ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum stramonifolium Jacq.
ชื่อวงศ์ : Solanaceae
ชื่อสามัญ : Solanum, Bolo Maka
ชื่ออื่นๆ : มะอึก มะเขือปู่, มะปู่, มะเขือขน, หมากขน ,ยั่งคุยดี,หมากอึก, หมักอึก, บักเอิก ,อึก
ถิ่นกำเนิด :
มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงราว 1-2 เมตร ทุกส่วนของต้นจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ลำต้นและใบจะคล้ายคลึงกับมะเขือพวง ต่างกันที่ลำต้นและใบของมะอึกนั้นจะมีหนามและมีขนอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนซุย น้ำปานกลาง แข็งแรงทนทานต่อโรค แมลง และดินฟ้าอากาศ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีความสูงประมาณ 70 – 150 ซม. มีหนามแหลมและมีขนละเอียดปกคลุม ผิวลำต้นเรียบสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลเมื่อแก่ ใบเป็นเดี่ยวเรียงแบบสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน และขอบใบหยักเว้าเป็นแฉกตื้นๆ แผ่นใบสีเขียวมีขนปกคลุมหนา และมีหนามแข็งอยู่บนเส้นใบ
ดอก เป็นช่อมีสีม่วงอ่อนหรือสีขาว โดยดอกย่อยมีประมาณ 3 – 5 ดอก
ผล มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีเขียว มีขนยาวปกคลุมทั่วผล เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม
เมล็ด ส่วนเมล็ดจะมีลักษณะกลมและเรียงเป็นแถว
การขยายพันธุ์ :
เพาะเมล็ด
การใช้ประโยชน์ :
มะอึกเป็นพืชผักสวนครัวที่นิยมรับประทานเป็นอาหารและเพาะปลูกกันทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนิยมใช้ผลแก่หรือผลที่สุกเต็มที่แล้วรับประทานเป็นผักแนมหรือผักจิ้มน้ำพริกต่างๆ ซึ่งอาจจะรู้สึกเฝื่อนเล็กน้อยแต่อร่อยมาก หรือนำเปลือกผลเอาเมล็ดออกแล้วซอยฝอยๆ โขลกรวมกับน้ำพริกกะปิ เพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น และอาจจะหั่นเป็นชิ้นๆ รวมทั้งเมล็ดใส่ในส้มตำได้เช่นกัน
ผล ผลของมะอึกมีรสเปรี้ยวเย็น ช่วยแก้อาการไอ ทำให้รู้สึกชุ่มคอขับเสมหะช่วยรักษาแผลและลด
อาการแสบของในช่องปาก กระตุ้นการขับน้ำดี แก้ดีพิการ แก้โรคท้องเสีย และช่วยขับพยาธิ
ใบ ใบของต้นมะอึกมีรสเย็น เมื่อนำมาโขลกจะใช้พอกทาบริเวณที่เป็นฝี แก้ปวดบวม และอาการผื่นคันตามผิวหนัง ซึ่งดอกก็มีรสเย็นและสามารถช่วยลดอาการผื่นคันได้ด้วยเช่นกัน เมล็ดของมะอึกนั้นมีรสเมา สามารถช่วยแก้อาการปวดฟันได้ดี โดยนำไปเผาไฟแล้วสูดดมควัน
ราก มีรสเปรี้ยวเย็น ช่วยแก้ไข้จากสันนิบาต กระทุ้งพิษ ช่วยดับพิษร้อนจากภายในร่างกาย แก้ปวดลดไข้ แก้โทษจากน้ำดีอย่างเช่นดีฝ่อหรือดีกระตุก