ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias pinnata (L.f.) Kurz
ชื่อวงศ์ AMACARDIACEAE
ชื่อสามัญ Hog plum, Wild Mango
ชื่ออื่น กอก กอกเขา กูก มะกอก
ถิ่นกำเนิด :
มะกอกป่า มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น ที่ระดับประมาณ 50–500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ใบมะกอก เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว แบบปลายใบคี่ มีก้านใบหลักออกเรียงเวียนสลับกัน ก้านใบหลักยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร มีใบย่อยที่เรียงตรงข้ามกัน 4-6 คู่ และใบย่อยเดี่ยวบริเวณปลายใบ 1 ใบ รวมเป็น 9-13 ใบ ใบย่อยแต่ละใบมีรูปขอบขนาน ค่อนข้างหนา และหยาบ กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร มีก้านใบสั้น ประมาณ 0.2-0.8 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบ และแผ่นใบเรียบ แต่ขอบใบจะเรียบไม่สม่ำเสมอกัน แผ่นใบมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน แผ่นใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีแดงเข้ม สีส้ม สีเขียวอมส้ม จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียว
ดอกมะกอก ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง เป็นดอกแยกเพศบนช่อดอกเดียวกัน ช่อดอกหลักแตกแขนงออกเป็นช่อย่อย บนช่อย่อยมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกอ่อนมีลักษณะกลมสีเขียวสด เมื่อบานจะมีสีขาวอมครีม ฐานดกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูปถ้วย ส่วนกลีบดอกถัดมามี 5 กลีบ แต่ละกลีบมีรูปรี ปลายกลีบแหลม ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย แต่แยกดอกกัน หรืออยู่ร่วมกันแต่เกสรอีกชนิดเป็นหมัน เกสรตัวเมียปลายแยกเป็น 4 แฉก ทั้งนี้ มะกอกจะเริ่มออกดอกตั้งแต่ต้นฤดูฝน ประมาณเมษายน-มิถุนายน จากนั้น จะทยอยออกดอก และบานเรื่อยๆจนถึงฤดูหนาว แต่ส่วนมากจะพบออกดอก และติดผลมากในช่วงปลายฤดูหนาว
ผลมะกอก ออกเป็นช่อ เป็นผลสด มีรูปไข่หรือกลมรี ขนาดผล 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวสด ผลแก่หรือผลสุกมีสีเขียวอมเหลือง และมีจุดประสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในเป็นเนื้อผล มีลักษณะฉ่ำน้ำ มีความหนาของเนื้อผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร จากนั้นเป็นเมล็ด ทั้งนี้ ผลมะกอกจะเริ่มสุกให้เก็บมากในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม
เมล็ดมะกอก มีรูปไข่ มีขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ผล เปลือกเมล็ดมีสีเหลือง หนา แข็ง และเป็นเสี้ยน ด้านในเป็นเนื้อเมล็ดอยู่ตรงกลาง
การขยายพันธุ์ :
มะกอกสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำ แต่ส่วนมากนิยมใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก เพราะทำให้ได้ต้นใหญ่ ปริมาณผลมาก และอายุยืนยาว เหมาะสำหรับปลูกตามหัวไร่ปลายนา ส่วนการ
การใช้ประโยชน์ :
– ผลดิบ และผลสุกมีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม ใช้ปรุงรสอาหาร ได้แก่ ใช้ใส่แทนมะนาวหรือมะขาม ในอาหารจำพวกต้มยำหรือแกงที่ต้องการรสเปรี้ยว น้ำต้มยำหรือน้ำแกงจะออกสีขาวขุ่น เป็นที่น่ารับประทาน
– เนื้อผลสุกใช้ใส่น้ำพริกหรืออาหารจำพวกยำหรือก้อย เช่น ก้อยกุ้งซึ่งเป็นที่นิยมของคนอีสาน
– เนื้อผลสุกผสมน้ำตาล แล้วปั่นเป็นน้ำผลไม้ดื่ม
– ผลอ่อนที่เมล็ดยังไม่มีเสี้ยน นำมาดอกเป็นมะกอกดอง
– ยอดอ่อนมีสีแดงรื่อหรือเขียวอมแดง ไม่มีเสี้ยน มีรสเปรี้ยวอมฟาด มีกลิ่นหอม นิยมรับประทานเป็นผักกับน้ำพริก ซุบหน่อไม้ และเมนูลาบต่างๆ
– รากมะกอกในระยะต้นอ่อนมีลักษณะคล้ายหัวมัน ขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาว มีรสหวาน นิยมขุดมาปอกเปลือกรับประทาน ทั้งนี้ หากขุดในระยะที่ต้นใหญ่จะไม่พบรากดังกล่าว ระยะที่เหมาะสม คือ ต้นมะกอกสูงไม่เกิน 30-60 เซนติเมตร
– ยางจากต้นที่เกิดจากบาดแผลของด้วงหรือแมลง มีลักษณะเป็นเมือกใสสีแดงอมน้ำตาล สามารถใช้เป็นกาวติดของได้
– ไม้มะกอก เป็นไม้เนื้ออ่อน แก่นไม่แข็งมาก แปรรูปง่าย ใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับไม้ก่อสร้าง
– เปลือกต้นมะกอกใช้ฟอกย้อมแห ย้อมตาข่าย ยางเหนียว และสารสีช่วยให้แหหรือตาข่ายแข็งแรง ป้องกันสัตว์หรือแมลงกัดแทะ
ที่มา : https://ewt.prd.go.th/
https://puechkaset.com/