ชัชวาล ทองดีเลิศ
มูลนิธิสืบสานล้านนา
จากร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นั้นจะเห็นคำสวยหรูหลายคำ อย่างเช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม วิถีชีวิตที่ยั่งยืน วิกฤตเศรษฐกิจ และอื่นๆ แต่ที่สุดแล้วในแผนปฏิบัติการกลับไม่มีแผนที่สอดคล้องและนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศและโลกย่ำแย่ คนที่ทำงานในเมืองจำนวนมากถูกเลิกจ้างต้องตกงาน ทางเลือกหนึ่ง คือการกลับบ้านเกิด ซึ่งเห็นไว้ว่ามีผู้คนได้กลับไปบ้านเกิดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การสร้างและรองรับท้องถิ่นให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่รอดได้จึงเป็นคำตอบ และที่สำคัญสุดอาจกล่าวได้ว่า “เศรษฐกิจท้องถิ่นจะสามารถค้ำยันประเทศเอาไว้ได้ในวิกฤตต่างๆ ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญา”
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอต่อร่างแผนพัฒนาฯ 13 โดยเฉพาะการสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน อันเป็นประเด็นสำคัญที่ร่างแผนฯ 13 ไม่ได้กล่าวถึงนั้น มี 2 ข้อหลัก คือ
- ต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึง เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน แต่ในความเป็นจริงที่ดินกลับถูกถือครองกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อย คนจำนวนมากไม่มีสิทธิและไม่สามารถเข้าถึงการถือครอง โดยแบ่งได้ 2 ลักษณะ
- ที่ดินซึ่งมีการถือครองกระจุกตัวกับบางคน ต้องให้เกิดการกระจายการถือครอง สำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกว่า 40% อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีประชากรที่อาศัยและทำกินอย่างผิดกฎหมายอยู่ราว 10-12 ล้านคน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกจำกัดการพัฒนา หากหน่วยงานใดจะดำเนินงานพัฒนาและ/หรือส่งเสริมกิจกรรมใดๆ หน่วยงานนั้นๆ ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อน
ดังนั้น ที่ดินสองประเภทนี้ต้องถูกกระจายและนำใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่ไปกับการดูแลและจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน
- ต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมีบทบาทการพัฒนาและบริหารจัดการตนเอง ตามบริบทข้อเท็จจริงของพื้นที่เป็นฐาน เพื่อแก้และขจัดปัญหาการรวมศูนย์จากส่วนกลาง เช่น การให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตน เพื่อเข้ามาบริหารจัดการจังหวัดของตนเอง การทำเกษตรที่มีระบบแตกต่างกันตามความเหมาะสมภูมินิเวศนั้นๆ ซึ่งในสังคมไทยมีบทเรียนและประสบการณ์การทำเกษตรที่สอดคล้องเหมาะสมกับภูมินิเวศที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้
หากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้คำนึงถึงข้อเสนอดังกล่าว ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ “การผลิกโฉมประเทศไทย สู่วิถียั่งยืนที่อยู่ร่วมกับเศรษฐกิจยั่งยืน ทรัพยากรยั่งยืน”