ตำนานข้าว…เรื่องราวจากเมืองลุง เก็บมาเล่าจากงาน “ฟื้นฟูสืบสาน ตำนานข้าวพื้นบ้าน” วันที่ 15 มิถุนายน 2553 ณ วัดตำนาน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ตำนาน” ก็มักทำให้เรารู้สึกถึงสิ่งที่ถูกกล่าวขานมาเนิ่นนานในอดีต หรือ สิ่งที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน และเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกวันที่ ตำนานข้าวพื้นบ้านภาคใต้ถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่า ณ วัดตำนาน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพียงแต่การบอกเล่าครั้งนี้กลับไม่ได้มีแง่มุมเฉพาะความเป็นมาเป็นไปในอดีต หากแต่โปรยปรายไปสู่ความเป็นไปในอนาคต และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนหลายๆ กลุ่ม ได้ทำให้ข้าวพื้นบ้านกลายมาเป็นความหวังของชุมชน
แดดอ่อนๆ ยามเช้า ผู้คนเริ่มขวักไขว่ในลานวัดตำนาน ทันทีที่เดินเข้าไปในบริเวณงานก็จะได้ยินเสียงฉิ่งฉาบ กลองขนาดต่างๆ ของวงกลองยาว ทั้งตีทั้งเต้นกันอย่างสนุกสนาน ข้างหน้าที่เห็นเด่นแต่ไกลคือเต็นท์ผ้าใบที่ถูกจำลองให้เป็นนิทรรศการขนาด ย่อมๆ แสดงถึงความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและการดำเนินงานของกลุ่มองค์กรชาว นา ไม่นับรวมถึงผลผลิตสินค้าของแปรรูปที่มาจากวิถีชาวนาเมืองลุงที่มาจัดแสดง ให้เห็นอยากหลากหลาย จนต้องแวะเดินเข้าไปชมเป็นอย่างแรก ซึ่งภายในซุ้มนิทรรศการก็มีคนเข้าชมอยู่ไม่น้อยทั้งกลุ่มเกษตรและเด็กๆ น้องๆ นักเรียนที่กำลังเก็บข้อมูลกันอย่างขะมักเขม้น
จุดที่สำคัญที่สุดอยู่ที่บริเวณศาลาการเปรียญ เพราะจุดนี้ได้ถูกตระเตรียมไว้สำหรับการทำขวัญข้าวพื้นบ้านนับสิบๆ สายพันธุ์ ที่นำมารวมกันของชุมชนชาวนาบ้านตำนานและชุมชนข้างเคียง รวมทั้งกองเลียงข้าวพื้นบ้านที่เก็บมาจากแปลงนารวมในศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง จำนวน 8 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเหนียวดำเปลือกดำ ข้าวหน่วยเขือ ข้าวนก ข้าวเบาอุเด็น ข้าวลูกขอ ข้าวช่อจำปา ข้าวไข่มดริ้น และข้าวทรายขาว