ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (ปี 2561-2579) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหาร มีหลักการเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 2) ยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร มีหลักการคือ เพื่อดูแลคุณภาพและความปลอดภัยอาหารในห่วงโซ่อาหาร โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการค้าทั้งในและต่างประเทศเป็นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง 3) ยุทธศาสตร์ด้านอาหารศึกษามีหลักการคือ เน้นกระบวนการส่งเสริมพัฒนาและวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ ความตระหนักในการใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตและกระจายอาหารในห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการบริโภคอาหาร และ 4) ยุทธศาสตร์ด้านบริหารจัดการมีหลักการคือ พัฒนาการจัดการด้านอาหารของประเทศตลอดห่วงโซ่อาหารอย่างเป็นระบบให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามต่างๆ และสอดคล้องกับกติกาการค้าสากล ยุทธศาสตร์เหล่านี้ ได้ส่งผลต่อระบบอาหารและโภชนาการ ซึ่งเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตอาหารจากภาคเกษตร การแปรรูป การบริการ สู่โภชนาการสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและการค้า
เพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหาร สถานการณ์ทั้งการระบาดของโควิด-19 และการรับมือปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ในส่วนของเกษตรกรและชุมชนเกษตรจึงต้องยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหาร โดยเฉพาะการบริโภคอาหารท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบจากแปลงเกษตร หรือทรัพยากรธรรมชาติ ป่า แหล่งน้ำ ห้วย หนอง หรือพื้นที่สาธารณะในชุมชนมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เกษตรกรและชุมชนต้องมีการจัดการ วิธีการคัดเลือก คัดสรร รวมไปถึงการใช้ภูมิปัญญา ความรู้ในการปรุงหรือแปรรูปอาหาร ซึ่งพบว่า อาหารการกินที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นนั้น มาจากทรัพยากรธรรมชาติ พืชพันธุ์ในแปลงเกษตรที่แตกต่างกันแต่สามารถเก็บหาเก็บกินได้ตลอดทั้งปี เช่น ผักจะมีทั้งไม้เลื้อย ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น พืชน้ำ พืชหัว บางชนิดเติบโตที่หัวไร่ปลายนา บางชนิดอยู่ในป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ บางชนิดถูกปลูก ซึ่งสรรพคุณของพืชผักแต่ละชนิดยังคงแตกต่างกันไป
ดังนั้น เกษตรกรควรมีการวางแผนการจัดการพื้นที่ในแปลงเกษตรและฐานทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนร่วมกัน เพื่อสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอทั้งต่อการบริโภค จำหน่ายและแบ่งปัน จะเป็นแนวทางหนึ่งในการขยายผลระบบเกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเกษตรกรและชุมชนเกษตร
ความหมาย และแนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรและชุมชน
ความหมายความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเกษตร คือ การมีอาหารกินอย่างเพียงพอตลอดปี โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองด้านอาหาร สิทธิในการเข้าถึงฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน อาหารที่บริโภคต้องปลอดภัย มีโภชนาการ มีตลาดที่เป็นธรรม มีรายได้ที่เพียงพอ มั่นคง และมีส่วนร่วมในการควบคุม ดูแล รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืนในระบบอาหาร (สุภา ใยเมือง, 2555)
สำหรับงานศึกษาวิจัยเพื่อท้องถิ่นของภาคอีสาน กรณีบ้านป่าตอง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ในประเด็นกระบวนการปกป้องและสร้างความมั่นคงทางอาหารของครอบครัวและชุมชนเกษตร (สุเมธ ปานจำลอง, 2555) ได้มีการยกตัวอย่าง บทเรียนประสบการณ์ทางเลือกของเกษตรกรและชุมชนเกษตรบ้านป่าตอง ซึ่งมีระบบนิเวศทุ่งหรือที่ลุ่ม เป็นชุมชนชาวนา ปลูกข้าวสำหรับการบริโภคและขาย มีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักไว้บริโภค โดยมีประเด็นสำคัญคือ
