ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ น้ำ กัลยา เชอมื่อ ผู้ร่วมก่อตั้ง Seeds Journey จ.เชียงราย เรื่องราวการเดินทางของเมล็ดพันธุ์ที่นำพวกเขาไปรู้จักข้าวท้องถิ่นในชุมชนชาติพันธุ์ของตนเอง Seeds Journey คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่บอกว่า “เราไม่ได้เป็นเกษตรกรหรือปลูกข้าวเอง แต่เราเป็นกลุ่มคนจัดกระบวนการให้ตัวเองได้ไปเรียนรู้ เพื่อส่งต่อความรู้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ อาหารท้องถิ่น เพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่สูญหายไป และช่วยให้คนภายนอกเข้าใจเรื่องราวของคนในท้องถิ่น”
จุดเริ่มต้นการเดินทางของคนรุ่นใหม่ น้ำ-กัลยา เล่าถึงความเป็นมาว่า ก่อนหน้านี้ เธอทำงานเรื่องอาหาร กับมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) มาก่อน ทำ food truck กับพี่แอน ศศิธร คำฤทธิ์ ที่เชียงใหม่ เรื่องกินเปลี่ยนโลก ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน และได้ร่วมทำรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก
หลังจากนั้นก็มีโอกาสนำเสนอเรื่องอาหารผ่านการประกวดนวัตกรรมของ UNDP ที่ไทยในปี 2018 นำเสนองานที่ทำเรื่องความยั่งยืน ผ่านเรื่องราวการกินของคนในชุมชน และการประกวดในครั้งนั้นก็ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ได้รับสัญชาติพอดี หลังจากนั้นก็ได้ทำงานในเรื่องอาหาร ได้เดินทางต่อในเส้นทางนี้ จนเกิดเป็นเพจการเดินทางของเมล็ดพันธุ์(Seeds Journey) ร่วมกลุ่มกับเพื่อน ๆ 4 – 5 ชาติพันธุ์ โดยไม่มีองค์กรใดที่สนับสนุนเป็นหลัก
“Seeds Journey เราไม่ได้เป็นเกษตรกร หรือปลูกข้าวเอง เราเป็นกลุ่มคนที่จัดกระบวนการเพื่อให้ตัวเอง ได้ไปเรียนรู้กับผู้รู้ ในขณะเดียวกันเราก็ชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ หรือว่าร้านอาหารที่สนใจในการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืช พาคนนอกที่สนใจเข้าไปในชุมชนด้วย หรือถ้าไม่ได้เข้าไปในชุมชน ทีมเราก็จะจัดกระบวนการสื่อสารในเมืองผ่านช่องทางอื่น ๆ เพื่อส่งต่อความรู้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ อาหารท้องถิ่น เพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่สูญหายไป และช่วยให้คนภายนอกเข้าใจเรื่องราวของคนในท้องถิ่น”
การเดินทางของเมล็ดพันธุ์(Seeds Journey) มาเจอกับข้าวพื้นบ้าน ข้าวท้องถิ่นได้อย่างไร “จริง ๆ ข้าว เป็นเรื่องที่เราไม่ได้พูดถึงเท่าไหร่ในแง่มุมอาหารในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เราได้กลับมาอยู่บ้านที่เชียงราย ได้เจอผู้รู้เรื่องอาหารอาข่า พี่น้องลีซู และพี่น้อง ปกาเกอะญอ และมีโอกาสก็ได้นำเสนอวัตถุดิบใหม่ ๆ พร้อมข้าวท้องถิ่นให้ร้านอาหารได้ลองกินด้วย ก็เลยทำให้เราได้กลับมาขลุกกับเรื่องข้าวมากขึ้น และเรารู้สึกว่าข้าวกับอาหารมันต้องมาคู่ กัน ในเรื่องการรักษาความหลากหลายของพันธุ์ท้องถิ่น”
