พัฒนาพันธุ์ เมื่อมีการปลูกอนุรักษ์ ปรับปรุงให้ได้พันธุกรรมที่มีความบริสุทธิ์แล้ว เกษตรกรยังได้นำพันธุ์เหล่านั้นไปพัฒนาให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น โดยอาศัยความรู้ที่ตนเองมีอยู่มาปรับใช้จนเกิดเป็นพันธุกรรมใหม่ๆที่พัฒนาโดยเกษตรกรให้ได้ตรงกับความต้องการของตนเองมากที่สุด เช่น การผสมพันธุ์ข้าวของหวัน เรืองตื้อจนเกิดเป็นข้าวสายพันธุ์หวัน1 หวัน2 หรือการอนุรักษ์ทุเรียนกว่า 50 สายพันธุ์ของชาตรี โสวรรณตระกูล มีการพัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อยๆจนเกิดเป็นสายพันธุ์มี่มีลักษณะเฉพาะตัว อย่าง นมสด เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ เทคโนโลยีและพันธุกรรมได้ฟื้นคืนกลับมาอยู่ในมือเกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง
การรณรงค์เผยแพร่และขับเคลื่อนทางนโยบาย หลังจากที่พันธุกรรมฟื้นบ้านได้เดินทางกลับคืนมาสู่แปลงอีกครั้ง กระบวนการที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาผนวกกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการทดลองในแต่ละพื้นที่ซึ่งไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เฉพาะในกลุ่มเท่านั้นยังถูกนำมารณรงค์เผยแพร่ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นทั้งในระดับชุมชนผ่านงานบุญ พระเพณีต่างๆ ไปจนถึงเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น การจัดเวทีแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน มหกรรมชาวบ้านภาคอีสาน หรือเวทีวิชาการชาวบ้านกับการจัดการความรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร “พันธุกรรมเพื่อความเป็นไท” หรือ การตั้งเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรมในปี 2553 เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านพันธุกรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าว สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) สถาบันทางการศึกษาและนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์พันธุกรรมชุมชนในหากหลายรูปแบบ ทั้งศูนย์ข้าวชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพเพื่อรองรับกับความต้องการของท้องถิ่น ศูนย์พันธุกรรมบนพื้นที่สูงซึ่งรวบรวมพันธุ์พืชในระบบไร่หมุนเวียน สวนสมลม(ผสม)ในภาคใต้ที่มีการจัดการไม้ผลและไม้ป่าให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลไปจนถึงแหล่งพันธุกรรมทางทะเลอย่างธนาคารปู ธนาคารปลา ล้วนแล้วแต่ช่วยให้พันธุกรรมกลับมาสู่อิสรภาพยิ่งขึ้น
การสูญเสียของพันธุกรรมเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างให้รูปธรรมในพื้นที่ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นกลับมาช่วยในการผลักดันส่งที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเรื่องของสิทธิเกษตรกรในการเป็นเจ้าของพันธุกรรมผ่านการจัดการเมล็ดพันธุ์ของชุมชนให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การรับรองการใช้ประโยชน์จากพืชในท้องถิ่นผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุ์ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น การจัดโครงการข้าวคืนนาเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวภายในถิ่นที่อยู่ด้วยสร้างความร่วมมือในการนำข้าวออกมาจากธนาคารเชื้อพันธุ์ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีแล้วปลูกดูแลรักษาร่วมกับเกษตรกร ไปจนถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านพืชจีเอ็มโอเป็นต้น
พันธุกรรมมีการเดินทางเปลี่ยนผ่านจากช่วงยุคสมัยหนึ่งสู่ยุคสมัยหนึ่งผ่านนโยบายภายใต้ระบบการค้าเสรีที่อิงกับกลไกตลาดเป็นสำคัญ แต่การคงอยู่ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากคุณค่าในการเป็นทรัพยากรต้นกำเนิดของสรรพชีวิตทุกสิ่งบนโลก เป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงภายใต้ความหลากหลายที่มีอยู่ การกักขัง หน่วงเหนี่ยว ไว้เพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจมิใช่หนทางแห่งความอยู่รอด สิ่งที่ดีที่สุด คือ การปลดปล่อยให้พันธุกรรมเดินทางสู่อิสรภาพ……….