โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 19 ดร.เดชรัต สุขกำเนิด : หลังโควิด 19 ได้นำไปสู่การคิดและวางแผนในมุมมองใหม่ๆ

       ดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนา “โลกหลังโควิด 19 : เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย” ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ไว้ว่า “การระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่มุมมองและคำถามใหม่ๆ ของทุกภาคส่วน ที่จะต้องปรับตัวในการดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร ซึ่งต้องมีการคิดวิเคราะห์และวางแผนที่ซับซ้อนกว่าเดิมมากขึ้น”

       สำหรับภาคเกษตรกรรมนั้น ไม่สามารถทำการผลิตแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการปลูกพืชเพียงชนิดใด ชนิดหนึ่ง แล้วฝากความหวังอนาคตไว้กับพืชนั้นๆ ซึ่งมีบทเรียนแล้วว่าไม่สำเร็จและไปไม่รอด เพราะต้องเผชิญทั้งผลกระทบราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม ฝนแล้งทำความเสียหายแก่ผลผลิต หรือแม้กระทั่งโรคระบาดโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเกษตรกรเองมักคาดหวังว่า ครั้งนี้ไม่ได้ผลแต่ครั้งหน้าอาจจะดี แล้วก็ยังคงทำการผลิตแบบเชิงเดี่ยวต่อไป ซึ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นคราวเคราะห์อย่างที่คิดกัน แต่เกษตรกรต้องคิดวิเคราะห์ใหม่

       ดังนั้นทางออกภาคเกษตร ต้องมีการวางแผนการผลิตใหม่ที่ไม่ใช่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ต้องปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายชนิด ต้องวางแผนการจัดการผลผลิต การจัดการตลาด เกษตรกรต้องหาแหล่งจำหน่ายผลผลิต ว่าจะนำไปขายที่ไหน และต้องมีการกระจายผลผลิตในหลายรูปแบบ เช่น วางขายที่โรงพยาบาล ร้านค้าปลีก ออนไลน์ เป็นต้น

ผลกระทบโควิดที่เกิดขึ้น นำไปสู่คำถามใหม่ๆ

       สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 จึงนำไปสู่มุมมองคำถามใหม่ๆ ในขณะที่เกษตรกรต้องตั้งคำถามและวางแผนใหม่เพื่อให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอด  ภาครัฐเองต้องมีการวางแผนใหม่ๆ ต้องวิเคราะห์และทบทวนต่อโครงการสำหรับเยียวยาเกษตรกรที่ผ่านมาก่อนที่จะเริ่มโครงการใหม่ ว่าได้ส่งผลต่อเกษตรกรอย่างไร ? อย่างกรณีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมด้วยงบประมาณเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากไปดูโครงการที่นำเสนอแล้วส่วนใหญ่เป็นโครงการแบบเดิมๆ เช่น การก่อสร้างทำถนน ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลหรือเยียวยาชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น

       ดังนั้น ท่ามกลางการตั้งคำถามและการมีโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้นของภาคเกษตร ไม่ว่าปัญหาความเปราะบางทางการเมืองที่เป็นอยู่ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโรคระบาดโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีความซับซ้อน บทบาทและหน้าที่ทั้งเกษตรกรและรัฐ ต้องมีการวิเคราะห์และวางแผนการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมมากขึ้น เช่น

  • ด้านการตลาด ในวิกฤตโควิดได้เกิดระบบการตลาดแบบใหม่ๆ ขึ้น เช่น ตลาดออนไลน์ แต่ระบบดังกล่าว ไม่สามารถกระจายตัวอย่างทั่วถึง และระบบดังกล่าวมีความไม่เท่าเทียม เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงระบบดังกล่าว เกษตรกรไม่สามารถใช้อินเตอร์เนทหรือระบบอินเตอร์เนทไม่ได้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ชนบท ดังนั้นทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดในระบบออนไลน์ รวมถึงตลาดในระบบอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น
  • ระบบสวัสดิการอย่างทั่วถึง ถึงแม้รัฐมีความพยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่หลายครั้งไม่ครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมด รัฐควรมีระบบสวัสดิการให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน เช่น ระบบการประกันสังคม
  • การกระจายอำนาจให้เกษตรกร นโยบาตรหรือโครงการต่างๆ ที่เป็นการช่วยเหลือเยียวยาให้กับเกษตรกรนั้น รัฐควรให้เกษตรกรหรือองค์กรในระดับท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ วางแผนการจัดการร่วมกัน

    สรุป สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำใหสังคมไทยต้องคิดวิเคราะห์และวางแผนในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่นเดียวกันกับภาคเกษตรกรรมที่ต้องคิดวิเคราะห์ทั้งการผลิต การตลาด การจัดการทุน มากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมระบบสวัสดิการอย่างทั่วหน้าเท่าเทียมให้กับเกษตรกร สนับสนุนการกระจายอำนายให้เกษตรกรหรือองค์กรระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ไม่ละเลยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ต้องบูรณการกับความรู้ใหม่ การมีสิทธิในปัจจัยการผลิตทั้งที่ดิน เมล็ดพันธุ์ รวมถึงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 : เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมและเกษตรกรรทไทย” มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 วันที่ 10 มิถุนายน 2563

บทความแนะนำ