ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus racemosa L.
วงศ์ : MORACEAE
ชื่อสามัญ : –
ชื่ออื่น : เดื่อเกลี้ยง, เดื่อน้ำ, มะเดื่อ, มะเดื่อชุมพร ,มะเดื่อทุมพร
ถิ่นกำเนิด :
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเดื่ออุทุมพร ครอบคลุมเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดียถึงประเทศจีนชื่อมะเดื่ออุทุมพรสันนิษฐานว่ามาจากการรวมชื่อมะเดื่อกับชื่อในภาษาสันสกฤต คือ Udumbar ตำนานของชาวฮินดูเชื่อว่ามะเดื่อเป็นไม้มงคล และเป็นที่นับถือของคนไทย พม่า และมอญมาแต่โบราณ ได้มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ว่า มีการนำไม้มะเดื่ออุทุมพรมาทำเป็นพระที่นั่งกระบวยตักน้ำมันเจิมถวาย และหม้อน้ำที่กษัตริย์ใช้ถวายน้ำในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ในไทยพบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา มักขึ้นตามริมลำธารที่ระดับความสูง ๑,๐๐๐-๑,๒๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มะเดื่ออุทุมพร ในภาคกลางเรียกมะเดื่ออุทุมพร ภาคใต้เรียกเดื่อน้ำ ภาคเหนือ(ลำปาง) เรียก มะเดื่อ ภาษาอังกฤษเรียก Cluster Fig ซึ่งถือเป็นพันธุ์ไม้เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดชุมพร
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น : มะเดื่ออุทุมพร เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๐ เมตร ทรงพุ่มกว้าง
ใบ : ใบหนาทึบ ใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนปกคลุม ก้านใบยาว ๕ เซนติเมตร หูใบรูปหอกยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร
ดอก : ดอกเป็นช่อกลมมีลักษณะคล้ายผล ชาวบ้านมักเรียกช่อดอกนี้ว่าผลหรือ ลูกมะเดื่อ ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามลำต้นและกิ่งแก่ ช่อดอกอ่อนสีเขียวเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม มีขนอ่อนปกคลุม เส้นผ่าศูนย์กลางช่อดอกประมาณ ๔ เซนติเมตร เกสรตัวผู้อยู่บริเวณรอบช่องเปิด เกสรตัวเมียอยู่ภายในโพรงช่อดอก ผลมีขนาดเล็ก เมล็ดขนาดเล็กยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร
เมล็ด : เมล็ดแข็ง สีเหลือง
การขยายพันธุ์ :
เพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
การใช้ประโยชน์ :
– ด้านการนำมาประกอบอาหาร ส่วนที่นำมากินเป็นผัก คือ ช่อดอก (หรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ) โดยใช้ช่อดอกอ่อนหรือดิบเป็นผักจิ้มหรือใช้แกง เช่น แกงส้ม
– ด้านทางยาของมะเดื่อทุมพร ในอินเดียเชื่อว่าในทุกส่วนของมะเดื่อมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
– ราก ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไข้ออกตุ่ม แก้ไข้ที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต แก้ร้อน นอกจากนั้นยังใช้ฝนทารักษาเริมและงูสวัด และ ใช้กระทุ้งพิษไข้ กล่อมเสมหะและเลือด แก้ไข้หวัด ไข้กาฬ และไข้พิษทุกชนิด
– เปลือกต้น ใช้แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ประดงเม็ดผื่นคัน และชะล้างบาดแผล ห้ามเลือด แก้อาเจียน และใช้ต้มข้าวน้ำชะล้างแผลรักษาแผลเรื้อรัง ใช้อมบ้วนปาก แก้เหงือกบวม
– ยาง ยางของมะเดื่อยังช่วยรักษาอาการปวดแสบปวดร้อนจากเริมหรืองูสวัด
– ด้านอื่นๆ ของมะเดื่ออุทุมพร
– เนื้อไม้ ใช้ทำแอกไถ หีบใส่ของ ไม้จิ้มฟัน
– ยางเหนียว ใช้ลงพื้นสำหรับปิดทอง
– ต้น ใช้เป็นร่มเงาให้กาแฟ ปลูกในบริเวณอาคารอาศัยร่มเงา หรือใช้ประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะหรือทางเดินเท้า
– ผลสุก เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด เช่น นก หนู กระรอก ฯลฯ เป็นการแพร่พันธุ์มะเดื่ออุทุมพรไปด้วย เพราะนอกจากจะทำให้แพร่พันธุ์ไปได้ไกลๆแล้ว ยังช่วยให้ เมล็ดมะเดื่องอกดีขึ้นอีกด้วย เพราะน้ำย่อยในกระเพาะและลำไส้ของสัตว์ เหล่านี้
ที่มา : https://www.doctor.or.th/
http://thefigsgarden.blogspot.com/
https://www.bloggang.com/