เมื่อพูดถึง “แปลงนารวมในศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง” นับเป็นรูปธรรมความร่วมมือเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้สนับสนุนพื้นที่นาบางส่วนของศูนย์วิจัยพื้นที่ 10 ไร่ ให้เป็นแปลงนารวมของกลุ่มชาวนา เพื่อให้เกิดการขยายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านให้ลงไปสู่ชุมชนต่างๆ เป็นเสมือนกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่สนับสนุนการขยายผลไปสู่ชาวนาที่ สนใจ โดยพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกจะเป็นไปตามความต้องการของชาวนา ซึ่งในปีนี้ก็นับเป็นการทำนาต่อเนื่องปีที่สองแล้ว
ส่วน “กองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านทางเลือกภาคใต้” เป็นกองทุนที่เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ซึ่งเป็นผลผลิตจากแปลงนารวมศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง มีการบริหารจัดการกลุ่มองค์กรในเครือข่ายชาวนาทางเลือกภาคใต้ ซึ่งเป้าหมายของกองทุนฯ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการคืนพันธุ์ข้าวลงสู่ชุมชนและแปลงนาของเกษตรกร และสนับสนุนการขยายผลให้กับชาวนา/กลุ่มชาวนาอื่นๆ ที่สนใจในภาคใต้
ดร.วารี ไชยเทพ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว ซึ่งให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิดงาน ได้แสดงความคิดเห็นว่าการดำเนินการที่เห็นในวันนี้เปรียบเสมือนการพัฒนากลไก ความร่วมมือในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและของประเทศ เป็นการสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาข้าวก็ให้ความสำคัญกับการทำงานเรื่องข้าวพื้นบ้าน และสนับสนุนให้มีการทำงานเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ทั้งในส่วนของการเก็บรักษา ขยายผล และการสนับสนุนทางวิชาการ ในภาคใต้เองก็ได้ให้ศูนย์วิจัย 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ศูนย์วิจัยข้าวกระบี่ และศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี เน้นการดำเนินงานเช่นกัน โดยให้ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงเป็นแม่ข่ายดำเนินงาน ในขณะที่ คุณสถาพร ตัมพวิสิฎฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เองก็ได้แสดงความรู้สึกยินดีที่ร่วมดำเนินงานกับกลุ่มองค์กรชาวนา และพร้อมสนับสนุนการทำงานด้านนี้อย่างเต็มที่
น้าประพัฒน์ จันทร์อักษร กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการแลกและแบ่งปันพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านภาคใต้ให้กระจายไปยัง พื้นที่ต่างๆ เกิดการพึ่งพาตนเองของชาวนาด้านเมล็ดพันธุ์ และสะท้อนสิทธิชาวนาในการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี เพิ่มความหลากหลายของพันธุ์ข้าวในพื้นที่ รวมทั้งเพื่อให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดประสบการณ์ในเชิงสร้างสรรค์ของ ขบวนการชาวนาทางเลือกภาคใต้
ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีเกษตรกร เยาวชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเกือบ 200 คน มีการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจากกองทุนไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงมากว่า 10 กลุ่ม รวมทั้งมีผู้ที่สนใจมาลงชื่อในงานนี้เพื่อขอรับพันธุ์ไปปลูกมากว่า 50 คน
เพราะข้าวพื้นบ้านเป็นสิ่งล้ำค่า และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในจังหวัดพัทลุงเองก็ได้เห็นร่วมกันถึงความสำคัญของมรดกพื้นบ้านสิ่งนี้ ทำให้ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐกำลังเติบ โต…งอกงาม