ถึงวันนี้การหาซื้อข้าวอินทรีย์มาบริโภคไม่ได้เป็นเรื่องยากเพราะมีวางจำหน่ายหาซื้อได้ง่าย ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะนั่นหมายถึงชาวนาเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการทำนา ไม่ว่าปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช รวมทั้งไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในขั้นตอนการแปรรูป การสี การบรรจุ ตลอดจนการเก็บรักษาในสต็อก และดูเหมือนว่าเมื่อมีผลผลิตข้าวอินทรีย์ออกมาวางจำหน่ายในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ผู้บริโภคอาจพึ่งพอใจกับราคาข้าวอินทรีย์ที่ถูกลง ส่วนเกษตรกรต้องอยู่ในภาวะจำยอมไป แต่ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ทำให้ชาวนามีกิจกรรมที่หลากหลาย มีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์หลากชนิด มีการปลูกพืชหลังนา มีการเก็บและคัดเลือกพันธุ์พืชด้วยตัวเอง และอื่นๆ ที่สำคัญ คือการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปและจำหน่ายผลผลิต เหล่านี้ทำให้ชีวิตชาวนายั่งยืนและอยู่รอดได้
การเรียนรู้และทำความเข้าใจขั้นตอนการทำนาอินทรีย์ อาจจะช่วยให้ระบบการซื้อขายข้าวอินทรีย์มีความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ภายใต้หลักการของการทำนาอินทรีย์ คือมุ่งเน้นการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน การเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศเพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลในระดับแปลงนา
ขั้นตอนทำนาดำ
ถึงแม้กระบวนการทำนานั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาค ตามสภาพนิเวศและฤดูกาลที่แตกต่างกัน แต่วิธีการหลักๆ ไม่ได้ต่างกันมากนัก ซึ่งขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ เตรียมแปลงทำนาจนถึงการเก็บเกี่ยวชาวนาต้องพิถีพิถันและหมั่นสังเกตทั้งในแปลงนาและสิ่งรอบข้าง เพื่อให้ผลผลิตข้าวในฤดูกาลนั้นได้ผลผลิตที่ดี และกว่าจะมาเป็นข้าวให้บริโภคกันนั้นมีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
- การเตรียมแปลงตกกล้า การเตรียมแปลงที่ดีส่งผลให้ต้นกล้าแข็งแรง ถอนกล้าได้ง่าย ซึ่งต้องเลือกแปลงตกกล้าที่มีดินอุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้แหล่งน้ำและสามารถปล่อยน้ำเข้า-ออกได้สะดวก หากฝนฟ้าปกติก็จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมโดยไถดะเพื่อกลบปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด เศษฟางและหญ้าที่เกิดขึ้นในแปลงนาให้ลงไปหมักในดิน แล้วตากดินไว้ 1-2 อาทิตย์ จากนั้นไถพรวนเพื่อให้เศษอินทรียวัตถุต่างๆ ที่หมักไว้ขึ้นมาอยู่หน้าดิน แล้วคราดแปลงเพื่อให้พื้นดินเรียบสม่ำเสมอให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปไหลรวมกันในที่ต่ำเวลาฝนตก รวมทั้งต้องเก็บหญ้าที่ไม่ย่อยสลายออกจากแปลง
- การเตรียมพันธุ์ข้าว และตกกล้า พันธุ์ข้าวปลูกเป็นหัวใจของการทำนา ซึ่งต้องเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี มีความเหมาะสมกับสภาพนิเวศที่ทำนา ที่สำคัญควรมีการคัดเลือกและเก็บพันธุ์ข้าวไว้เองเพื่อความมั่นใจว่าจะได้พันธุ์ข้าวตรงตามความต้องการ การเตรียมพันธุ์ตกกล้ามี 2 วิธี
