โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

       จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่มาถึงระลอก 3 ที่อัตราของผู้ติดเชื้อเพิ่มในระดับ 1,000-2,000 กว่าคนในแต่ละวัน จากรายงานผู้ติดเชื้อของกรมควบคุมโรคในวันที่ 11 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1,919 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 452 ราย หายป่วยแล้ว 57,037 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 29,435 ราย (https://covid19.ddc.moph.go.th/) ซึ่งอัตราของผู้ติดเชื้อในแต่ละวันไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ที่สำคัญการติดเชื้อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่ระบาดของคนใกล้ชิดในครอบครัว ทำให้ต้องติดตามและจัดการป้องกันตัวเองเพื่อความปลอดภัยของชีวิต ถึงแม้วิถีดำเนินชีวิตต้องพบปะและใกล้ชิดกับผู้คนจำนวนมาก และไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ได้โดยเฉพาะอาชีพรับจ้าง หาบเร่แผงลอย ค้าขาย พนักงานรับส่งสินค้า ฯลฯ

       เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ยังคงทำหน้าที่ผลิตอาหารให้กับผู้บริโภค นอกจากการป้องกันตัวเองและครอบครัวจากโควิด-19 แล้ว ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการกระจายและจำหน่ายผลผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ออกไปจับจ่ายซื้ออาหารจากตลาด ส่งผลต่อผลผลิตที่ล้นในแปลงเกษตรในขณะที่ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพตามที่ต้องการได้ ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ที่กระจายตัวทั้งในระดับอำเภอและจังหวัดได้มีการปรับตัวตั้งแต่การแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา โดยกำหนดเวลาเปิด-ปิด มีจุดคัดกรอง เว้นระยะห่างของแม่ค้ากับผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภคได้ปรับตัวเข้าไปซื้อผลผลิตจากแปลงของเกษตรกรโดยตรง แต่การซื้อ/ขายก็ตกอยู่ในสภาพขาดความคล่องตัว

สั่งและส่งผลผลิตผ่านเพจหรือกรุ๊ปไลน์

       แต่ที่ได้รับความสนใจและมีการปฏิบัติมากขึ้น คือระบบการส่งผลผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรงมีทั้งการนัดจุดรับและส่งถึงบ้านผู้บริโภค ด้วยการสั่งซื้อผ่านเพจหรือกรุ๊ปไลน์ของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรรวมทั้งเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สำหรับช่องทางซื้อ/ขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เกิดขึ้นนี้ยังอยู่ในวงที่จำกัด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้วยความสัมพันธ์และรู้จักกันเป็นส่วนตัวระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านการซื้อ/ขายผลผลิตจากตลาดนัดเกษตรอินทรีย์มาก่อน ซึ่งผู้บริโภคมีความเชื่อใจและมั่นใจว่าผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัย เนื่องจากตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ที่เกิดขึ้น ได้สร้างความสัมพันธ์และการเกื้อกูลระหว่างแม่ค้ากับผู้บริโภคผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งการผลิต การบริโภคและอื่นๆ ที่มากไปกว่าการซื้อ-ขาย

       การจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบการสั่งซื้อผ่านเพจหรือกรุ๊ฟไลน์นี้เป็นทางเลือกสำคัญในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าได้และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าปลอดภัยที่มีคุณภาพได้ ถึงแม้มีข้อจำกัดระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคเพียงเฉพาะกลุ่ม แต่เกษตรกรหลายกลุ่มเลือกกระจายผลผลิตด้วยช่องทางนี้และกระจายไปในหลายจังหวัด โดยหลักสำคัญที่ต้องปฏิบัติ คือ

  • มีคนรับผิดชอบหลัก ในการจัดทำเพจหรือกรุ๊ปไลน์เพื่อแนะนำกลุ่ม แนะนำผลผลิตและราคา ดูแลรับคำสั่งซื้อ จัดหาและกระจายผลผลิตตามความต้องการของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่จะกำหนดผลผลิตให้กับผู้บริโภคอาทิตย์ละครั้ง
  • นำเสนอผลผลิตให้กับผู้บริโภคผ่านเพจหรือกรุ๊ปไลน์ เพื่อระบุรายการผลผลิตที่มีและราคาที่จำหน่ายในแต่ละสัปดาห์ เนื่องจากในระบบเกษตรอินทรีย์ผลผลิตที่วางจำหน่ายขึ้นอยู่กับฤดูกาลและปริมาณที่กลุ่มเกษตรกรผลิตได้ในแต่ละครั้งที่อาจแตกต่างกัน
  • การสั่งซื้อผลผลิต ผู้บริโภคสามารถเลือกผลผลิตและปริมาณตามความต้องการ ซึ่งได้มีการระบุราคาไว้ให้ โดยมีระยะเวลาให้ผู้บริโภคเลือกสั่งสินค้าจากเพจหรือกรุ๊ปไลน์ไม่เกิน 1 สัปดาห์ รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการส่งผลผลิตให้ผู้บริโภค
  • จัดหาและแพ็คผลผลิตตามคำสั่งซื้อ หลังจากได้รับคำสั่งซื้อจากผู้บริโภคแล้ว จะดำเนินการหาผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ และแพ็คสินค้าซึ่งใช้เวลา 1-2 วันในขั้นตอนนี้จะต้องมีการจัดวางผลผลิตลงกล่องหรือบรรจุลงในถุงขนาดใหญ่ ซึ่งต้องระมัดระวังในการจัดวางเพื่อไม่ให้ผลผลิตกระทบกระเทือนและเสียหายได้
  • จัดส่งผลผลิต ซึ่งสามารถจัดส่งผลผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง หรือจัดส่งผ่านพนักงานรับส่งสินค้า โดยมีการกำหนดวันรับผลผลิตก่อนล่วงหน้า

ข้อคิดเห็นต่อการกระจายผลผลิตเกษตรอินทรีย์สู่มือผู้บริโภค

       ถึงแม้การกระจายผลผลิตปลอดภัยสู่ผู้บริโภคด้วยวิธีการสั่งผ่านเพจหรือกรุ๊ปไลน์เป็นทางเลือกหนึ่งในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แต่ยังเป็นช่องทางที่จำกัดสำหรับผู้บริโภคและผู้ผลิตที่คุ้นเคยรู้จักกันเท่านั้น ดังนั้น องค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ให้สามารถจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเพจหรือกรุ๊ปไลน์เพื่อการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยของผู้บริโภค และการมีรายได้สำหรับกลุ่มเกษตรกร

       ถึงที่สุดแล้ว ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิดหรือวิกฤตต่างๆ “ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์” ควรเป็นคำตอบให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย ภายใต้มาตรการป้องกันที่ปลอดภัย เพราะอาหารปลอดภัยเป็นความต้องการของผู้บริโภคหลายๆ คนโดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิตที่ผู้คนให้ความสนใจ ใส่ใจดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น

บทความแนะนำ