ตอนที่ 8 ครัวเรือนเกษตรไทยในวิกฤติโควิด-19 โดย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้มีการวิจัยและติดตามเรื่องพลวัตรของภาคเกษตรไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการสร้างข้อมูลของภาคเกษตรในระดับครัวเรือน ระดับแปลง และระดับเกษตรกร โดยนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงกัน เช่น ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรซึ่งครอบคลุมครัวเรือนกว่า 90% ทั่วประเทศ ข้อมูลสินเชื่อรายครัวเรือนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ข้อมูลการประกันภัย ข้อมูลการได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ และข้อมูลนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร
จากสถานการณ์วิกฤติโควิดในครั้งนี้ได้มีการตั้งประเด็นคำถามว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างไรบ้าง ซึ่งหลายส่วนมักมองว่าภาคเกษตรจะเป็นหลักพิงให้กับภาคส่วนอื่นได้ดังเช่นวิกฤติต้มยำกุ้งที่ภาคเกษตรเป็นที่รองรับจากการตกงาน จากคำถามดังกล่าวทางสถาบันได้มีการศึกษาเจาะลึกถึงเรื่องนี้ โดยทำการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เนื่องจากไม่สามารถไปพื้นที่ได้จำนวน 720 ครัวเรือนเมื่อช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทำการสุ่มจากข้อมูลเกษตรกรที่ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนกว่า 6.5 ล้านครัวเรือน ที่ครอบคลุม 45 ตำบลทั่วไปประเทศ ซึ่งการสุ่มสัมภาษณ์เกษตรกรได้พยายามสร้างความหลากหลายให้กับกลุ่มตัวอย่าง ทั้งกลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส., กลุ่มที่ไม่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส., กลุ่มเกษตรกรที่มีดินขนาดเล็ก/กลาง/ใหญ่ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สินน้อย/หนี้มาก เป็นต้น โดยแบ่งการสุ่มเป็นแบบ 50:50 ซึ่งเป็นครัวเรือนเกษตรกรที่อยู่ในและนอกเขตชลประทาน
ผลกระทบโควิด: มิติด้านเศรษฐกิจ
มิติด้านเศรษฐกิจก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด จะเห็นได้ว่ารายได้มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงในครัวเรือนเกษตรกรด้วยกันเอง โดยมีรายได้เฉลี่ย 60,000 กว่าบาท/ครัวเรือน/ปี โดย 27% ของครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้น้อยกว่า 12,500 บาทซึ่งถือว่าต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ในระดับ 2.5 ดอลลาร์/วัน ซึ่งถือว่าเป็นครัวเรือนยากจนได้ นอกจากนั้น พบว่า 10% ของครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้ติดลบ ซึ่งก็ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงอยู่แต่เดิม ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิดขึ้น โดยเกษตรกรมีสัดส่วนการพึ่งพิงรายได้นอกภาคการเกษตรสูงถึง 80% และ 40% ที่พึ่งพิงเงินโอนจากญาติที่อยู่ต่างจังหวัด
ผลกระทบที่สำคัญที่สุดจากวิกฤติในครั้งนี้ คือ การลดลงของรายได้นอกภาคการเกษตร รองลงมาคือการลดลงของรายได้ในภาคการเกษตร สิ่งที่น่าสนใจคือ 75% ของแรงงานในครัวเรือนเกษตรกรที่ตกงานหรือลดเวลาการทำงานลง พบว่า เป็นแรงงานจากภาคเหนือและภาคใต้สูงถึง 90% โดยเฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งมีคนตกงานประมาณ 1.5 คน/ครัวเรือนที่ส่วนใหญ่เป็นงานในภาคงานบริการและภาคการก่อสร้างเป็นหลัก ถามว่า “ครัวเรือนเกษตรกรไทยได้รับผลกระทบของโควิด-19 อย่างไร?” ตอบคือได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น โดยผ่านใน 2 ช่องทางหลัก คือ 1) 45% ของครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้จากการทำเกษตรลดลง
เนื่องจากครัวเรือนเกษตรกรถือเป็นต้นน้ำให้กับสายห่วงโซ่อุปทานที่ค่อนข้างยาว และเจอปัญหาโลจิสติกส์ รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคและตลาดจึงทำให้การจำหน่ายสินค้าเกษตรทำได้ค่อนข้างยาก 2) 52% ของครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้จากการทำงานนอกภาคการเกษตรลดลง ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่สูงกว่า 70% และรายได้นอกภาคการเกษตรนี้ส่วนใหญ่เป็นงานที่เปราะบางต่อวิกฤติโควิดในครั้งนี้ จึงส่งผลให้รายได้นอกภาคการเกษตรลดลงเป็นอย่างมาก
และสิ่งที่สำคัญจากผลการวิจัย คือ การกระทบต่อครัวเรือนที่เกิดขึ้นนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละครัวเรือน นอกจากนั้นยังพบว่าครัวเรือนเกษตรกรรายเล็ก ยากจน มีหนี้สินมาก และอยู่นอกเขตชลประทานถือว่าเป็นครัวเรือนที่เปราะบางนั้นได้รับผลกระทบและการรับมือเป็นอย่างมาก ที่ช่องทางการรับมือนั้นอาจส่งผลกระทบในระยะยาวด้วย เช่น เกษตรกรต้องไปกู้หนี้ยืมสิน