- หว่านในแปลงตกกล้าที่มีน้ำขังเล็กน้อย ต้องนำพันธุ์ข้าวมาแช่น้ำ แล้วเลือกข้าวที่ลอยออกทิ้ง แช่พันธุ์ข้าวทิ้งไว้ 1 คืน เอามาใส่กระสอบป่านวางไว้ในที่ร่มหมักอีก 2 วันเพื่อให้รากงอกยาว 3-5 มิลลิเมตร แล้วนำไปหว่านในแปลงตกกล้า
- หว่านในแปลงตกกล้าที่ไม่มีน้ำ นำพันธุ์ข้าวมาฝัดในกระด้งเพื่อคัดพันธุ์ข้าวที่ลีบออก แล้วนำไปหว่านลงในแปลงที่เตรียมไว้ได้เลย โดยไถคราดเพื่อให้ดินกลบเมล็ดข้าวอีกครั้ง
- การถอนกล้า ต้นกล้าที่เหมาะสมอายุ 20-25 วัน สูงประมาณ 40 เซนติเมตร มีใบ 5-6 ใบ เพื่อให้ถอนกล้าได้ง่ายควรเอาน้ำหมักชีวภาพมาฉีดใส่ในแปลงก่อนถอนต้นกล้าประมาณ 7 วัน หรือเปิดน้ำเข้าในแปลงเพื่อให้รากข้าวได้ดูดซับน้ำ เมื่อต้องการถอนกล้าเปิดน้ำออกแต่ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงพอท่วมหลังเท้าแล้วถึงถอนกล้า จากนั้นนำต้นกล้ามามัดรวมกันโดยเอาแช่น้ำพอท่วมรากเพื่อพักต้นกล้าให้แข็งแรง 1-2 คืน
- เตรียมแปลงนาปักดำ แปลงนาสำหรับปักดำไม่ต่างจากการเตรียมแปลงตกกล้า ที่ต้องมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงในแปลงแล้วไถดะทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ เมื่อพร้อมที่จะปักดำจะไถพรวนแล้วคราดแปลงนาอีกครั้ง จากนั้นนำต้นกล้าที่พักไว้มาตัดยอดออกเพื่อทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้ดี ลมพัดไม่ล้ม และต้นกล้าคายน้ำได้ดีมาปักดำ โดยใช้ต้นกล้า 2-3 กีบต่อข้าวหนึ่งจุด ระยะห่างต้นกล้า 30-40 เซนติเมตร
- การเก็บเกี่ยว ช่วงต้นข้าวเจริญเติบโตต้องมีการดูแลจัดการน้ำ การควบคุมจัดการโรคและแมลง การจัดการวัชพืช รวมทั้งการบำรุงต้นข้าวให้แข็งแรง จนถึงระยะเก็บเกี่ยวให้ระบายน้ำออกจากแปลงก่อนถึงกำหนดเก็บเกี่ยว 7-10 วัน เพื่อให้ข้าวสุกสม่ำเสมอและสะดวกในการเก็บเกี่ยวไม่ว่าใช้แรงงานคนหรือรถเกี่ยว เมื่อได้เป็นข้าวเปลือกต้องรีบตากเพื่อลดความชื้นเมล็ดข้าว โดยตากแดดหรือใช้เครื่องอบ แล้วถึงเก็บไว้เพื่อนำไปสีเป็นข้าวสาร
ใช้เวลาทั้งปีเพื่อให้ได้นาอินทรีย์
ขั้นตอนการทำนาในการปฏิบัติแล้วชาวนาต้องลงแรงกายใช้เวลาทั้งปีเพื่อให้ได้ข้าวอินทรีย์มา เนื่องจากการทำนาอินทรีย์ชาวนาต้องมีกิจกรรมในแปลงนาต่อเนื่อง หลังการเก็บเกี่ยวเมื่อดินยังมีความชุ่มชื้นจะไถกลบตอซังและปลูกพืชหลังนาเพื่อมีรายได้เสริม หรือปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดิน และมีกิจกรรมการปลูกพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ และอื่นๆ เพราะการทำนาอินทรีย์ไม่ได้หมายถึงการทำนาเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น ต้องคำนึงถึงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่สามารถเก็บและคัดเลือกพันธุ์ได้เอง ดังนั้นจึงต้องมีแปลงนาไว้สำหรับการปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ไว้ใช้เอง และหากสามารถจัดการแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเพื่อนำเอารำและแกลบมาใช้ประโยชน์จะเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวได้มากขึ้น รวมทั้งการนำข้าวสารจัดจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะสำเร็จได้ย่อมต้องอาศัยการรวมกลุ่มของชาวนา และการสนับสนุนจากผู้บริโภคที่เลือกบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากชาวนาโดยตรงด้วยการคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรม หากเป็นเช่นนี้จะเป็นแนวทางที่ชาวนาจะอยู่รอดและมีรายได้เพียงพอภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น