ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศถือเป็นประเด็นร่วมในหลายประเทศเพื่อหาแนวทางในการรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะผลกระทบในภาคการเกษตร แนวทางในการรับมือส่วนใหญ่ได้มุ่งเน้นถึงความยั่งยืนในแง่การจัดการและผลที่เอื้อในระยะยาว ดังเช่นกรณีรัฐแคลิฟอร์เนียที่ถือเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญในสหรัฐอเมริกาที่เผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องสภาวะภัยแล้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน และวิกฤติการณ์การเกิดไฟป่า ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลายฝ่ายต้องหาแนวทางเร่งด่วนในการรับมือเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
จากการขับเคลื่อนของเกษตรกร (California Climate and Agriculture Network: เครือข่ายเกษตรและภูมิอากาศแคลิฟอร์เนีย) ในการรับมือจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยวิธีการที่ยั่งยืนได้เลือกทำเกษตรอินทรีย์ และร่วมกันเคลื่อนเชิงนโยบายที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสภาพภูมิอากาศที่เป็นความหวังในอนาคต ซึ่งแนวทางที่มุ่งสู่ความยั่งยืนนั้นมีเทคนิคและวิธีการจัดการในการสร้างความยืดหยุ่นในแปลงการผลิตและห่วงโซ่อาหาร ดังต่อไปนี้
1.การจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ
การอนุรักษ์น้ำถือเป็นสิ่งที่สำคัญของแปลงการผลิตโดยเฉพาะในช่วงภัยแล้ง อย่างไรก็ตามด้วยการใช้พลังงานในแปลงการผลิตส่วนใหญ่มาจากการสูบน้ำบาดาล (มีการคาดการณ์ว่าพลังงานที่ใช้ในการสูบน้ำเพื่อการเกษตรในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นมากพอที่จะจ่ายกระแสไฟฟ้าให้พื้นที่ได้ถึง 1.5 พันล้านหลังคาเรือน) ซึ่งหากมีการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพก็จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเกษตรกรสามารถจัดการเพื่อเป็นการประหยัดน้ำและลดการใช้พลังงานนั้นมีหลายวิธีการ เช่น การใช้ระบบน้ำหยด การปลูกพืชคลุมดิน ฯลฯ เป็นต้น
2.พลังงานหมุนเวียน
การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุดและเลี่ยงการใช้พลังงานฟอสซิลถือเป็นก้าวที่สำคัญที่ทำให้แปลงการผลิตสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอาจรวมถึงการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ในแปลงการผลิต เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และกังหันลม ลดการใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตรและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม) ให้น้อยที่สุด และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับใช้ในการแปลงการผลิต การเก็บรักษา และการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร
3.การทำเกษตรอินทรีย์
การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาทำให้ภาคการเกษตรเป็นระบบการเกษตรสมัยใหม่ที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีทางการเกษตร สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารเคมีกำจัดวัชพืชในกระบวนการผลิต
ในขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ให้ใช้ปัจจัยการผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรดังเช่นระบบการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันดิน น้ำ และอาหารไม่ปนเปื้อนหรือมีการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์นอกจากมีเทคนิคในการจัดการอย่างยั่งยืนที่เอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกร เช่น การเพิ่มธาตุอาหารและให้ดินอุดมสมบูรณ์ แล้วนั้นยังเอื้อประโยชน์ให้เกิดสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่
4.การฟื้นฟูสภาพดิน
แนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนเพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การทำไร่/ทำนาที่ลดการปล่อยคาร์บอนผ่านการสังเคราะห์แสงของพืชที่ช่วยดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ โดย ร้อยละ 40 ของคาร์บอนจะถูกเก็บสะสมไว้ในดินเพื่อเป็นอาหารในการสร้างองค์ประกอบของเซลล์ให้กับกลุ่มจุลินทรีย์ในดิน เช่น กลุ่มแบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว และไส้เดือนฝอย เป็นต้น โดยกลุ่มจุลินทรีย์นี้มีบทบาทในการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งแปลงการผลิตโดยทั่วไปสามารถเอื้อให้เกิดกระบวนการเก็บกักคาร์บอนเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและสร้างแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตให้กับพืชได้จากกระบวนการเติมปุ๋ยหมัก การปลูกพืชคลุมดิน และลดหรือไม่ไถพรวนดินในการเพาะปลูก