1. ครอบครัวเกษตรกรที่มีสมาชิก 3-4 คน ในระบบการผลิตต้องมี 2 ระบบคือ
-ระบบการผลิตในระบบไร่นา ต้องมีพื้นที่ทำกินอย่างน้อย 10 ไร่ และสร้างความหลากหลายทั้งการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งต้องมีแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตรอย่างน้อย 1 ไร่ มีแปลงนาข้าวที่สามารถผลิตข้าวได้อย่างน้อย 350 ถัง/ปี และในผืนนาต้องมีพืชผักธรรมชาติที่นำมาทำอาหารได้อย่างน้อย 6 ชนิด นอกจากนั้นต้องมีแปลงผักสวนครัว มีไม้ผลอย่างน้อย 6 ชนิด และปลูกไม้ใช้สอยไว้ใช้ประโยชน์อย่างน้อย 5 ชนิด
-ระบบการผลิตพืชผักสวนครัวรอบบริเวณพื้นที่บ้าน โดยต้องมีพืชผักสวนครัวต่างๆ ที่สามารถเก็บกินและแบ่งปันได้ตลอดทั้งปี เช่น พริก ข่า ขิง ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กล้วย ฯลฯ
2.การฟื้นฟูแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชน สำหรับบ้านป่าตองมีแหล่งทรัพยากรในชุมชน 2 ส่วน คือ
-พื้นที่ป่า เช่น ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าชุมชน หรือป่าส่วนบุคคลที่คนในชุมชนไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพื่อเป็นแหล่งเก็บหาอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งต้องมีการรักษาและฟื้นฟูแหล่งอาหารที่สำคัญนี้ไว้ ให้มีอาหารสำหรับการเก็บหาได้อย่างน้อย 10 ชนิดในหนึ่งฤดูกาล เช่น ฤดูฝนสามารถเก็บหาเห็ดต่างๆ หน่อไม้ ไข่มดแดง ดอกกระเจียว ดอกอีรอก
-แหล่งน้ำสาธารณะ ต้องมีการฟื้นฟูแหล่งน้ำให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น กบ ปลา และมีพืชผักธรรมชาติเจริญเติบโต เช่น บัว ผักหนาม ใบบัวบก ผักแขยง ผักอีฮีน ผักก้านจอง ซึ่งพืชผักและสัตว์ ชุมชนจะต้องฟื้นฟูให้มีเก็บหาบริโภคได้อย่างน้อย 5 ชนิด โดยเฉพาะในฤดูฝน และสิ่งที่ชุมชนต้องเฝ้าระวังคือ การลดเลิกใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำที่เป็นอาหารของคนในชุมชน
3. การฟื้นฟูวัฒนธรรมการแบ่งปันและซื้อขายทั้งในและนอกชุมชน
ประเด็นสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของเกษตรและชุมชนเกษตร ก็คือวัฒนธรรมการแบ่งปัน และการซื้อขายทั้งในและนอกชุมชน ซึ่งในปัจจุบันวัฒนธรรมการแบ่งปันจำเป็นต้องฟื้นฟูขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นการแบ่งปันอาหารในระหว่างกลุ่มเครือญาติ เพื่อนบ้าน หรือคนทั้งชุมชน รวมไปถึงการฟื้นฟูประเพณีต่างๆที่ก่อให้เกิดการช่วยเหลือแบ่งปันกันผ่านงานบุญ ฮีตสิบสองคองสิบสี่ และการสร้างธนาคารชุมชน ที่ทำให้เกิดการแบ่งปันสำหรับคนเดือดร้อนได้พึ่งพา รวมไปถึงการจัดการระบบตลาดที่จำหน่ายผลผลิตที่เป็นอาหารของชุมชนในรูปแบบตลาดนัด หรือร้านค้าชุมชน เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนสินค้าได้อย่างเป็นธรรม
ทั้งนี้กล่าวได้ว่า การจัดการวิถีการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติของเกษตรกรและชุมชน จำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากผลผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้าใจและตระหนักในคุณค่าทางโภชนาการ คุณค่าทางวัฒนธรรม และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีคุณภาพ ด้วยการจัดกล่าวดังนี้จะนำมาซึ่งการเสริมสร้างอธิปไตยให้กับเกษตรกรและชุมชนในการมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ และการเข้าถึงการจัดการทรัพยากรของชุมชนเอง
อ้างอิง
สุภา ใยเมือง. 2555. ตัวชี้วัดความมั่นทางอาหารระดับชุมชน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
สุเมธ ปานจำลอง. 2555. เอกสารสรุปผลการศึกษา “การพัฒนาตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร” กรณีศึกษาบ้านป่าตอง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม