โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

สุเมธ ปานจำลอง

ข้อเสนอเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     การเกิดขึ้นของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทยนั้น กล่าวได้ว่าเกิดมาจากคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ได้เรียนรู้ ค้นคว้า แลกเปลี่ยนและสร้างรูปธรรมขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการขยายผลอย่างแพร่หลาย ในขณะที่กระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนของรัฐยังเป็นไปในลักษณะเฉพาะด้าน คือเป็นเพียงโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือนโยบายใดนโยบายหนึ่งเป็นเรื่องๆ โดยมีกรมหรือกระทรวงรับผิดชอบเฉพาะแล้วนำแผนหรือกิจกรรมในลักษณะเดียวกันทั้งหมดลงปฏิบัติ ภายใต้การส่งเสริมผ่านจังหวัดและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ จึงทำให้ผลการดำเนินบรรลุเฉพาะเรื่องๆ ไป และหากรัฐยังมีโครงสร้างการทำงานในรูปแบบที่เป็นอยู่ จึงไม่น่าจะจัดการและผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรนิเวศทั้งระบบได้เหมือนอย่างที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 8 ได้วางแผนพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จำนวน 25 ล้านไร่ และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ได้ระบุในจำนวนพื้นที่ 5 ล้านไร่ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการบรรลุได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะในความเป็นจริงความสำเร็จของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เกิดขึ้นนั้น ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และความรู้เฉพาะที่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในนิเวศนั้นๆ ไม่สามารถนำชุดความรู้เดียวมาปฏิบัติได้ทั้งหมด

     สำหรับการเกษตรของสังคมไทย สามารถแบ่งเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือแนวเกษตรอุตสาหกรรม ที่เน้นการผลิตเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ โดยมีบริษัทเข้ามาส่งเสริมและให้สินเชื่อพร้อมทั้งรับซื้อผลผลิตและแปรรูปแบบครบวงจรที่เรียกว่า เกษตรพันธะสัญญา และอีกแนวทาง คือการทำเกษตรที่เน้นระบบความมั่นคงทางอาหารในชุมชนท้องถิ่นที่เรียกว่า เกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรนิเวศเป็นระบบเกษตรที่คำนึงและให้ความสำคัญต่อสภาพนิเวศ อย่างภาคอีสานมี 4 นิเวศใหญ่ คือ ภู โคก ทุ่ง ทาม นิเวศภูเป็นนิเวศตามแนวภูเขา เช่น เทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาพนมดงรัก เทือกเขาภูพาน นิเวศโคกเป็นนิเวศที่มีหัวไร่ ปลายนา มีลักษณะเป็นที่ดอนเป็นลอนคลื่นสูงๆ ต่ำๆ ใช้ประโยชน์ในการทำนา ทำสวน มีพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นนิเวศที่มีมากสุดของอีสาน นิเวศทุ่งลักษณะสำคัญคือเป็นที่ราบขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่เหมาะกับการทำนา และมีการเลี้ยงสัตว์ในทุ่ง อย่างเช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ดและมหาสารคาม สำหรับนิเวศทามเป็นนิเวศในเขตลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูฝน เช่น ลุ่มน้ำมูล ลำน้ำชีและลำน้ำสงคราม มีการหาปลาในบริเวณลุ่มน้ำ และทำนาในพื้นที่ทามที่เรียกว่านาทาม การทำเกษตรจึงต้องคำนึงถึงลักษณะของนิเวศ เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำ ดิน เลือกปลูกพืชผัก หรือเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม ดังนั้นความหมาย ความรู้ วิธีการและรูปธรรมที่เกิดขึ้นของเกษตรกรรมยั่งยืน จึงเกิดมาจากขบวนการภาคประชาชนภายใต้ คำถาม เราจะอยู่รอดได้อย่างไร ?

ข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13

     ข้อเสนอสำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเกษตรนิเวศต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13 สิ่งสำคัญสุด ต้องเข้าใจความหมายเกษตรนิเวศที่คำนึงถึงลักษณะสภาพพื้นที่ และให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตคนในนิเวศนั้นๆ ที่มีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ทั้งการตั้งถิ่นฐานและรูปแบบการผลิตที่แตกต่างกัน อีกทั้งต้องยอมรับว่าเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเกษตรนิเวศ สามารถรองรับวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ ดังนั้นข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ต่อการสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มีดังนี้

  • สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ทำเกษตรยั่งยืน ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด หรือระดับนิเวศ ให้มีบทบาทในการออกแบบ วางแผนการสร้างรูปธรรมการเกษตรทั้งการจัดการน้ำ ดินและเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับนิเวศของตน รวมถึงออกแบบการทำเกษตรที่สามารถลดความเสี่ยงในวิกฤตต่างๆ ทั้งโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ทั้งนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็นเพียงกองเลขาในการเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกในการสร้างรูปธรรมเกษตรยั่งยืน
  • มีการบูรณการหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อให้มีบทบาทร่วมกันมากกว่าต่างหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนต่างบทบาทกันไป รวมถึง ลดบทบาทในการผูกขาดความรู้ต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ แต่ดึงเอาความรู้ ภูมิปัญญาของชุมชนมาร่วมพัฒนาระบบเกษตรกรรรมยั่งยืน รวมทั้งการให้กลุ่มองค์กรเกษตรกรสามารถเข้าถึงสิทธิโดยเฉพาะการจัดการและพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์โดยเกษตรกรได้ง่ายขึ้น
  • นโยบายของรัฐต้องเปิดพื้นที่และให้โอกาส สำหรับกลุ่มคนหรือแรงงานที่กลับบ้านที่สนใจทำเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเกษตรนิเวศในพื้นที่ของตน รวมทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะของชุมชนในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรนิเวศ เพื่อให้เกิดการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน และรองรับการเปลี่ยนแปลงสังคมผู้สูงวัยที่จะเกิดขึ้น
  • สนับสนุนส่งเสริมการรณรงค์และขยายผล โดยหน่วยงานรัฐมีแผนในการสนับสนุนรวบรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ จากประสบการณ์และบทเรียนความสำเร็จของกลุ่มเกษตรกรที่มีนิเวศแตกต่างกัน เพื่อนำไปขยายผลรูปธรรมเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องกับนิเวศต่างๆ

บทความแนะนำ