โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 17 พันธุกรรมผัก ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนบนเส้นทางการอนุรักษ์ พัฒนาและการค้าโดยชุมชน

          ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมผัก : ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนบนเส้นทางอนุรักษ์ พัฒนาและการค้าโดยชุมชน” ในงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 เป็นไปเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ผักของกลุ่มเกษตรกร ที่มาจากตัวแทน 4 ภาค พบว่า เกษตรกรต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงการสร้างความหลากหลายพันธุกรรมพืช รวมถึงการเป็นเจ้าของพันธุกรรมที่สามารถอนุรักษ์ จัดการ และทำการค้าโดยชุมชนเกษตรกรเอง 

พืชผักปลอดภัย เมล็ดพันธุ์ปลูกต่อได้

          ต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ราคาเมล็ดพันธุ์ผักมีราคาแพง หลายชนิดถูกทำให้เป็นหมันจึงไม่สามารถเก็บเมล็ดเพื่อปลูกต่อได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่เกษตรกรต้องเก็บคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เมล็ดพันธุ์ที่ดีต้องมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง เมื่อนำไปปลูกแล้วสามารถเก็บเพื่อปลูกต่อได้ ตัวอย่างเกษตรกรที่มีประสบการณ์การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างจริงจังในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่น

          ประสาน พาโคกทม ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด สามารถรวบรวมเมล็ดพันธุ์ผักกว่า 40 ชนิด และพัฒนาสายพันธุ์ถั่วฝักยาวครั่งสีแดงผ่านการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากเดิมที่ยาว 40 เซนติเมตร ให้เป็น 78 เซนติเมตร “เมล็ดพันธุ์สามารถสร้างเศรษฐกิจ และเราต้องหาช่องทางตลาดให้หลากหลายช่องทางทั้ง การขายผ่านออนไลน์ ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการเก็บเมล็ดพันธุ์ของชุมชนและจัดหาตลาดให้ ประสานนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ความรู้การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และจะต้องนำความร่วมมือเหล่านั้นให้ชุมชนได้ประโยชน์”

          สำหรับ จงกล พารา ใช้พื้นที่รอบๆ บ้าน ทำแปลงปลูกผัก ผลผลิตเก็บขายทุกเย็นวันศุกร์ ที่ตลาดเขียวขอนแก่น และได้จัดสรรพื้นที่สำหรับแปลงปลูกผักเพื่อเก็บเมล็ด โดยเฉพาะพันธุ์สลัดที่สามารถเก็บได้ 7-8 สายพันธุ์ จงกลเล่าว่า “การปลูกผักเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ใช้พื้นที่การปลูกเพียงนิดหน่อย แต่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากเราเก็บผักขายจะใช้เวลาไม่กี่วันตามอายุผักก็เอาผักไปขายได้ แต่ถ้าต้องการเก็บเมล็ดอาจใช้เวลานานถึง 3 เดือน แต่สามารถเพิ่มรายได้ให้ 3-4 เท่า”

          จงกล พารา และประสาน พาโคกทม เป็นตัวแทนจากวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ ภาคอีสาน ปัจจุบันสมาชิกได้ปลูกคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ผัก สำหรับจำหน่ายและแจกจ่ายมากกว่า 60 ชนิด โดยได้มีการจัดสรรบทบาทตามความถนัด และความชอบของสมาชิกว่าจะเลือกเก็บเมล็ดชนิดใด

          คนรุ่นใหม่อย่าง บุญมี ชาลีเครือ ต้องการกลับไปทำเกษตรในจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งแรกที่คิดคือ ทำเกษตรอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้ ? จึงได้สำรวจการบริโภคผักของคนในท้องถิ่น พบว่า มีผักไม่กี่ชนิดที่ขายและกินกัน เนื่องจากไม่มีคนปลูกและไม่มีเมล็ดพันธุ์ บุญมีจึงเลือกปลูกผักสลัดขายในช่วงแรก ต่อมาได้เพิ่มความหลากหลาย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงมากขึ้น และมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น เริ่มแรกเป็นการแลกเปลี่ยนแจกจ่าย “การแจกคือการให้ของขวัญสำหรับคนที่มาเยี่ยมเรา มาเรียนรู้จากเรากลับไปก็มีการขยายการปลูกผัก” ด้วยวิธีนี้ ทำให้รู้ว่าเมล็ดพันธุ์เป็นความต้องการของผู้ที่สนใจปลูกผัก จึงเริ่มมีการวางจำหน่ายแต่ยังยึดหลัก ความหลากหลายสายพันธุ์เพื่อการเข้าถึงอาหารท้องถิ่น ที่สำคัญการปลูกผักแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ สามารถใช้เป็นเครื่องมือ สำหรับการเกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้กับผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาว และเด็กในโรงเรียน

          กาญจนา เข็มลาย สมาคมเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยฐานของกลุ่มที่มีการทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน จึงได้ให้ความสำคัญกับพันธุกรรมพืชมานาน ในปี 2554 กาญจนากลับมาอยู่บ้านอย่างเต็มตัว ซึ่งพื้นที่รอบบริเวณบ้านมีการปลูกไม้ผลบ้างแล้ว จึงอยากปลูกผัก เพื่อสร้างความหลากหลายของอาหารในครัวเรือนและชุมชน และมีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ผัก จากนั้นได้เอาจริงเอาจังกับการเก็บเมล็ดพันธุ์ทั้งเพื่อจำหน่ายและแจกจ่าย “เมล็ดพันธุ์เป็นฐานสำคัญ สำหรับการตั้งรับและรับมือกับกันวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และการให้ความรู้คุณค่าของผักแต่ละชนิดกับผู้บริโภคก็สำคัญเช่นกัน”

          สำหรับ กนกพร ดิษฐกระจันทร์ กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี “การที่คนในชุมชนรู้จักปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อเองนั้น ถือเป็นความเข้มแข็งของชุมชน” เนื่องด้วยคนในชุมชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้สิน ทำอย่างไรลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ จึงชักชวนกันให้ปลูกผักสวนครัวเพื่อเป็นอาหารและต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อได้ ไม่ได้เน้นการขายเมล็ดแต่เน้นให้เก็บแล้วปลูกต่อส่วนหนึ่งเป็นอาหาร ส่วนหนึ่งขายเป็นผักสด แต่ถ้าเก็บเมล็ดได้เยอะก็จะจำหน่ายให้กับคนในชุมชน

          มาถึง มัทนา อภัยมูล ที่เติบโตมากับระบบเกษตรอินทรีย์ของชุมชนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ หลังจบการศึกษาได้กลับมาทำเกษตรอินทรีย์สืบต่อจากคนรุ่นพ่อ จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใจที่มีความสนใจในประเด็นพันธุกรรมพืช มัทนาใช้พื้นที่รอบๆ บ้านทำแปลงปลูกผักและแปลงเก็บเมล็ดพันธุ์ซึ่งถือได้ว่า เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีประสิทธิภาพมาก และมีการจำหน่ายให้กับผู้สนใจทั่วไป และ“หัวใจสำคัญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ คือ ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพมากที่สุดก่อนถึงมือผู้ซื้อ ก่อนขายก็ต้องทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์”

ผักพื้นบ้านในป่ายาง

          นอกเหนือการปลูกผักที่ต้องอาศัยการขึ้นแปลง และจัดการในช่วงอายุสั้นๆ แล้ว ผักพื้นบ้านหลายชนิดสามารถเติบโตร่วมกับพืชเศรษฐกิจ อย่างเช่น ภาคใต้ จากสถานการณ์รุกคืบของปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทำให้พืชผักที่เคยอยู่ร่วมยางลดหายไป การฟื้นป่าร่วมยางถูกนำเสนอให้เป็นทางเลือก ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการรักษาความหลากหลายของพันธุกรรม

