โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 5 งานพันธุกรรมคือความยั่งยืนของชุมชน

“งานประเด็นเมล็ดพันธุ์ที่ทำอยู่ก็เกิดจากสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว เห็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตั้งแต่รุ่นพ่อตั้งแต่อายุ 6 ขวบจนถึงปัจจุบันก็เห็นการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง เรามองเห็นว่าประเด็นเรื่องเมล็ดพันธุ์มีความสำคัญมาก สิ่งที่คิดว่าสำคัญคือเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ สองสิ่งนี้จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเมล็ดพันธุ์ ก็เลยเริ่มทำจริงจังมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นความตั้งใจของเรา” เป็นเสียงของ ปุ้ย (มัทนา อภัยมูล) ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท จ.เชียงใหม่ ที่ร่วมเสวนางานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านและได้ให้มุมมองที่น่าคิดในการขับเคลื่อนเมล็ดพันธุ์ในชุมชน

เริ่มก่อแนวคิดการผลิตเมล็ดพันธุ์

ปุ้ย ถือเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา ที่เข้ามาสืบทอดรุ่นพ่อ (พ่อพัฒน์ อภัยมูล ผู้ร่วมบุกเบิกระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในยุคแรกของภาคเหนือ) และทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนในหลายด้าน ซึ่งได้รวมถึงงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากความชอบและได้คลุกคลีในงานเกษตรกรรมยั่งยืนมาตั้งแต่เด็ก ที่เห็นชัดว่าเรื่องเมล็ดพันธุ์มีความสำคัญมาก ประกอบกับองค์กรที่ทำงานร่วมดัวยนั้น (องค์กรกรีนเนท เป็นองค์กรที่สนับสนุนเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงงานด้านมาตรฐาน) ให้การสนับสนุน การขับเคลื่อนเรื่องเมล็ดพันธุ์อินทรีย์จึงได้เริ่มต้นทำอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยใช้พื้นที่แม่ทาเป็นพื้นที่นำร่องในการผลิตเมล็ดพันธุ์ในขณะนั้น การเริ่มต้นในช่วงแรกเป็นการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อน จากนั้นก็เรียนรู้กับพ่อแม่และคนในชุมชน รวมถึงในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปุ้ยร่วมกับคนในชุมชนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทาได้ขอคำแนะนำจาก ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ อาจารย์สาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการเริ่มต้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิตอย่างไรให้มีคุณภาพมากขึ้น

การจัดการเมล็ดพันธุ์อินทรีย์

การเก็บเมล็ดพันธุ์ในช่วงแรกนั้นเป็นการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนทเป็นหลัก โดยเน้นการผลิตในเชิงวิชาการมากขึ้นเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ สำหรับคนในชุมชนแม่ทานั้นก็มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ตามวิถีอยู่แล้ว แต่จะมาเชื่อมกับศูนย์ในลักษณะการแบ่งปัน/แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ โดยศูนย์เริ่มจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปในปีที่ 3 ของการจัดตั้ง จากนั้นได้ทำงานเชื่อมโยงกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกครั้ง ซึ่งทางชุมชนได้รับการหนุนเสริมองค์ความรู้เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างไรให้มีคุณภาพ คัดเลือกพันธุ์อย่างไร รวมถึงงบประมาณสนับสนุนโรงเรือนให้กับชุมชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ จากองค์ความรู้และการสนับสนุนที่ได้รับนั้น ทางศูนย์ได้มีการพัฒนาและรวบรวมพันธุ์พื้นบ้านให้หลากหลายเพื่อเอื้อการเข้าถึงให้กับคนในชุมชน รวมถึงกลุ่ม องค์กร ผู้บริโภคที่สนใจในงานเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มทั้งปลูกเอง การนำไปจำหน่ายต่อ รวมถึงการเก็บรวบรวมพันธุ์

“หัวใจสำคัญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ คือ ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพมากที่สุดก่อนถึงมือผู้ซื้อ ก่อนขายก็ต้องทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์” เป็นหลักการสำคัญที่ ปุ้ย กล่าวย้ำในการทำงานที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์

ข้อเสนอในการขับเคลื่อนเรื่องการทำงานเมล็ดพันธุ์

1.ต้องให้ความสำคัญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์
2.การเชื่อมโยงเครือข่ายผลิตเมล็ดพันธุ์ ในการแลกเปลี่ยน/แบ่งปัน/จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน
3.การจัดกลุ่มเมล็ดพันธุ์สำหรับพันธุ์ดั้งเดิม และเมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงในการพัฒนาพันธุ์พืชร่วมกัน
4.การวิจัยแบบมีส่วนร่วมในงานพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ้างอิง

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมผัก: ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนเส้นทางอนุรักษ์ คัดพัฒนา และการค้าโดยชุมชน” งานมหกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ

การเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีรักษาความหลากหลายพันธุกรรมพืช ….แต่การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว และการจำกัดสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นปัจจัยทำให้พันธุกรรมพืชลดลง : สุพจน์ หลี่จา