ตอนที่ 7 ข้าวคือชีวิต…เป็นแบบแผนการดำรงชีพของชาติพันธุ์
สุพจน์ หลี่จา หรือ จะแฮ นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ เป็นชาวลีซู ทำงานส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จึงได้เห็นทั้งปัญหาและความดีงามของชุมชนในทุกๆ ด้าน หากแต่ให้มองเรื่องข้าวแล้วนั้น จะแฮกล่าวว่า “ข้าวเป็นวิถีชีวิต เป็นแบบแผนการดำรงชีพของชาติพันธุ์โดยแท้จริง” ด้วยความเชื่อและประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ต่อการปฏิบัติในการปลูกข้าว เช่น ต้องเก็บข้าวไว้ในยุ้งให้ได้ 30 กระบุงตลอดเวลาเพื่อเป็นหลักประกันว่ามีข้าวกิน และ ความสุขของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ก็คือ การมีข้าวเต็มยุ้ง เห็นลูกหลานอยู่ร่วมกันในชุมชน
ชาวลีซูและชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ มีข้อปฏิบัติความเชื่อเกี่ยวกับข้าวด้วยพิธีรับขวัญข้าว เริ่มตั้งแต่การปลูก ข้าวเริ่มงอก ก่อนเก็บเกี่ยว และเอาข้าวขึ้นยุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการเก็บเกี่ยวของแต่ละปี จะมีประเพณีที่เรียกว่า “กินข้าวใหม่” ซึ่งได้สืบทอดกันมา เป็นการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีของคนในชุมชน และขอบคุณเทวดาฟ้าดิน ขอบคุณธรรมชาติ เป็นการแสดงความเคารพและกตัญญูบรรพบุรุษที่ได้มอบความสมบูรณ์ด้านอาหาร เพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นอาหารที่ปลอดภัย มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ข้าวในวิถีชาติพันธุ์
การทำนาปลูกข้าวของชุมชนชาติพันธุ์นั้นมีหลายรูปแบบขึ้นกับสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันไป พื้นที่ลุ่มหุบเขาสามารถจัดการน้ำได้ก็ใช้ทำนาลุ่ม พื้นที่บนดอยมีความลาดชันใช้ทำไร่ข้าวซึ่งพื้นที่นี่เองมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไร่ข้าวมีพืชอาหารหลากหลายชนิดที่มากกว่าข้าว อย่างไรก็ตาม ชุมชนชาติพันธุ์มีความเชื่อเกี่ยวกับการเคารพธรรมชาติ ดังนั้นในการทำนาปลูกข้าว จะมีพิธีเลี้ยงผีไร่ผีนา เพื่อขอพรและขอขมาลาโทษธรรมชาติที่ได้ใช้และล่วงเกิน ไม่ว่าการเผาไร่ ที่ทำให้เกิดความรุ่มร้อนและขอให้กลับมาสงบเย็นดังเดิม รวมทั้งการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากไร่นา และเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวก็มีการลงแขกช่วยกันในชุมชน เกี่ยวข้าวเสร็จก็มีพิธีเฉลิมฉลองทั้งเอาข้าวเข้ายุ้งและพิธีกินข้าวใหม่ พิธีกรรมที่เกิดขึ้นได้สะท้อนแนวคิดการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ การเชื่อมร้อยผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น ในไร่ข้าวนั้น พบว่าชุมชนชาติพันธุ์ได้มีการปลูกพืชทั้งกินหัว กินใบ กินดอก รวมไปถึงพืชอาหารที่เติบโตตามธรรมชาติและสมุนไพร ร่วมกันไปมีมากกว่า 100 ชนิด
- การพัฒนาประเทศที่เน้นการค้า ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยมีทุนขนาดใหญ่จากภายนอกอาศัยกลไกต่างๆ เข้ามา จนทำให้ชุมชนไม่สามารถทำการเกษตรอย่างที่เคยทำมาได้ คนในชุมชนชาติพันธุ์เหมือนเป็นผู้ถูกกระทำและไม่มีทางเลือก
- สิทธิการเข้าถึงที่ดิน ถึงแม้ชุมชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่แล้วได้ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์พื้นที่ทำกิน ก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่เป็นเขตป่าต้นน้ำ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ ส่งผลให้ชุมชนไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน เมื่อรัฐใช้นโยบายหรือกฎหมายมาควบคุม
ตัวอย่างสองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง พื้นที่ปลูกข้าวลดลง ความหลากหลายของพันธุกรรมลดหายไป จากวิถีเดิมที่ชุมชนเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่ปลูกเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่มีหลากหลายลักษณะไม่ว่า พื้นที่หุบเขา ลุ่มน้ำ พื้นที่ยอดดอยที่มีอากาศเย็น รวมไปถึงการผสมผสานพืชอาหารร่วมไปกับการปลูกข้าว ได้ถูกปรับให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียว สิ่งที่น่าเป็นห่วงและกังวล คือการใช้สารเคมีทางเกษตรในปริมาณที่มากขึ้น อันเป็นตัวทำลายความหลากหลายของพืชอาหารของชุมชน
การรักษาความหลากหลายพันธุกรรม
หากต้องการสร้างและรักษาความหลากหลายพันธุกรรมทั้งข้าวและพืชอาหารในชุมชนชาติพันธุ์ไว้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประสานความร่วมมือจากภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้งคนในชุมชนชาติพันธุ์เอง ที่ต้องตื่นตัวและตระหนักเห็นความสำคัญของความหลากหลายพันธุกรรมข้าวและพืชอาหาร โดย
- ต้องสร้างและศึกษารวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาเดิมของชาติพันธุ์ที่เคยมี แล้วนำมาบูรณการเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้เกิดการซึมซับคุณค่าความหลากหลายพันธุกรรมข้าวพืชอาหาร
- ต้องสร้างการยอมรับในอาชีพเกษตรกรให้กับคนรุ่นใหม่ สร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง ลบล้างความคิดที่ว่า เรียนแล้วต้องมาเป็นเจ้าคนนายคน แต่ต้องสร้างให้เกิดสังคมเกษตรกรคนรุ่นใหม่
- ต้องสร้างความเข้าใจให้ชุมชนได้ตระหนักสิทธิการเข้าถึงที่ดิน การใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากร การทำเกษตรที่เชื่อมร้อยคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม ปลูกข้าวที่ได้มากกว่าข้าวแต่ได้ความรัก ความเอื้ออาทรกันและกัน
อ้างอิง เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมข้าว ความหลากหลายที่ท้าทายสถานการณ์ปัจจุบัน” งานมหกรรมพื้นบ้าน ปี 2563