          สหจร ชุมคช ศูนย์การเรียนรู้พันธุกรรมพืช ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ปี 2551 สหจรกลับมาบ้าน พบว่า สวนยางพาราที่บ้านเนื้อที่ 7 ไร่ มีแต่ต้นยางพาราไม่มีพืชชนิดอื่นๆ อยู่เลย ซึ่งต่างจากช่วงที่ตนเองเป็นเด็ก จึงได้ค้นหาพืชท้องถิ่นที่เคยเติบโตได้ในสวนยางมาปลูก เพราะอยากรวบรวมไว้ในสวน โดยเลือกไม้ดอก ไม้ใบ และสมุนไพร เช่น ดาหลา เอื้องหมายนา มะเดื่อ จำปูน จำปี เฟริน์ ผักเหมียง ลูกฉิ่ง ฯลฯ “หลังการสะสมได้ 7-8 ปี สวนได้มีสายพันธุ์พืชหลายร้อยชนิด ทำรายได้หนุนเสริมให้ครอบครัว เป็นที่สนใจของผู้คนที่เข้ามาศึกษาดูงานเรียนรู้ จากพืชผักพื้นบ้านที่เหมือนไร้ค่ากลับมีมูลค่าเพิ่ม คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช้สารเคมี และนำพืชท้องถิ่นไปปลูกเพิ่มในสวนยาง”

          เช่นเดียวกัน ณฐา ไชยเพชร มีพื้นที่ทำกินในตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เงื่อนไขที่เริ่มเอาพืชพื้นบ้านมาปลูกไว้ในสวนยางไม่ต่างจากสหจร แต่ณฐา เลือกปลูกพืชอาหารและไม้ใช้สอยที่อยู่ร่วมกับแปลงยางต้นใหญ่ที่ให้น้ำยางได้แล้ว เช่น ผักเหมียง ยอดแซะ หมุยป่า จิกป่า แต้ว พะยอม พยุงยางนา ตะเคียนทอง ตำเสา รังแข จำปูลิง กระท้อนบ้าน รวมถึงแปลงยางพาราต้นเล็กอายุไม่เกิน 3 ปี เช่น ข้าวไร่ พืชตระกูลถั่วต่างๆ ถั่วลิสง ถั่วหรั่ง มันขี้หนู แส้ ลำแย้ หลังจากณฐาทำไปพร้อมกับชักชวนเพื่อนบ้าน มาเพิ่มความหลากหลายพืชผักในแปลงยางพารา จนได้ตั้งกลุ่มชื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่และผักปลอดภัยเทพา “ถึงวันนี้ได้ขยายพื้นที่ไปอีก 3 อำเภอ คือ สะบ้าย้อย จะนะ นาทวี ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การฟื้นฟูความหลากหลายพันธุกรรมพืชในแปลงยางพารา รวมถึงการจัดจำหน่ายแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้าน ผ่าน ธนาคารเมล็ดพันธุ์”

หลากหลายลีลา แต่เป้าคือ “เมล็ดพันธุ์ต้องอยู่ในมือเกษตรกร”

          มีความจำเป็นและเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อเองให้ได้ การคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาตรฐาน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงนั้น เป็นสิ่งที่เกษตรต้องเรียนรู้ ทั้งผ่านการแลกเปลี่ยนบทเรียนประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน รวมทั้งการอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการที่เห็นความสำคัญและจัดอบรมให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพราะเมล็ดพันธุ์เป็นหัวใจการทำเกษตร ใครครอบครองเมล็ดพันธุ์ไว้ได้ ก็สามารถควบคุมระบบเกษตรได้

อ้างอิง ข้อมูลจากเวที “พันธุกรรมผัก : ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนบนเส้นทางอนุรักษ์ คัดพัฒนา และการค้าโดยชุมชน

บทความแนะนำ