื่องจากเกษตรกรจะปลูกตามพืชหลัก เช่น เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน หรือ ยางพารา หรือไม้ผล ที่มีอายุ 1-3 ปี เกษตรกรก็จะไปปลูกข้าวไร่ได้ 3 ปี พอพืชหลักโตก็จะเลิกปลูก หรือเกษตรกรบางรายผลิตข้าวแค่ 1 ปีพอกินปีต่อไปก็ไม่ปลูก เพราะฉะนั้นพื้นที่ปลูกข้าวไร่จึงไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับพื้นที่ปลูกข้าวที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักตอบว่ามีพื้นที่จำกัด เพราะส่วนใหญ่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ดังนั้นทิศทางการพัฒนาข้าวไร่ของภาคใต้อาจต่างกับภาคอื่นที่ต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวไร่ที่สามารถปลูกร่วมกับพืชเศรษฐกิจ และมีเพียงพอต่อการบริโภคของเกษตรกร ซึ่งหากเกิดวิกฤติแล้วภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงเรื่องความมั่นคงทางอาหารเรื่องข้าวมากที่สุดเพราะพึ่งพาข้าวจากภาคอื่นถึง 90%

ทิศทางการขับเคลื่อนพันธุกรรมข้าว

           หัวใจที่จะทำให้งานสำเร็จเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเรื่องพันธุกรรม ในการทำงานดังกล่าวต้องอาศัยทรัพยากรด้านงบประมาณเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนจากรัฐที่ยังถือว่าจำกัด แต่จะทำอย่างไรด้วยมีทรัพยากรที่จำกัดนี้ที่จะทำให้นักวิชาการที่ทำงานเรื่องข้าวทั้ง 4 ภาค ที่ส่วนใหญ่มักต่างคนต่างทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน และหาทางออกในงานพัฒนาเรื่องข้าวเชื่อมกับเครือข่ายเกษตรกรทั้งประเทศ โดยแผนระยะสั้นเป็นการเอาพันธุ์พื้นเมืองที่เรามีอยู่ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีในพื้นที่ให้นำมาคัดพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และแผนระยะยาวมุ่งการปรับปรุงพันธุ์ต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลายพื้นที่เผชิญอยู่

อ้างอิง

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมข้าว ความหลากหลายที่ท้าทายสถานการณ์ปัจจุบัน” งานมหกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