โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ (Reshaping Thailand’s readiness to Encourage Vegetable and Fruit Intake as National Agenda) เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “ขับเคลื่อนโยบายและมาตรการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ และระบบอาหารของประเทศ” และเว็บไซต์สวนผักคนเมือง

 ปีแห่งผักผลไม้​ กินเพิ่ม​ เสริม​การปลูก

        “ความมั่นคงทางอาหาร เป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์และของประเทศชาติ” แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ทำให้ภาพการขาดแคลนด้านอาหารชัดเจนมากยิ่งขึ้น ความอดอยากอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการจำกัดการเดินทาง ความต้องการอาหารในร้านอาหารหายไป ผู้ผลิตไม่สามารถส่งสินค้าได้เช่นเดิม และไม่สามารถขายให้ผู้บริโภคในท้องถิ่นได้ทัน จนต้องทิ้งอาหารหรือปล่อยให้เน่าเสีย ในขณะที่ประชากรบางกลุ่มกลับขาดแคลนอาหาร เช่น แรงงานไทยและต่างชาติที่อาศัยในเมือง สะท้อนให้เห็นถึงระบบอาหารที่ยังไม่มั่นคงและไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเกิดภาวะวิกฤต

       สิ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบอาหารได้ง่ายและยั่งยืนที่สุดที่อาจถูกมองข้ามไป คือ ผักและผลไม้ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มคุณภาพการกินและภาวะโภชนาการของประชากร อีกทั้งยังเป็นช่องทางสร้างงานและรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย การผลิตผักผลไม้ที่เพียงพอ ปลอดภัย ให้ทุกคนเข้าถึงได้ และสามารถบริโภคได้ตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของประชาชนทั้งในระดับบุคคลและครัวเรือน

       นับเป็นโอกาสอันดีที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2564 เป็น ปีแห่งผักและผลไม้สากล” (International Year of Fruits and Vegetables, 2021) เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของผักและผลไม้ในเวทีระดับนานาชาติ และระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันให้ผักและผลไม้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างระบบอาหารที่มั่นคงลดภาวะการขาดแคลนอาหาร และปริมาณผัก ผลไม้ที่เน่าเสียเหลือทิ้งในภาวะวิกฤตนี้

       ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมผักผลไม้ปลอดภัย โดยใช้กลไกมาตรการทางกฎหมายและนวัตกรรมเชิงนโยบาย (policy innovation) อาทิ การใช้นโยบายทางภาษี เพื่อจูงใจการขายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กำหนดจำนวนสินค้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (รวมผักและผลไม้) ขั้นต่ำที่ร้านอาหารต้องขาย การให้ร้านอาหารติดข้อมูลแสดงค่าพลังงานอาหารบนเมนู เป็นต้น

       โดยกรณีตัวอย่างนโยบายในประเทศอังกฤษพบว่า หากภาครัฐใช้นโยบายอุดหนุนทางราคาผักผลไม้ร้อยละ 10 จะช่วยให้ประชาชนโดยรวมกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น 0.25 ส่วน ขณะที่หากใช้นโยบายอุดหนุนทางราคาผักผลไม้ร้อยละ 30 กับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย จะช่วยให้ประชาชนกลุ่มนี้กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น 0.53 ส่วน และนโยบายทั้งสองนี้ถูกประเมินว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งจากมุมด้านนโยบายและสังคม” ดร.นพ. ไพโรจน์ กล่าว

       นางสาววรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า นับว่าเกษตรในเมืองมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ด้วยสัดส่วนการเติบโตของเมืองแบบไร้ทิศทาง ได้รุกล้ำพื้นที่ผลิตอาหารมากขึ้น รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะในชุมชนเมือง จึงเป็นที่มาของการเกิดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง สร้างระบบเกษตร อาหาร และเมืองที่ยั่งยืน โดยขับเคลื่อนงานผ่าน 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหาร ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ และอาหารเพื่อสุขภาวะของคนเมือง 2.เชื่อมโยงอาหารและกระจายอาหาร และ 3.ขับเคลื่อนความรู้ แนวคิดเกษตรในเมือง และสร้างเครือข่าย

       “การสร้างระบบอาหารยั่งยืน จะต้องเชื่อมโยงให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเมือง ชานเมือง และชนบท ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ การเชื่อมโยงและกระจายอาหารจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคเมือง 1 ครั้ง/เดือน  ของ City Farm Market ช่วยดูแลด้านอาหารให้กับผู้บริโภค 150 – 200 ครอบครัว และช่วยดูแลเกษตรกรรายย่อย 15 – 20 กลุ่ม” นางสาววรางคนางค์กล่าว

       เราสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจากตัวของเราเอง อาจจะเริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ ที่เรามีอย่างพื้นที่หลังบ้าน ระเบียงคอนโด หรือดาดฟ้าบนอาคาร หากเริ่มรู้สึกว่าอยากปลูกผัก แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เราชวนมาเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยวิธีคืนชีพผัก ด้วยการนำผักเหลือทิ้งในห้องครัวกลับมาปลูกใหม่ ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  1. คืนชีพจากก้าน – ผักกลุ่มนี้ ได้แก่ กะเพรา โหระพา แมงลัก สะระแหน่ โดย

– นำต้นที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปมาเล็มใบให้เหลือน้อย แล้วนำไปแช่น้ำ รอให้มีรากอ่อน ๆ งอกออกมา จากนั้นนำไปปักในดินต่อได้เลย

  1. คืนชีพจากหัว – ผักกลุ่มนี้ ได้แก่ หัวหอม กระเทียม โดย

– แบ่งมาตัดหัว ตัดราก แกะเปลือกให้เรียบร้อย แล้วนำไปปักในดินได้เลย (ส่วนหัวของต้นหอม และกุยช่ายก็สามารถนำมาปักได้เหมือนกัน)

  1. คืนชีพจากราก – ผักกลุ่มนี้ ได้แก่ ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง โดย

– เก็บส่วนลำต้นที่ติดรากไว้ ตัดแต่งรากให้สั้นลงเล็กน้อย ขุดหลุมฝังราก กลบให้มิด แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

       ผักและผลไม้ อาจเป็นอาหารทั่วไปที่ถูกมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ คนไม่นิยมบริโภค ทั้ง ๆ ที่ประโยชน์และคุณค่าของผักและผลไม้นั้นมากมายกว่าที่เราคิด และช่วยให้เราสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ การบริโภคผัก และผลไม้นั้น นำมาสู่ความมั่นคงมากมายไม่ใช่เพียงแต่สร้างความมั่นคงให้กับระบบอาหาร แต่ยังนำไปสู่ความมั่นคงของระบบนิเวศ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

       เนื่องในวาระที่ปี 2564 ถูกประกาศให้เป็นปีแห่งการบริโภคผักและผลไม้สากล สสส.ขอเชิญชวนทุกคนให้หันมารับประทานผัก ผลไม้กันเพิ่มมากขึ้น เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ลดความเสี่ยงการเกิดโรค NCDs ลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