โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber zerumbet (L.) Smith
ชื่อวงศ์ : Zingilberaceae
ชื่อสามัญ : Shampoo ginger / Wild ginger
ชื่ออื่นๆ : ภาคกลางและทั่วไปเรียกว่า กระทือ, กระทือป่า / ภาคเหนือเรียกว่า กะแวน, กะแอน, แสมดำ,  เฮียวดำ (แม่ฮ่องสอน), เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)

ถิ่นกำเนิด :

พบแพร่กระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ชอบขึ้นบริเวณดินร่วน โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้นข้างลำน้ำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ลำต้น

กระทือจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุข้ามปี มีลำต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ลำต้นเหนือดิน

ลำต้นเหนือดิน จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน มีแกนเป็นเส้นใยในแนวตั้งตรง มีลำต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม ถูกหุ้มด้วยกาบใบ ทั้งนี้ ลำต้น และใบเหนือดินจะเหลือง และแห้งในหน้าแล้ง แล้วหน่อใหม่จะทยอยเติบโตขึ้นใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน
2. ลำต้นใต้ดิน

ลำต้นใต้ดินหรือที่เรียกว่า เหง้า หรือ หัว จัดเป็นลำต้นที่อยู่ใต้ดิน เหง้ามีลักษณะกลม แยกออกเป็นแง่ง และมีรากแขนงแทงลึกลงดิน คล้ายเหง้าข่า แต่ละปลายแง่งจะเจริญเป็นหน่อแทงขึ้นกลายเป็นลำต้นเหนือดิน เหง้าอ่อนหรือหน่อหน่ออ่อนมีกาบหุ้มหน่อสีม่วง เนื้อเหง้ามีสีขาว เหง้าแก่มีสีเหลืองอมน้ำตาล เนื้อเหง้าด้านในมีสีเหลืองอ่อน มีรสขื่น เผ็ด และมีกลิ่นหอม สามารถใช้เป็นเครื่องเทศใส่ในอาหารได้ แต่ไม่นิยมนัก
ใบ

กระทือเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แทงใบออกเยื้องสลับกันตามความสูงของลำต้น ใบมีกาบใบหุ้มติดแน่นกับแกนลำต้น ใบมีก้านใบสั้นติดกับกาบใบ ใบมีรูปหอกยาว กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลมเล็ก แผ่นใบมองเห็นริ้วเป็นเส้นตามแนวยาวรางๆ มีเส้นกลางใบขนาดใหญ่ชัดเจน
ดอก

กระทือออกดอกเป็นช่อ แทงก้านช่อดอกตั้งตรงจากเหง้าขึ้นมาเหนือดิน ก้านช่อดอกมีลักษณะกลม ยาวประมาณ 15-45 เซนติเมตร ตัวช่อดอกมีลักษณะกลม กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร โคนช่อดอกกว้าง และค่อยๆเล็กลง และมนที่ปลาย บนช่อดอกประกอบด้วยใบประดับที่ซ้อนเรียงติดกันเป็นกลีบๆ แต่ละกลีบมีรูปสามเหลี่ยม ปลายเหลี่ยมมน ขอบกลีบมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ขนาดกว้างประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร สูงประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนมีใบประดับสีเขียว จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงหรือสีแดงสด เมื่อดอกบาน ตัวดอกจะแทงออกจากซอกระหว่างใบประดับแต่ละอัน โดยทยอยบานออกจากด้านบนลงด้านล่าง ดอกย่อยแต่ละดอก มีก้านดอกเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบเลี้ยงมีรูปหอก แผ่นกลีบเลี้ยงเกลี้ยง สีขาวอมเหลือง ค่อนข้างโปร่งแสง มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอก ถัดมาด้านในเป็นกลีบดอก จำนวน 3 กลีบ ปลายกลีบดอกแยกออกเป็น 3 แฉก แผ่นกลีบดอกเรียบ มีรูปหอก ปลายกลีบแหลม มีสีขาวอมเหลือง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 1 อัน ที่มีอับเรณูสีเหลือง ขนาดใหญ่ ด้านล่างเป็นเกสรเพศเมีย และรังไข่รูปวงรี ทั้งนี้ ดอกจะออกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
ผลและเมล็ด

ผลกระทือจะแทรกอยู่ตรงซอกของใบประดับ มีรูปไข่กลับ ขนาดผลกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีขาว ด้านในมีเมล็ด 1 เมล็ด ส่วนเมล็ดมีลักษณะกลม เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีดำ ผิวเมล็ดเรียบ และเป็นมัน ทั้งนี้ จะติดผลในช่วงเดือนตุลาคม

การใช้ประโยชน์ :

1. กระทือใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ โดยเฉพาะเมื่อยามออกดอก เพราะตัวดอกมีลักษณะแปลกตา ตัวดอกอาจตัดก้านนำมาปักแจกัญประดับตามห้องรับแขก
2.หน่ออ่อนใช้รับประทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก หรือรับประทานเป็นผักคู่กับอาหาร รวมถึงใช้หน่ออ่อนหรือหน่อแก่ใส่ในต้ม แกงต่างๆ ช่วยในการดับกลิ่น และเพิ่มกลิ่นหอม
3. แกนลำต้นอ่อน และยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือลวกน้ำร้อน รวมถึงใช้ประกอบอาหารจำพวกผัดเผ็ดต่างๆ
4.ใบใช้ห่อข้าว ห่อของ ห่อปิ้งอาหาร
5.ลำต้นนำมากรีดเป็นเส้น ใช้ทำเป็นเชือกรัดของ

6.น้ำมันหอมระเหยจากดอกกระทือใช้ฆ่าตัวอ่อนของแมลง และลูกน้ำ นอกจากนั้น ยังสามารถลดการวางไข่ของด้วงถั่วเขียวได้ โดยใช้การฉีดพ่นในแปลง

หัวหรือเหง้า (รสขม เฝื่อน และเผ็ดเล็กน้อย)

– ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร
– กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย
– บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยบำรุงน้ำนม กระตุ้นการหลั่งน้ำนม
– แก้โรคบิด
– ช่วยในการขับลม กระตุ้นการผายลม
– แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– บรรเทาอาการปวดท้อง ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง
– ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาหารไอ ลดการระคายคอ
– แก้ฝีในจุดต่างๆ
– ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก

ราก (รสขม เฝื่อนเล็กน้อย)

– ช่วยลดไข้
– ช่วยขับเสมหะ ลดอาการไอ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยบรรเทาอาการเคล็ดขัดยอก

ลำต้น (รสขม เฝื่อน)

– ช่วยการเจริญอาหาร
– ช่วยบรรเทาอาหารไข้
– บรรเทาอาการไอ อาการคันคอ
ใบ (รสขม เฝื่อนเล็กน้อย)
– ช่วยในการขับลม
– ช่วยขับเลือดเสียในมดลูก
– ช่วยขับน้ำคาวปลา

ดอก (รสขม เฝื่อน)

– ช่วยแก้อาการผอมเหลือง
– ช่วยลดไข้เรื้อรัง
– ช่วยขับลม
– ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย

ที่มา  : https://puechkaset.com/

บทความแนะนำ