การจัดกระบวนการแต่ละครั้ง หรือบางทีก็ทำการสื่อสารเอง มีทุนบ้างไม่มีทุนบ้าง แต่สิ่งที่ได้มากกว่า ตัวรายได้ สิ่งที่ทำให้เรายังคงอยู่ได้ คือ เราได้เดินทาง ได้รู้ที่มาที่ไปของอาหารเหล่านี้ ว่ามันเป็นยังไง เรารู้สึกว่ามีความสุขเกิดขึ้นระหว่างทาง เวลาที่เราไปเจอชุมชน เจอคนที่เขาอยู่กับภูมิปัญญา ได้ฟัง ได้ทำอะไรร่วมกันกับเขา ได้กินข้าวกับเขา บรรยากาศตอนทำอาหาร ตำน้ำพริก หุงข้าวแบบอาข่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีคุณค่าเป็นสิ่งที่เราหลงรัก
อีกสิ่งที่เรารักก็คือ ผู้คนที่เราชวนมาเดินทางด้วย คนที่อยากให้เราจัด อยากให้เราพาเข้าไปในชุมชน ซึ่งเรารับรู้ได้ว่ามีผู้คนที่น่ารักอยู่รอบตัว ทำให้เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว ความรักในอาหาร ความรักในข้าว และสิ่งที่เราทำอยู่ มันไม่ใช่แค่ตัวเราที่หลงรักในภูมิปัญญา หรือสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ แต่ว่าคนรอบข้าง หรือคนที่มาเจอเรา เขาก็หลงรักในอาหาร รักในข้าวพื้นบ้าน รักสิ่งที่เราทำด้วยในภูมิปัญญานี้ด้วยเช่นกันก็เลยรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องส่งต่อ ต้องมีการรักษาไว้ให้นานที่สุด ให้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน”
เมื่อถามถึงความท้าทายด้านการผลิต – บริโภคในกลุ่มชาติพันธุ์ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านอาหารอย่าง Seeds Journey เห็นความท้าทายอะไรบ้าง “ผู้เฒ่าอายุ 80 – 90 พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศค่อนข้างเยอะ จะบอกเลยว่า หลังจากนี้จะมีวิกฤติเรื่องผลผลิตในชุมชน ตั้งแต่เรื่อง ผลผลิตที่อาจจะได้น้อยมาก เรื่องการติดดอกแต่ไม่ติดผล ซึ่งเจอหนักมากในชุมชนตอนนี้ และผู้เฒ่าบอกว่า อีก 5 ปี หลังจากนี้ เรื่องข้าวก็ต้องตุนเหมือนกันนะ เพราะไม่รู้ว่าในปีถัดไป เราจะได้ข้าวไร่ ข้าวนาเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าจะพอกินไหม เป็นปัญหาที่ชุมชนของเราถกกันมา ตั้งแต่ปีที่แล้ว และกำลังอยู่ในแผนของกระบวนการถอดองค์ความรู้ในพื้นที่ช่วงต้นปีหน้า”
“เราเจอว่าคนในชุมชนไม่ได้ปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิมแล้ว เพราะเขาคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากกินข้าว แบบนี้หรอก ข้าวบางพันธุ์รุ่นพ่อรุ่นแม่ยังปลูกอยู่ แต่พอลูก ๆ ไม่อยู่ในชุมชน ก็คงไม่มีใครกินแล้ว ไม่มีใครอยากจะปลูก เขาคิดว่า ซื้อข้าวในเมืองกินง่ายกว่า
แต่ทีมเรากลับไปทำให้เขารู้สึกว่า จริง ๆ ข้าวพันธุ์ดั้งเดิมนี้ เราอยากกินนะ เราอยากรู้นะ ว่ามันหุงยังไง มันกินแบบไหน ส่วนคนที่เขายังปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิม เขาบอกว่าเขาชอบพันธุ์ข้าวของตัวเอง เพราะว่ากินข้าวในเมืองไม่อร่อย กินข้าวบนดอยของเรามันอร่อย และถ้าปลูกข้าวไร่ก็ปลูกอย่างอื่นได้ด้วย อยากปลูกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เท่าที่ยังทำได้
และข้าวพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนชาติพันธุ์อาข่าเรานั้น ก็มีวิธีการหุงอีกแบบหนึ่ง หุงแล้วต้องพรมน้ำ แล้วเอาลงจากเตา เอามาพรมน้ำอีก น้ำต้องพอดี ข้าวถึงไม่แข็ง ไม่แฉะ อันนี้ก็เป็นชุดความรู้ที่เป็น ภูมิปัญญา และมันอร่อยด้วยนะ ปกติถ้าไม่มีพิธีกรรม หรือว่าไม่มีงานในชุมชน หรือไม่ได้บอกแม่ ๆ ว่างานนี้อยากให้หุงแบบนี้ เราก็จะไม่ได้กินข้าวที่หุงด้วยวิธีแบบนี้ เพราะพอมีไฟฟ้าเข้า มีเตาแก๊ส ก็ไม่ได้ใช้วิธีหุงแบบนี้แล้ว เพราะทุกคนเร่งรีบ สิ่งที่เราทำได้ เพื่อให้เกิดการรักษาและอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้ คือใช้กระบวนการเรียนรู้ของเราเข้าไปในชุมชน และต้องบ่อยด้วยนะ ไม่ใช่ปีนึงไปครั้งนึง ก็อาจจะลืม”
“หลังจากที่เราทำกิจกรรมนี้มา 4-5 ปี เรามองเห็นชุมชนที่สามารถออกแบบการท่องเที่ยวของตัวเองได้ด้วย น้อง ๆ ในทีมก็เริ่มมีโปรเจคที่ทำเองในชุมชน วางแผนพัฒนาชุมชนของตัวเองด้วยองค์ความรู้ของเขา บางคนเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ก็กลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นผู้รู้เรื่องสมุนไพร ออกแบบร่วมกับ แกนนำชุมชนได้ และอีกอันที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือ ชุมชนหันมาปลูกพืชอาหารของ ตัวเองมากขึ้น และนำเข้าของอาหารในเมืองน้อยลงเยอะมาก”
อยากให้คนรุ่นใหม่ เชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาสนใจข้าวท้องถิ่น ข้าวพื้นบ้าน และเทศกาลข้าวใหม่ที่จะจัดขึ้นนี้
“จริงๆ แล้ว ข้าวพันธุ์ท้องถิ่น น้ำว่ามันอร่อยหมดเลย การกินของผู้บริโภคก็สำคัญด้วย ทำให้การ ส่งต่อหรือว่าการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิมมันคงอยู่ อยากเชิญชวนว่า 1 ปี มี 12 เดือน ทำไมเรา ไม่ลองกินข้าวพื้นบ้านอีสาน ข้าวพื้นบ้านทางเหนือ ข้าวของของใต้ด้วย ใน 12 เดือน เราไม่ต้องกินแค่หอมมะลิอย่างเดียวก็ได้ เราไม่ได้รู้สึกว่าหอมมะลิเป็นตัวร้ายนะ แต่เรารู้สึกว่าทำไมพวกเรากินข้าวที่มีความหลากหลายน้อยจัง 12 เดือน เราอาจจะกินข้าวซัก 12 สายพันธุ์ก็ได้ ลองดูสิ พันธุ์ข้าวที่มันอร่อยมีตั้งเยอะแยะ”
“น้ำ คิดว่าการรักษาพันธุ์ข้าวให้คงอยู่ หรือรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ มันไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ทั้งคนที่ปลูกเอง ที่เขาทำหน้าที่ต้นทางแล้ว คนที่กินเอง อาจจะอยู่ตรงกลางหรืออยู่ปลายทางก็ได้ เราทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของไทย”
“ข้าวใหม่ เป็นช่วงที่เข้าเพิ่งเก็บเกี่ยวมาใหม่ ๆ มันจะหอมอร่อย เราจะทำพิธีกินข้าวใหม่ ขอบคุณผลผลิต และให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้ชิมข้าวที่หอมอร่อยก่อน และทุกบ้านจะทำอาหารต้อนรับไว้เป็นสำรับ ไปบ้านไหนก็ได้กินข้าวใหม่ของแต่ละบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านปลูกไม่เหมือนกัน เราก็จะได้กินข้าวใหม่ของแต่ล้าน แต่ละพันธุ์ เฉลิมฉลองด้วยกัน”
พบกับ น้ำ กัลยา เชอมื่อ ที่บูธ ‘การเดินทางเมล็ดพันธุ์ (Seeds Journey)’ ชวนเดินทางไปเรียนรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ อาหารท้องถิ่น ชวนเด็ก ๆ ได้ลอง ตำน้ำพริก ตำถั่ว งาต่างๆ ทานกับข้าวใหม่ หรือจะลองกินวัตถุดิบแปลกตาจากพื้นที่ก็ได้
งานเทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์)
วันที่ 23 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 – 16.30 น.
ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี
ขอบคุณผู้สัมภาษณ์ ใหม่ นันทนิตย์ อนุศาสนะนันทน์ เจ้าของเพจ ว่าง space & anything