โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eugenia malaccensis Linn.

ชื่อวงศ์ : Myrtaceae

ชื่อสามัญ : Malay Apple

ชื่ออื่นๆ –

ถิ่นกำเนิด :

       ชมพู่มะเหมี่ยวนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเกาะชวา สุมาตราและคาบสมุทรมาเลเซีย (รวมภาคใต้ของไทย) ปัจจุบันแผ่กระจายตั้งแต่อินเดียทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ไปจรดหมู่เกาะแปซิฟิค ความอร่อยที่หลายๆคนติดใจก็อยู่ที่ผลสุกของมัน ที่มีสีแดงเข้ม เนื้อในมีสีขาวนุ่มเป็นปุย รสชาติออกเปรี้ยวอมหวาน
       “ชมพู่มะเหมี่ยว” เริ่มปลูกในจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นชมพู่พันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากของผู้บริโภคผลไม้โดยทั่วไป”ชมพู่มะเหมี่ยว” มีลักษณะผลคล้ายลูกแอปเปิ้ล และมีกลิ่นหอมคล้ายๆ กลิ่นดอกกุหลาบ ชาวต่างชาติจึงเรียกชมพู่มะเหมี่ยวว่า “โรสแอปเปิ้ล” ชมพู่มะเหมี่ยวมีรสชาติหวานอร่อย เนื้อนุ่มน่ารับประทานจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และที่สำคัญ ชมพู่มะเหมี่ยวมีแห่งเดียวที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น เริ่มเดิมทีการปลูกชมพู่มะเหมี่ยวของเกษตรกรในแถบนี้ ยังไม่เป็นล่ำเป็นสันนัก เนื่องจากขาดความรู้ความชำนาญในเรื่องการดูแล และการรักษา อีกทั้งราคาชมพู่มะเหมี่ยวไม่ดีเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันแนวโน้มทางด้านราคาดีขึ้นมาก จึงมีเกษตรกรหันมาปลูกชมพู่มะเหมี่ยวกันมากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกชมพู่มะเหมี่ยวในจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ 100 กว่าราย ถือว่าเป็นผลไม้หลัก  ของจังหวัดสมุทรสงคราม รองมาจากส้มโอและลิ้นจี่

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ :

       ลำต้น ชมพู่มะเหมี่ยว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งมาก และเป็นกิ่งขนาดใหญ่ มีกิ่งขนาดเล็กเฉพาะปลายยอด เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน ผิวลำต้นขรุขระ และสากมือ
       ใบ ใบชมพู่มะเหมี่ยว ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวตรงข้ามสลับกันเป็นคู่ๆบนกิ่ง ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีชมพู ใบแก่ขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม ใบมีรูปรี โคนใบมน ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา เป็นมัน และค่อนข้างแข็งเหนียว แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวอมเขียวชัดเจน และมีเส้นแขนงใบ 20-26 คู่ ปลายเส้นแขนงใบสิ้นสุดก่อนถึงขอบใบ
       ดอก ดอกชมพู่มะเหมี่ยวออกเป็นช่อ และออกเป็นช่อกระจุกใกล้กันบนกิ่งขนาดใหญ่ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-5 ดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นก้อนทรงกลมที่ห่อหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง ดอกบานจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล จำนวน 5 กลีบ ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีลักษณะวงกลม จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีสีชมพูเข้ม ถัดมาตรงกลางเป็นก้านเกสรตัวผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร สีก้านเกสรเป็นสีชมพูเข้ม ส่วนด้านในสุดจะเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่ที่ฝังอยู่บริเวณฐานดอก และก้านเกสรตัวผู้จะร่วงหลังจากดอกบานแล้วเต็มที่แล้ว
       ผล และเมล็ด ผลชมพูมะเหมี่ยวมีรูประฆัง อวบอ้วน ขนาดผลประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอมขาว และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม และเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมแดง เนื้อผลหนา และนุ่ม มีสีขาว ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยเมล็ด 1-5 เมล็ด เกาะกันเป็นก้อนใหญ่ จนมีลักษณะเป็นพู ตัวเมล็ดแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดในผลสุกจะปริแตกเป็นร่องของแต่ละเมล็ดจนให้เห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อนด้านในที่มีสีขาวอมเขียว

การขยายพันธุ์ :

       ชมพู่มะเหมี่ยวสามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด ดินร่วนปนทรายจะเติบโตได้ดี ปลูกในฤดูฝนจะดี การปลูกทำได้หลายวิธี การปลูกโดยใช้การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การติดตา การเสียบกิ่ง การปลูกโดยการตอนกิ่ง จะนิยมปลูกมากกว่าวิธีอื่น เพราะจะให้ผลผลิตเร็วกว่า แล้วนำมาเพาะใส่ลงในถุงพลาสติกรดน้ำให้ชุ่มวางไว้ในที่แดดร่มๆ ใช้เวลาเพาะประมาณ 6 เดือน แล้วนำมาปลูกลงแปลง ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 6×6 เมตร

การใช้ประโยชน์ :

       – ผลสุกชมพู่มะเหมี่ยว นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด เนื่องจากมีเนื้อหนา กรอบ รสเปรี้ยวอมหวาน
       – ยอดอ่อนชมพู่มะเหมี่ยว ใช้รับประทานคู่กับอาหาร อาทิ ซุปหน่อไม้ ลาบ หรือเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
       – ผลห่ามของชมพูมะเหมี่ยวใช้ประกอบอาหารจำพวกแกงต่างๆ
       – ผลสุกชมพู่มะเหมี่ยวนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ แยม น้ำชมพูมะเหมี่ยว และไวน์ เป็นต้น
       – เนื่องจากดอกชมพู่มะเหมี่ยวมีสีชมพูเข้มสวยงาม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับร่วมด้วย กับการปลูก    เพื่อรับประทานผล

ที่มา: https://puechkaset.com/
https://sites.google.com/
https://data.addrun.org/

บทความแนะนำ