โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD)

ชนเผ่าพื้นเมือง ไร่หมุนเวียนกับความหลากหลายทางชีวภาพ

         ไร่หมุนเวียนกับความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวิถีในการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ประการที่หนึ่ง ชนเผ่าพื้นเมืองคิดเป็น 5% ของประชากรโลก แต่ 80% ของความหลากหลายทางชีวภาพได้ตั้งอยู่บนดินแดนของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ ประการที่สอง ชนเผ่าพื้นเมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 370 ล้านคนหรือ 2 ใน 3 ที่ยังดำรงวิถีชีวิตพึ่งพาระบบไร่หมุนเวียนได้อย่างเต็มที่หรือบางส่วน และพบว่าสามารถเข้าถึงและมีความมั่นคงทางอาหารจากการผลิตการในระบบไร่หมุนเวียน

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

         ประเทศไทยได้เข้าร่วมให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในปี 2547 ซึ่งภายใต้อนุสัญญา ได้บ่งบอกถึงการอนุรักษ์และธำรงรักษาภูมิปัญญานวัตกรรมและการปฏิบัติของชุมชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในมาตรา 8(j) ได้กล่าวชัดเจนเรื่องภูมิปัญญา วิถีทางวัฒนธรรม ว่าควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐและให้มีการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับข้อตกลงปารีสภายใต้ สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ที่ได้กล่าวว่านอกจากจะใช้วิทยาศาสตร์แล้ว ต้องมีความเหมาะสมทางภูมิปัญญา ประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อบูรณการให้เข้ากับนโยบาย และปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ในทางปฏิบัติชนเผ่าพื้นเมืองยังไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาล อีกทั้งในรัฐธรรมนูญได้พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์แทนคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง นอกเหนือจากมุมมองไร่หมุนเวียนที่เป็นอคติในแง่ที่ว่า เป็นระบบการผลิตดั้งเดิมมองไม่เห็นตัวเงิน ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมแล้ว ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาจากการเผาไร่ เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งทำให้โลกร้อน อีกทั้งมนโนทัศน์ของ REDD plus ซึ่งเป็นมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องจากการทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่า ก็ปฏิเสธเรื่องไร่หมุนเวียน

         จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำภูมิปัญญาภูมิปัญญานวัตกรรมและการปฏิบัติของชุมชนเผ่าพื้นเมืองให้เกิดการยอมรับและส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นเดียวกับการรื้อถอนมายาคติให้ออกไป

ความเป็นจริงวิถีไร่หมุนเวียน

         สำหรับวิถีการทำไร่หมุนเวียนในปัจจุบันนั้น การบุกเบิกป่าใหม่แทบไม่มีแล้ว การทำไร่หมุนเวียนจะใช้พื้นที่ป่าเหล่าที่เคยทำไร่หมุนเวียนแล้วทิ้งไว้ให้ป่าฟื้นตัวถึงจะกลับมาทำไร่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายนของทุกปี โดยมีการถางป่าและเผาป่าเหล่า ซึ่งถือเป็นการเตรียมดินสำหรับทำไร่ ดังภาพที่ 1

ภาพ 1 ภูมินิเวศน์ของพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ถางไร่ (เดือนธีแพะ-ธีคุ) เผาไร่ ลาเซอ ปลูกไร่

         ภาพที่ 2 ลักษณะการตัดตอที่ตัดสูง เพื่อไม่ให้ต้นไม้ตายและโครงสร้างดินยังคงเดิม และการทำไร่ที่หว่านพืชหลากหลายชนิดได้เริ่มขึ้น เพียง 1 เดือนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม ไร่หมุนเวียนก็จะเขียวกลับคืนมา ที่

ภาพ 2 หลังการเพาะปลูก 1 เดือนก็เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต

         อีกมิติของไร่หมุนเวียนนั้น มีนัยยะเรื่องของจิตวิญญาณ โดยทุกขั้นตอนจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สะท้อนถึงความเคารพต่อการใช้ธรรมชาติ ดังภาพที่ 3

ภาพ 3 พิธีกรรมเลี้ยงทวยเทพ ลาคุ (สิงหาคม) Bgau quv La hkoov pooz

         ภาพที่ 4 แสดงความหลากหลายพันธุ์พืชและความหลากหลายทางชีวภาพในไร่หมุนเวียน งานวิจัยของอาจารย์นันท์ในปี 2546 พบความหลากหลายของพืชพันธุ์ต่างๆ ในไร่หมุนเวียนถึง 207 ชนิด

ภาพ 4 ความหลากหลายของพันธุ์พืชในไร่หมุนเวียน

         ถึงแม้ไร่หมุนเวียนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติปี 2556 แต่ว่าน้อยคนที่จะรู้จักและให้คุณค่า ดังภาพที่ 5 แสดงให้เห็นพื้นที่ไร่เหล่าที่ทิ้งช่วงทำไร่ตั้งแต่ปีที่ 1 ถึง 7 ในแต่ละช่วงมีชื่อเรียกแตกต่างกัน การพักช่วงทำไร่จะมีพันธุ์พืชที่เติบโตขึ้นมาตั้งแต่หญ้า จนพืชทรงพุ่มที่หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับการแพร่พันธุ์สัตว์

ภาพ 5 การหมุนเวียนของไร่ในช่วง 1-7 ปี

ความสำคัญของระบบไร่หมุนเวียน

         ในระบบไร่หมุนเวียนการปล่อยพื้นที่ให้เกิดการฟื้นตัวของพืชถือเป็นการสร้างป่า ซึ่งโครงสร้างดินจะอุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการทำการผลิต อันถือได้ว่าเป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบหนึ่ง หรือที่เรียกว่าระบบวนเกษตร และความหลากหลายของพันธุ์พืชในแปลงไร่หมุนเวียน สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมไปถึงจุลินทรีย์ได้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งกักเก็บคาร์บอน สามารถลดทอนจากภาวะโลกร้อนและเป็นรูปแบบในการปรับตัวต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

         สำหรับไร่เหล่าแล้ว ยังสามารถนำมาสร้างมูลค่าผลผลิตได้ เนื่องจากไม้ป่าในไร่เหล่าเป็นไม้โตเร็ว สามารถสร้างปรับโครงสร้างดินและสร้างปุ๋ยได้ดี เช่น การปลูกตองต้าวในพื้นที่ไร่เหล่า พบว่าความอุดมสมบูรณ์ของดินมีค่อนข้างมาก หญ้ามีปริมาณน้อย หรือการเลี้ยงผึ้งโพรง พบว่า ผึ้งโพรงเข้ารังดีมาก และน้ำจากผึ้งโพรงมีความเหนียว สีเข้ม รสหวาน แม้กระทั่งการนำพื้นที่ไร่เหล่ามาปลูกสมุนไพร เช่น ปลูกตะไคร้ ซีทีชา มะแขว่น ผ่อวอ ฯลฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ได้เอาพืชต่างๆ ไปปลูกในพื้นที่ไร่เหล่าเพื่อเพิ่มมูลค่า อย่างเช่น ภาคเหนือของลาวปลูก Rasin Besuin เป็นต้นไม้ที่มียางใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมโลก  รัฐลูนาเจา ประเทศอินเดีย มีการฟื้นไร่เหล่าโดยเลือกพันธุ์ไม้ที่ดี และแข็งแรงเพื่อนำมาทำฟืนและถ่าน และเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เลือกปลูกอบเชย กาแฟ และพืชผักในแปลงไร่เหล่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นสิทธิในที่ดินทำกินยังเป็นข้อจำกัดต่อการใช้พื้นที่ไร่เหล่ามาใช้ประโยชน์

บทความแนะนำ

ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์