เก็บเกี่ยว…ข้าวเหนียวดำ กิจกรรมพบปะของกลุ่มชาวนาทางเลือกภาคใต้
วันที่ 23 ธันวาคม 2551 ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
วันที่ 23 ธันวาคม 2551 เป็นอีกหนึ่งวันที่กลุ่มชาวนาจากสามจังหวัดนัดหมายกันมาเรียนรู้ในแปลงนารวม ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าข้าวเหนียวดำ (ที่ออกรวงตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งก่อน) จะพร้อมเก็บเกี่ยว ทำให้วันนี้ชาวนาหลายคนติดอุปกรณ์เก็บข้าวทั้งแกะและเคียวมาด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อดูสภาพของต้นข้าวแล้วแม้พบว่าข้าวเหนียวดำกำลังอยู่ในช่วง ข้าวเม่ายังไม่แก่จัดเต็มที่ แต่จากสภาพที่ถูกนกกินเป็นจำนวนมาก ทำให้ทีมชาวนาตัดสินใจเก็บเกี่ยวข้าวเหนียวดำกันในวันนี้เลย เพื่อนำมานวดเป็นเมล็ดและคัดเมล็ดลีบออก ก่อนนำไปตากให้แห้งสำหรับนำมาเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกในรุ่นต่อไป
ในขณะที่ชาวนากลุ่มหนึ่งกำลังขมีขมันกับการเก็บ เกี่ยวข้าวเหนียวดำ ชาวนาคนอื่นๆ ที่สนใจการบันทึกลักษณะพันธ์ข้าวพื้นบ้านก็ได้กระจายตัวกันไปบันทึกข้อมูล ตามแปลงข้าวพันธุ์ต่างๆ
และเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนรู้ในแปลงนาแล้ว ก็เช่นเคยที่บรรดาชาวนาจากจังหวัดต่างๆ ได้ชวนกันมาล้อมวงกินข้าวที่ทุกคนได้หอบหิ้วกันมา เป็นบรรยากาศที่ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจพร้อมๆ กัน
จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นเวทีประชุมคณะ ทำงานชาวนาทางเลือกภาคใต้ ครั้งที่ 3/2551 โดยมีชาวนาและคนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกันกว่า 30 คน ซึ่งที่ประชุมได้ช่วยกับสรุปข้อมูลการเจริญเติบโตของข้าวในแปลงนารวม พบว่าข้าวบางสายพันธุ์ได้ออกรวงแล้ว ได้แก่ หอมจันทร์ เหนียวตอก และนางกลาย สำหรับเหนียวดำเปลือกดำได้เก็บเกี่ยวในวันนี้ ส่วนข้าวพันธุ์อื่นอยู่ในช่วงการตั้งท้อง
ในเรื่องการบันทึกข้อมูลลักษณะพันธุ์ข้าว ก็ได้ พี่ฐิติรัตน์ นิลสุวรรณ เป็นตัวแทนจากคาบสมุทรสทิงพระมาให้ข้อมูลข้าวหอมจันทร์ น้าพ่วง ศรีทองช่วย มาให้ข้อมูลข้าวนางกลาย และน้าวิรุณ สุขนวล มาให้ข้อมูลข้าวช่อจังหวัด
ทั้งนี้ พี่สำเริง แซ่ตัน จากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการปลูกครั้งนี้ทำให้เกิดข้อ เรียนรู้หลายประการคือ เช่น จากปัญหานกกินข้าวเหนียวดำเสียหายไปจำนวนมาก ทำให้ในปีหน้าการวางแปลงปลูกควรให้อายุเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อข้าวจะได้ออกพร้อมๆ กัน หรือการที่ข้าวบางพันธุ์มีการเจริญเติบโตที่หลากหลายมาก เช่น ไข่มดริ้น เพราะเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกยังไม่ได้คัดให้บริสุทธิ์ (นำมาจากการแลกเปลี่ยนพันธุ์) ในขณะที่ข้าวหอมจันทร์ที่ผ่านการคัดเลือกให้บริสุทธิ์แล้วมีการเจริญเติบโต ที่ใกล้เคียงกัน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการคัดพันธุ์ข้าวปลูก นอกจากนี้การปลูกข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์และทำการศึกษาเปรียบเทียบ จะทำให้ได้ข้อมูลว่าข้าวชนิดใดที่เหมาะสมกับพื้นที่นาของแต่ละคน ทำให้ชาวนาสามารถตัดสินใจเพาะปลูกได้
สำหรับความแตกต่างระหว่าง “ข้าวพันธุ์แท้” กับ “ข้าวบริสุทธิ์” พี่สำเริงได้อธิบายว่า ข้าวพันธุ์แท้ ส่วนใหญ่ก็หมายถึงข้าวพื้นบ้าน เนื่องจากมีการปลูกคัดเลือกมายาวนาน จนได้ลักษณะพันธุ์ที่เป็นเฉพาะกับชื่อพันธุ์นั้นๆ คนที่จะตอบได้ว่าแท้หรือไม่แท้คือคนที่รู้จักลักษณะดั้งเดิมของมัน ส่วนข้าวบริสุทธิ์ อาจเป็นพันธุ์แท้หรือไม่ก็ได้ แต่มีลักษณะตรงกันเหมือนกันในทุกเมล็ด เมื่อนำไปปลูกก็จะได้ต้นข้าวที่มีลักษณะเดียวกันเกือบทั้งหมด กล่าวคือ ข้าวชื่อหนึ่งอาจมีหลายลักษณะ แต่จะมีที่เป็นพันธุ์แท้อยู่ลักษณะหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ข้าวสังหยดพัทลุงที่ศูนย์วิจัยทำการคัดพันธุ์แล้ว จะเรียกได้ว่าเป็นข้าวสังหยดพัทลุงพันธุ์บริสุทธิ์ แต่ข้าวสังหยดแท้ๆ อาจไม่ใช่ข้าวสังหยดพัทลุงก็ได้
จึงเห็นได้ว่าด้วยความหลากหลายของข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่ในแปลงนา ทำให้มีโอกาสเกิดข้าวใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา เป็นความแตกต่างหลากหลายที่เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งจะต่างจากข้าวพันธุ์ปรับปรุงที่ผสมขึ้นใหม่เพื่อต้องการให้เกิดความแตก ต่างทางสายพันธุ์
ส่วนในช่วงเย็น หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม กลุ่มชาวนาก็ได้มาช่วยกันนวดข้าวเหนียวดำที่เกี่ยวไว้เมื่อช่วงเช้า และช่วยกันทำการฝัดคัดแยกให้เหลือข้าวเปลือกที่เมล็ดสมบูรณ์ ก่อนจะนำไปตากแดดให้แห้งสนิทและเก็บไว้ทำพันธุ์ข้าวปลูกในฤดูการผลิตต่อไป
หมายเหตุ นัดหมายกิจกรรมครั้งต่อไปของเครือข่ายชาวนาทางเลือกภาคใต้ คือ วันที่ 23 มกราคม 2552 ตั้งแต่ 9.00 น. เป็นต้นไป ณ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจเช่น ช่วงเช้า ลงแปลงเกี่ยวข้าวหอมจันทร์และข้าวเหนียวตอก ช่วงบ่าย ประชุมงานขบวนเครือข่ายชาวนาทางเลือกภาคใต้ และช่วงเย็น จัดงานทิ่มเม่าร่วมกับทีมเยาวชนและผู้ที่สนใจอื่นๆ ก็ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมงานทิ่มข้าวเหนียวจากแปลงนารวมนี้ด้วยครับ…