“จากสภาพดินในเมืองส่วนใหญ่เป็นดินถมสภาพดินไม่ดีนัก การสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ต้องสัมพันธ์กับฤดูการผลิต และกระบวนการหมักดินเพื่อให้เกิดการย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหาร รวมไปถึงการทำงานของจุลินทรีย์ในดินที่จะส่งผลต่อการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งทำให้กระบวนการหมักมีอุณหภูมิสูงในช่วง 2 สัปดาห์จากการทำงานของจุลินทรีย์ในดินที่มีการสร้างสารต่างๆ ออกมาย่อยสลายอินทรียวัตถุให้อยู่ในรูปที่พืชผักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ดินจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำเกษตรในเมือง”
การศึกษาวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของคนเมือง กรณีศึกษา : เกษตรในเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในระหว่างปี 2562-2564 แปลงผักนักสำรวจน้อย เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง 327 เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายงานวิจัยซึ่งมีพื้นฐานการทำงานร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ในการพัฒนาระบบเกษตรในเมือง พบว่า มูลค่าจากการปลูกผักคิดเป็นเงินจำนวน 119,920 บาทในรอบ 14 เดือน (พฤศจิกายน 2562 – ธันวาคม 2563) หรือประมาณ 8,500 บาทต่อเดือน และการประเมินมูลค่าภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าจากการใช้ประโยชน์พื้นที่เนื้อที่ 300 ตารางวาสามารถลดภาษีได้ 34,500 บาท/ปี นอกจากนั้นการทำเกษตรในเมืองได้สร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการจัดการเศษอาหารในครัวเรือนและเศษวัสดุในแปลงเกษตร เพื่อนำมาทำปุ๋ยหมักโดยสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 4,300 บาทต่อปี และลดค่าจัดการขยะได้อีก 3,870 บาทต่อปี การสร้างให้เกิดมูลค่าต่างๆ เหล่านี้ปัจจัยสำคัญหนึ่ง คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ี
ความเป็นมาของแปลงผักนักสำรวจน้อย
เคหะชุมชนทุ่งสองห้องเป็นชุมชนที่การเคหะแห่งชาติได้จัดสร้างเป็นที่พักอาศัยมาตั้งแต่ปี 2526 แต่สำหรับแปลงผักนักสำรวจน้อย เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง 327 นั้นเกิดจากที่ชุมชนมีพื้นที่รกร้างขนาด 300 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินของบริษัทไทยคาเนตะ จำกัด ที่ผลิตเสื้อเชิ้ตสำหรับส่งออกและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 โดยพื้นที่รกร้างนี้บริษัทต้องการสร้างบ้านพักให้พนักงาน แต่สร้างไม่เสร็จจึงถูกปล่อยทิ้งร้างนานกว่า 10 ปี กลายเป็นที่ทิ้งขยะของคนในชุมชน และเป็นแหล่งมัวสุมของวัยรุ่น ในปี 2551 แกนนำชุมชนร่วมกับสำนักงานเขตหลักสี่ได้ขอใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อบริโภคในครอบครัวและชุมชนกับบริษัทไทยคาเนตะ ชุมชนจึงเริ่มใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นมา จนปี 2556 โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ได้สนับสนุนชุมชนในการพัฒนาและยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารให้มากขึ้น โดยเน้นการปรับปรุงคุณภาพดิน ปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนและแปลงผัก
แปลงผักนักสำรวจน้อยกับงานวิจัยเศรษฐกิจฐานรากของคนเมือง
การดำเนินงานวิจัยในปี 2562-2564 ซึ่งครบรอบ 10 ปีของชุมชนที่มีการปลูกผักมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า แปลงผักแห่งนี้มีสมาชิกจำนวน 10 คนที่มาจากหลายชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมกันดูแลจัดการ โดยแบ่งแปลงขนาด 1×8 เมตรให้สมาชิกรับผิดชอบคนละแปลง ในการเตรียมแปลงครั้งแรกสมาชิกทุกคนช่วยกัน แต่หากใครต้องการแปลงเพิ่มต้องเตรียมแปลงเอง ด้วยวิธีนี้ทำให้เกิดความหลากหลายชนิดพืชผักในแปลงเดียวกัน เพราะต่างเลือกผักที่คนในครอบครัวชอบกิน หรือผักที่กินประจำในครัวเรือนมาปลูก เช่น มะเขือเปราะ พริก ผักกาดขาวใหญ่ กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชีลาว ฯลฯ ที่ปลูกผสมผสานลงไปในแปลงเดียวกัน และมีการปลูกพืชตามฤดูกาลเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและสภาพพื้นที่ มีการกระจายปลูกผักยืนต้นรอบๆ ในพื้นที่ว่างไม่ว่ามะรุม ไผ่
วิเคราะห์ปัญหาการปลูกผัก
จากการวิเคราะห์ปัญหาของการปลูกผักพบว่า ผลผลิตผักที่ปลูกไม่ดี ผักแคะแกร็นไม่สมบูรณ์ มีแมลงศัตรูพืชมารบกวน รวมถึงอายุของสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย การทำเกษตรที่ต้องปรับปรุงดินบ่อยๆ จึงไม่เหมาะสมกับวัยและร่างกายของสมาชิก ดังนั้น โครงการวิจัยสนใจพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในด้านการพึ่งตนเองด้านอาหารที่เชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเน้นการเพิ่มทักษะความรู้การปรับปรุงดิน การพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก รวมถึงการเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในชุมชน
- สร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน โครงการได้ประสานอาจารย์เกศศรินทร์ แสงมณี มาให้คำแนะนำกับสมาชิก โดยมีการปรับจากแปลงดินมาเป็นแปลงยกโดยใช้อิฐประสาน และการปรับปรุงดินครั้งแรกเพื่อเตรียมแปลงปลูกผัก โดยใช้ดินถุงใบก้ามปูมาหมักร่วมกับดินเดิม และใส่ปุ๋ยคอกผสมคลุกเคล้าในอัตราส่วน 1 : 1: 1 ให้เข้ากัน เอาน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกสับปะรดหมักเข้าไป รดน้ำ 2 วัน/ครั้งเพื่อให้มีความชื้น ทิ้งไว้ 30 วัน
- เก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของดิน ภายใน 1 ปีหลังการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน พบว่า ด้านกายภาพ ดินมีความร่วนซุยมากขึ้น ระบายน้ำได้ดี ลักษณะเนื้อดินเป็นดินร่วนปนดินเหนียว และมีสมบัติทางเคมีที่ดีขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยดังนี้ pH 36 (เป็นด่างเล็กน้อย) อินทรียวัตถุร้อยละ 6.48 (สูงมาก) ไนโตรเจนร้อยละ 0.32 (สูง) ฟอสฟอรัส 727.67 mg/kg (สูงมาก) โพแทสเซียม 441.33 mg/kg (สูงมาก) แคลเซียม 5,552 mg/kg (สูง) และแมกนีเซียม 579.33 mg/kg (สูง) จากนั้นหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละครั้ง จะปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักใบก้ามปูทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ ก่อนการลงมือปลูกผัก
- ผลการศึกษาธาตุอาหารในดิน บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดิน โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีปริมาณธาตุอาหารมากกว่าฤดูอื่นๆ เนื่องจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ทำงานได้ดี อินทรียวัตถุในดินสูง มีปริมาณธาตุอาหารและอินทรีย์คาร์บอนสูง โดยเฉพาะไนโตรเจน แมกนีเซียม ซึ่งไนโตรเจนมีผลต่อการเจริญเติบโตทางใบ ส่วนแมกนีเซียมส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงทำให้มีคลอโรฟิลล์สูง ใบเขียว สะสมอาหารได้มากพืชเจริญเติบโตดี ฟอสฟอรัสที่มีสูงจะส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืชหัวและเร่งดอกและผล ธาตุโพแทสเซียมจะช่วยส่งเสริมการติดผล และช่วยให้ผลผลิตมีรสชาติดีเนื่องจากโพแทสเซียมช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้ำตาลในพืช ส่วนแคลเซียมจะช่วยเสริมโครงสร้างของเซลล์พืชให้มีความแข็งแรง
ปริมาณธาตุอาหารดังกล่าว สัมพันธ์กับสภาพดินและจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดิน ดินที่มีอินทรียวัตถุจะพบ ไส้เดือน ด้วงดิน แมงแกลบ กิ้งกือ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวจะไม่ค่อยพบไส้เดือน เนื่องจากอุณหภูมิในดินต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส และความชื้นในดินต่ำ
- ผลผลิตดีมีคุณภาพ จากกระบวนการสร้างความสมบูรณ์ในดิน ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ผักมีความกรอบ ใบหนานุ่ม สีเขียวเข้ม โรคและแมลงเข้าทำลายได้ยาก การสะสมไนเตรทน้อยกว่าค่ามาตรฐานและสามารถเก็บรักษาในตู้เย็นได้นานกว่า 3 อาทิตย์
ข้อมูลจากงานศึกษาดังกล่าว ส่งผลให้ชุมชนมีการจัดการดินในการผลิตพืชให้ตรงตามฤดูกาล โดยเน้นการทำปัจจัยการผลิต กระบวนการหมัก การย่อยสลาย และปลดปล่อยธาตุอาหาร ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาและปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นตัวควบคุมการผลิตในแต่ละฤดู เพื่อสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การปรับปรุงดินก่อนเพาะปลูก การรู้จักพืชที่ปลูก ความเหมาะสมของพืชกับฤดูกาลเพาะปลูก การเพาะกล้า การเติมปุ๋ยหมัก และการใช้จุลินทรีย์ต่างๆ รวมทั้งฮอร์โมนพืชต่างๆ ตลอดไปถึงการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว