โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน (Community Seed Bank) เป็นหนึ่งในชื่อเรียกรูปธรรมของการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านโดยชุมชน ซึ่งยังมีคำเรียกอื่นๆ เช่น ธนาคารพันธุกรรมชุมชน กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน

กิจกรรมการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านโดยชุมชนมีการริเริ่มมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้ และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านให้ยืนยาวต่อไปในอนาคต

ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนส่วนใหญ่จะมีสถานที่จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ร่วมกัน ซึ่งบริหารจัดการโดยคนในชุมชน นอกจากนี้ในชุมชนหลายแห่งยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการผ่านการจัดงานแสดงเมล็ดพันธุ์หรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์แบบมีส่วนร่วม โดยมีหลักคิดที่ว่า “ยิ่งมีเมล็ดพันธุ์หมุนเวียนมากเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น”

แม้ยากจะระบุแหล่งที่มาของธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน แต่ส่วนใหญ่แล้ว องค์กรพัฒนาเอกชนถือว่ามีบทบาทสำคัญ และยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ เพียงแต่ในระยะหลังมานี้ หน่วยงานของรัฐในระดับชาติหรือระดับรัฐในหลายประเทศได้เริ่มให้ความสนใจเรื่องการจัดตั้งและสนับสนุนธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การอนุรักษ์ในไร่นาของเกษตรกร

ประเทศเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ภูฏาน โบลิเวีย บราซิล แอฟริกาใต้ และประเทศในแถบเมโสอเมริกา

โดยทั่วไป ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่สมาชิกร่วมกันกำหนด ทั้งนี้ ธนาคารอาจดำเนินงานด้าน (1) การสร้างความตระหนักและให้ความรู้ (2) การบันทึกข้อมูลและความรู้แบบดั้งเดิม/ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (3) การรวบรวม การผลิต การจัดจำหน่าย และการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ (4) การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ (5) การส่งเสริมการเกษตรเชิงนิเวศ (6) การทดลองปรับปรุงพันธุ์พืชแบบมีส่วนร่วม (7) กิจกรรมสร้างรายได้สำหรับสมาชิก (8) การสร้างเครือข่ายและการขับเคลื่อนทางนโยบาย และ (9) การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้วสามารถแบ่งธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนออกตามวัตถุประสงค์ด้านบทบาทได้กว้างๆ ดังนี้

1) บทบาทที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์/เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่นเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน เพื่อหยุดยั้งการสูญหายของพันธุ์พืชท้องถิ่นและสร้างความหลากหลายของพืชท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยทำผ่านการฟื้นฟูพันธุ์พืชในชุมชน สำหรับปัจจัยที่ทำให้พันธุ์พืชท้องถิ่นสูญหายนั้นมีหลายประการ เช่น การแทนที่พันธุ์พืชท้องถิ่นด้วยพันธุ์พืชสมัยใหม่/พันธุ์ลูกผสม ภัยธรรมชาติ (ภัยแล้งที่ยาวนานหรือน้ำท่วมที่รุนแรง) การขาดความตระหนักรู้ในชุมชนเกี่ยวกับมูลค่าปัจจุบันและอนาคตของพันธุ์พืชท้องถิ่น

2) บทบาทการอนุรักษ์/เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคู่กับการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนส่วนใหญ่ทำหน้าที่ทั้งการอนุรักษ์/เก็บรักษาและการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ โดยการจัดการของธนาคารนั้นครอบคลุมตั้งแต่การการผลิตเมล็ดพันธุ์ การจัดเก็บ การทำความสะอาด การคัดเกรด การบรรจุ การจัดจำหน่าย และการกระจายเมล็ดพันธุ์ ในหลายประเทศพบว่า ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนเป็นแหล่งสำคัญที่รวบรวมเอาพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายไว้ ซึ่งช่วยรับประกันว่าเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ได้ผ่านการขาย การยืม หรือการให้ฟรี

3) บทบาทการอนุรักษ์/เก็บรักษาและการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ ที่เชื่อมโยงในเรื่องอธิปไตยทางอาหาร ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนบางแห่งทำหน้าที่มากกว่าการอนุรักษ์/เก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตรและการทำให้คนในชุมชนเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ กล่าวคือ สมาชิกของธนาคารเมล็ดพันธุ์มีการทำงานอย่างต่อเนื่องในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในศักยภาพของชุมชน การส่งเสริมการเกษตรเชิงนิเวศ การปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างมีส่วนร่วม การสร้างความตระหนักต่อเรื่องสิทธิของเกษตรกรในเรื่องเมล็ดพันธุ์ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน อีกด้วย

สำหรับจำนวนพันธุ์ท้องถิ่นที่เก็บรวบรวมและอนุรักษ์ไว้ในธนาคารเมล็ดพันธุ์แต่ละแห่งของชุมชนนั้นก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ จำนวนพันธุ์พืชที่ปลูกในท้องถิ่นและความพร้อมของสายพันธุ์ ความสามารถด้านบุคลากรและเทคนิค ทรัพยากรและกลยุทธ์ที่เลือกใช้ในการค้นหาและเก็บรวบรวมในชุมชน/พื้นที่ใกล้เคียง ระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณค่าของทรัพยากรพันธุกรรมในท้องถิ่น และลักษณะของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

ในการดำเนินงานของธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนนั้น ชุมชนบางแห่งอาจให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตรและการฟื้นฟูพันธุ์พื้นเมืองที่สูญหายไป ในขณะที่ชุมชนบางแห่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ การเข้าถึง การมีเมล็ดพันธุ์และวัสดุในการเพาะปลูกที่เหมาะสมในพื้นที่เกษตรแต่ละนิเวศ

แต่การดำเนินงานของธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนสามารถยกระดับไปจนถึงการส่งเสริมเสรีภาพด้านเมล็ดพันธุ์และอธิปไตยทางอาหาร เพราะการมีอิสระหรือพึ่งตัวเองได้ในด้านเมล็ดพันธุ์ย่อมจะเป็นเสมือนอิฐก้อนแรกในกระบวนการผลิตอาหารนั่นเอง

แหล่งที่มาข้อมูล
https://www.researchgate.net/publication/295251951_Community_Seed_Banks_Origins_Evolution_and_
PropspectsenrichId=rgreqf1cadcf1f1b96469a1e39ff867d9c76fXXX&enrichSource=
Y292ZXJQYWdlOzI5NTI1MTk1MTtBUzozMzEyMDMyNzUxODIxMTNAMTQ1NTk3NjQyMjgwNQ%
3D%3D&el=1_x_3&_esc=publicationCoverPdf


บทความแนะนำ