ตอนที่ 20 มาตรการช่วยเหลือเยียวยา : รัฐต้องเข้าใจภาพชีวิตเกษตรกร
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันเกษตรกรไม่สามารถอยู่รอดได้เพียงภาคเกษตรกรรมเท่านั้น แต่มีรายได้นอกภาคเกษตรมาเสริม จากการสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมของโควิด 19 ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน พบว่าจำนวน 62% ของครัวเรือนเกษตรกรได้เข้าไปสู่ภาคขายแรงงาน และเมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ทำให้ถูกเลิกจ้างราว 20% ส่งผลให้รายได้สำหรับส่งกลับบ้านลดลง อย่างไรก็ตามผลพวงจากมาตรการปิดเมืองของรัฐบาลนั่น แรงงานเหล่านี้มีการกลับบ้านเพียง 4.1% เท่านั้น ทั้งนี้เพราะการกลับบ้านจะถูกตำหนิติเตียนรังเกียจว่าจะเอาเชื้อโรคกลับไปติดคนในหมู่บ้านด้วย
นอกจากรายได้จากแรงงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง และเป็นข้อจำกัดในการส่งเงินกลับบ้านแล้ว การปิดเมือง ปิดตลาดนัดในวิกฤตโควิด ผลผลิตไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ แต่ยังมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องมากกว่าสถานการณ์โควิด เช่น ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลง ราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำลง เหล่านี้ได้ตอกย้ำให้รายได้ของครอบครัวเกษตรกรลดลงไปอีก
ข้อเสนอการปรับตัวภาคเกษตรกรรม
ประภาสได้กล่าวว่า ในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เกษตรกรได้มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในทุกครั้ง ต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด เกษตรกรได้มีการปรับตัว เช่น การแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างกัน การปรับตัวด้านการตลาดโดยนำผลผลิตมาขายหน้าบ้าน ที่สำคัญจะเห็นได้ว่าหากชุมชนใดมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายสมบูรณ์ ชุมชนนั้นๆ สามารถพึ่งพาอาหารจากแหล่งทรัพยากรและได้รับผลกระทบน้อย และในระยะต่อไปทางด้านจัดการตลาดนั้น ชุมชนเกษตรต้องคิดหาระบบการจัดการตลาดที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่ว่า ตลาดในระดับชุมชน ตลาดหน้าบ้าน รถพุ่มพวง และชุมชนต้องมีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในระดับชุมชน เพื่อสร้างแหล่งอาหารจากธรรมชาติของชุมชนเอง
ข้อเสนอต่อนโยบายรัฐ
ประเด็นที่สำคัญสุดคือ มาตรการช่วยเหลือของรัฐไม่ควรทำแบบรีบเร่ง รัฐต้องใช้เวลาในการพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุดตามความต้องการของชุมชนเกษตรกร และต้องอาศัยการทบทวนบทเรียนประสบการณ์การเยียวยาที่ผ่านมา ว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อภาคเกษตร ได้ทำให้ชีวิตครอบครัวเกษตรกรดีขึ้นหรือไม่ อย่างกรณี การแก้ปัญหาเยียวยาให้หนึ่งสิทธิต่อครอบครัว 5,000 บาทนั้น เห็นได้ว่าไม่ครอบคลุม หรือกรณีโครงการนาแปลงใหญ่หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขุดลอกคูน้ำ ซึ่งท้ายสุดชีวิตเกษตรกรไม่ได้ดีขึ้น
รัฐต้องทำความเข้าใจภาพวิถีชีวิตของเกษตรกรในแต่ละครัวเรือนที่อยู่รอดได้อย่างแท้จริง เพื่อหาทางออกให้ตรงกับปัญหาที่เกิดในแต่ละครอบครัว และควรมีการแก้ปัญหาอย่างเท่าเทียม คือกระจายการเยียวยาให้ทุกครอบครัวอย่างถ้วนหน้า มีระบบสวัสดิการให้แก่เกษตรอย่างทั่วถึง ที่สำคัญรัฐควรต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น และต้องมีกลไกติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 : เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมและเกษตรกรรทไทย” มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 วันที่ 10 มิถุนายน 2563