ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carica papaya Linn.
ชื่อวงศ์ : CARICACEAE
ชื่อสามัญ : Papaya, Melan Tree, Paw Paw
ชื่ออื่น : ก้วยลา, แตงต้น, มะก้วยเทศ , มะเต๊ะ, ลอกอ, บักหุ่ง
ถิ่นกำเนิด :
มะละกอเป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก และคอสตาริกา โดยสเปนเอาพันธุ์มะละกอมาจากฝั่งทะเลแคริบเบียนของปานามา และโคลัมเบียมาเผยแพร่ราวพ.ศ. 2069 ตรงกับยุคต้นกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยเริ่มทดลองปลูกที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ก่อน และชาวโปรตุเกสเอาพันธุ์มะละกอเข้ามาปลูก ที่เมืองมะละกาของประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2314 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากนั้นจึงนำมะละกอไปปลูกทางอินเดียต่อไปซึ่งในยุคพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวกรุงธนบุรีก็ยังไม่รู้จักมะละกอ แต่เมื่อถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ชาวสยามถึงเริ่มรู้จักพืชชนิดหนึ่งที่ได้พันธุ์จากเมืองมะละกา จึงเรียกพืชชนิดนั้นว่า มะละกา แต่เพี้ยนเป็น มะละกอ จนมาถึงปัจจุบัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดใหญ่ อายุหลายปี สูง 2-8 ม. ลำต้นตั้งตรงมักไม่แตกกิ่ง ไม่มีแก่น ต้นอวบน้ำ มีรอยแผลเป็นของก้านใบที่หลุดร่วงไป มีน้ำยางสีขาวทั่วลำต้น
ใบ ใบเรียงสลับรอบต้นบริเวณยอด ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือกว้าง ยาว 25-60 ซม. โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉกลึก 7-11 แฉก และจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 25-90 ซม. เป็นท่อกลวงยาว
ดอก ดอกช่อสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ออกที่ซอกใบ มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 1.5-2.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 ซม. เกสรเพศผู้มี 10 อัน ดอกเพศเมียและดอกสมบูรณ์เพศออกเดี่ยวหรือ 2-3 ดอก กลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้
ผล ผลเป็นผลสดรูปยาวรี ปลายแหลม ผลดิบมีเนื้อสีขาวอมเขียว ผลสุกมีเนื้อสีแดงส้ม เนื้อหนาอ่อนนุ่ม รสหวาน มีเมล็ดมาก รูปไข่สีน้ำตาลดำ ผิวขรุขระ มีถุงเมือกหุ้ม
การขยายพันธุ์ :
เพาะเมล็ด , ตอนกิ่ง
การใช้ประโยชน์ :
– มะละกอมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งช่วยให้สุขภาพของคุณแข็งแรง
– ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอยู่เสมอ
– ช่วยในการชะลอวัย ลดเลือน และป้องกันการเกิดริ้วรอยต่าง ๆ
– ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
– สามารถนำมาใช้เป็นทรีตเมนต์ทำหน้าให้หน้าใสได้อีกด้วย ด้วยการนำมะละกอสุกผสมกับน้ำผึ้งและนมสด แล้วนำมาปั่นให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำมาทาผิวหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วค่อยล้างออก
– ใช้นำมารับประทานเป็นผลไม้หรือของว่าง ใช้นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ส้มตำ เป็นต้น
– สามารถนำมะละกอไปใช้หมักให้เนื้อนุ่มได้อีกด้วย เพราะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า Papain
– นำมาแปรรูป การแปรรูปมะละกอ เช่น มะละกอแช่อิ่ม มะละกอแผ่น แยมมะละกอ มะละกอเชื่อม ซอสมะละกอ เยลลี่มะละกอ มะละกอแช่อิ่ม มะละกอสามรส มะละกอดอง มะละกอผง เป็นต้น
ที่มา : https://il.mahidol.ac.th
https://pokpokpapaya.wordpress.com