โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 21 การเยียวยาภาคเกษตรกรรมต้องนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร

ครอบครัวเป็นทั้งเรือนกาย เรือนใจในยามชีวิตมีปัญหา

         “หากเปรียบครอบครัวในชนบทแล้ว…ครอบครัวเป็นทั้งเรือนกาย เรือนใจของผู้คน และเมื่อชีวิตประสบปัญหาก็จะคิดถึงบ้าน และต้องกลับบ้าน” อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน ได้เกริ่นในเวทีเสวนา “โลกหลังโควิด-19 : เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563

         เช่นเดียวกันช่วงเกิดการระบาดของโควิด 19 หลายคนที่ไปขายแรงงานในกรุงเทพฯ ก็ได้กลับมาอยู่บ้าน ไม่ว่าคนขับแท็กชี่ คนหาซื้อของเก่า พนักงานบริการในร้านอาหาร สถานที่บันเทิง และเมื่อมีการประกาศปลดล๊อค อย่างคนขับแท็กซี่ก็กลับเข้ากรุงเทพ แต่ปรากฏว่ากลับไปได้เพียง 2 อาทิตย์ ก็ต้องกลับไปที่บ้านในชนบทอีก เนื่องจากไม่สามารถมีรายได้เพียงพอ แต่สำหรับคนที่ทำงานภาคบริการยังคงต้องอาศัยที่บ้านเพราะร้านอาหารผับบาร์ยังไม่มีการเปิด กลุ่มคนที่ขายแรงงานเหล่านี้ ไม่มีเงินออม เมื่อไม่มีรายได้ทางออกก็คือการกลับบ้าน และเริ่มกู้ยืมเงินพี่น้องเพื่อมาใช้จ่าย นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด

         ถึงแม้ในบางชุมชนของภาคเกษตรกรรมมีความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่ชุมชนได้พึ่งพาอาหาร ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่มีปัญหาเรื่องอยู่ เรื่องกิน แต่มีปัญหาด้านรายได้เนื่องจากผลผลิตภาคเกษตรไม่สามารถส่งขายได้ หรือแม้แต่ชุมชนที่อาศัยฐานทรัพยากรทำมาหากิน อย่างเช่น  ชาวประมงที่หาปลาในแม่น้ำถึงแม้จับปลามาได้ แต่ไม่มีพ่อค้ามาซื้อเพื่อส่งต่อร้านอาหารที่มีมาตรการสั่งปิดร้านอาหารไป ชุมชนเหล่านี้ ต้องปรับตัวมาคิดเรื่องการแปรรูป นี่ก็เป็นผลกระทบในภาคชนบท

รัฐกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยา

         เมื่อมีวิกฤตหรือสถานการณ์ต่างๆ ในส่วนของรัฐได้ผลักดันโครงการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา เช่นเดียวกัน ในสถานการณ์การระบาดโควิด 91 ครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมทุกภาคส่วน ผนวกกับภาวการณ์ตกต่ำทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รัฐจึงตัดสินใจกู้เงินจำนวน 400,000 ล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูระบบเศษฐกิจและสังคม แต่เมื่อมีโครงการขึ้นมาก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและภาคประชาชนต่อกระบวนการอนุมัติและแผนกิจกรรมในการใช้เงินจำนวนดังกล่าว ที่อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง อุบล ได้กล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดในทุกครั้งที่ผ่านมา คือรัฐไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้ตรงจุด เนื่องจากรัฐไม่ได้มีกระบวนการทำงานที่ลงลึก เข้าถึงรายละเอียดบริบทปัญหาของครอบครัวเกษตรกรอย่างแท้จริง”  

ข้อเสนอต่อมาตรการเยียวยา

         อุบล จึงมีข้อเสนอต่อรัฐ ในประเด็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อภาคเกษตรกรรม ดังนี้

         -หน่วยงานรัฐต้องมีการศึกษาข้อมูลบริบทของครอบครัวเกษตรกรลงลึกในแต่ละครัวเรือน เช่น ต้องศึกษาถึงศักยภาพของครอบครัวเกษตรกร ปัญหาและภาระที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ ความต้องการในการแก้ปัญหา ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ครอบครัวเกษตรกรแต่ละครอบครัวเผชิญปัญหาและมีศักยภาพในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานรัฐต้องแยกแยะในการแก้ปัญหา

         -รัฐส่วนกลางต้องสร้างกลไกความร่วมมือการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ โดยมีองค์กร/หน่วยงานในท้องถิ่น วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรภาคประชาชน กลุ่มหรือเครือข่ายเกษตรกร ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

         -นโยบายในการเยียวยา ต้องสนับสนุนและสามารถเข้าไปดูแลเกษตรกร รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ให้มีระบบการผลิตที่เชื่อมโยงการบริโภค มีการผลิตที่หลากหลายชนิดทั้งพืชและสัตว์ เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม สนับสนุนการกระจายผลผลิตทั้งตลาดสีเขียวในระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด เชื่อมโยงกับผู้บริโภค และสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ชุมชนมีรายได้

         ดังนั้น การสนับสนุนเยียวยาภาคเกษตรกรรมนั้น เป้าหมายคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครอบครัวเกษตรกร ซึ่งในปัจจุบันภาคเกษตรถูกควบคุมด้วยระบบการผูกขาดที่มาจากบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรที่รุกคืบเข้าไปจัดการตั้งแต่ปัจจัยการผลิตและผลผลิต รวมถึงการควบคุมการบริโภคของคนไทย

ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 : เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมและเกษตรกรรทไทย” มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 วันที่ 10 มิถุนายน 2563

บทความแนะนำ