5.การทำให้ภาคการเกษตรเป็นสีเขียว
แนวทางการจัดการที่ดิน เช่น การปลูกป่าบริเวณทุ่งหญ้า การฟื้นฟูบริเวณชายฝั่งแม่น้ำ และการปลูกพืชตามแนวพุ่มไม้ รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้นที่เอื้อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น เป็นที่พักพิงอาศัยของสัตว์ป่า ดึงดูดแมลงช่วยในการผสมเกสรและช่วยควบคุมศัตรูพืชในแปลงการผลิต นอกจากนี้การปลูกต้นไม้ พุ่มไม้ และแนวไม้ยืนต้นอื่นๆ มีส่วนสำคัญในการเก็บคาร์บอนไว้ในมวลชีวภาพ และช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและช่วยอนุรักษ์น้ำ
6.ลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการเลี้ยงสัตว์
การปล่อยก๊าซมีเทนในรัฐแคลิฟอร์เนียมากกว่าครึ่งมาจากภาคการเกษตรโดยเฉพาะมาจากการเลี้ยงวัวเนื้อและวัวนม เนื่องด้วยกระบวนการย่อยสลายแบบไร้อากาศของมูลสัตว์ในฟาร์มโคนมและโคเนื้อที่เลี้ยง โดยให้อาหารสัตว์แบบเข้มข้นนั้น ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษและของเสียลงในแหล่งน้ำ หากปรับการจัดการเลี้ยงสัตว์อยู่ในระบบทุ่งหญ้าหมุนเวียนจะบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันกีบเท้าของสัตว์จะช่วยให้เกิดการสลายของดินและมูลสัตว์ให้เข้ากัน เป็นการเพิ่มปุ๋ย/ธาตุอาหารให้ผืนดิน
7.การจัดการทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
พื้นที่มากกว่าครึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้า หากมีการจัดการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นระบบก็จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนเอื้อให้เกิดการความอุดมสมบูรณ์ของดินและจุลชีพในอัตราที่สูง ขณะเดียวกันพื้นที่ยังเอื้อต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชยืนต้นและช่วยเก็บกักน้ำในดิน
8.การปกป้องพื้นที่ทำการเกษตร
รัฐแคลิฟอร์เนียสูญเสียพื้นที่ทำการเกษตรอย่างน้อยปีละ 101,171 ไร่ด้วยแรงกดดันด้านการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงข่าวร้ายในห่วงโซ่การผลิตเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย เพราะการจัดการแปลงการผลิตและทุ่งหญ้าในแนวทางที่ยั่งยืนนั้นช่วยในการลดคาร์บอนและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรนั้นถือเป็นการรักษาแหล่งอาหารท้องถิ่น ปกป้องที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และผลกระทบบวกด้านอื่นที่เกิดขึ้นจากการจัดการพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน
9.การสนับสนุนตลาดเกษตรกรและอาหารท้องถิ่น
“คุณรู้หรือไม่ว่าอาหารในสหรัฐอเมริกาเดินทางเฉลี่ยกว่า 2,414 กม กว่าจะมาอยู่บนจานอาหารที่บ้าน?” ด้วยการขนส่งในระยะทางที่ไกลนี้แน่นอนว่าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในทางกลับกันหากเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตด้วยตนเองในตลาดเกษตรกรหรือผ่านช่องทางในระดับพื้นที่ได้ก็จะทำให้ระยะทางการขนส่งอาหารนั้นสั้นลง ประหยัดและอนุรักษ์ทรัพยากรการขนส่ง การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ผ่านตลาดเกษตรกรทำให้การผลิตยังคงอยู่ได้โดยที่เกษตรกรสามารถผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมของพื้นที่
10.การผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศ
มีหลากหลายแนวทางในการสนับสนุนการทำฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศในระดับพื้นที่ แต่การลดความรุนแรงหรือความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อการสนับสนุนเชิงบูรณาการ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ข้อกฎหมาย และงบประมาณในการดำเนินงาน การสนับสนุนการอนุรักษ์พื้นที่ทำการเกษตร การฟื้นฟูสภาพที่ดิน การจัดการน้ำที่ยั่งยืน พลังงานหมุนเวียน และแนวทางการปฏิบัติอื่นที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่
อ้างอิง
Brie Mazurek. (2561). 10 Ways Farmers Can Fight Climate Change. ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 จากเวปไซต์ https://cuesa.org/article/10-ways-farmers-can-fight-climate-change