ผศ.ดร.นริศ ยิ้มแย้ม ภาควิชาเกษตรที่สูงและทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มช.
ระบบการทำเกษตรบนที่สูง
รูปแบบการทำเกษตรบนที่สูงเป็นวิถีการทำเกษตรที่แตกต่างตามลักษณะของนิเวศที่ชุมชนชนเผ่าได้อยู่อาศัยและทำกิน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะเช่น
1) ระบบไร่หมุนเวียน หรือ Traditional Shifting Agriculture (Rotational of Upland Rice and Fallows) เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพื่อทำการผลิตในระยะสั้น 1-2 ปี แล้วทิ้งพื้นที่เพื่อให้ดิน พืชพรรณ และสิ่งมีชีวิตๆ ได้ฟื้นตัวจนกลายเป็นป่า ที่เรียกว่าไร่เหล่า (Long fallow) เป็นระยะเวลา 7, 10,12 ปี แล้วจึงกลับมาใช้ที่เดิมอีกครั้ง (Short cultivation and long fallow) จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นบริเวณพื้นที่แหว่งเป็นหย่อมนั้นเป็นแปลงทำเกษตร ส่วนแปลงที่ทึบคือป่าเหล่าบางหมู่บ้านป่าเหล่าจะติดกันเป็นผืนใหญ่ซึ่งเป็นลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันอาจถึง 10 ครอบครัว แต่ถ้าเป็นป่าผืนเล็กๆ แสดงถึงการแยกแปลงเฉพาะซึ่งมี 2-3 ครอบครัวที่ใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน ชนเผ่าพื้นเมืองที่ดำรงวิถีด้วยไร่หมุนเวียน เช่น ปกาเกอะญอ กะเหรี่ยง
2) ระบบไร่เลื่อนลอย Pioneer Shifting Cultivators (Forest encroachers and opium growers) เป็นระบบการทำเกษตรที่ใช้พื้นที่เดิมเป็นเวลานาน จนดินเสื่อมสภาพผลผลิตลดลงไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้วถึงย้ายไปทำในพื้นที่ที่เคยทำมาก่อน หรือบุกเบิกพื้นที่ใหม่ (Long cultivation and long fallow) วิธีการดังกล่าวทำให้ระบบพืชในธรรมชาติไม่สามารถเจริญเติบโตได้ทันกับการฟื้นฟูสภาพโครงสร้างดิน เนื่องจากพืชในป่าจะใช้เวลาเจริญเติบโตอย่างน้อย 3-7 ปีถึงจะออกดอก ออกผล เป็นเมล็ดร่วงหล่นลงดินแล้วเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง แต่การใช้ที่ดินเพื่อทำเกษตรเป็นระยะเวลานานจนดินเสื่อมสภาพไปแล้วทำให้พืชป่าใช้เวลาในการเติบโตนานกว่าปกติ ชนเผ่าพื้นบ้านที่ดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอย เช่น ม้ง เย้า ลีซอ มูเซอและอาข่า
3) ป่าวนเกษตร (Agro-forestry system) เป็นระบบการเกษตรที่ปลูกพืชหลากชนิดที่เลียนแบบธรรมชาติ หรือเอานำเอาพืชพรรณต่างๆ ปลูกแซมในพื้นที่ป่า จึงเป็นระบบที่มีองค์ประกอบของพืชหลากหลายชนิดทั้งไม้ป่า ไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชสมุนไพร ในพื้นที่เดียวอย่างถาวร เช่น การปลูกชา กาแฟ มะแขว่น โกโก้ พลับ อโวคาโด ฯลฯ
ความหลากหลายทางพันธุกรรมในระบบไร่หมุนเวียน
จากการศึกษาระบบไร่หมุนเวียน พบว่า การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้มีการปลูกพืชชนิดเดียว หรือในไร่ข้าวที่ชุมชนเรียกกันก็ไม่ได้มีเพียงแต่ข้าว แต่กลับมีความหลากหลายของชนิดพืชมากกว่า 50 ชนิด ซึ่งทั้งหมดเป็นพืชอาหาร ไม่ว่าพืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด เผือก มัน ผักกาด พริก มะเขือ ขิง ข่า ฟักทอง แตงกวา งา กล้วย ฯลฯ ดังภาพที่ 2 บางครั้งสามารถนำมาเป็นพืชทางเศรษฐกิจได้ เช่น ในปัจจุบันบุกเป็นพืชที่กำลังมาแรงที่เมื่อก่อนไม่มีความสำคัญเป็นเพียงพืชที่ขึ้นในพื้นที่ บุกมี 2 อย่าง คือบุกที่ปลูกในแปลงไร่หมุนเวียนที่นำมากินได้ กับบุกในป่าที่ต้องผ่านกรรมวิธีก่อนถึงจะกินได้
ข้าวไร่ในระบบไร่หมุนเวียน
การทำไร่ข้าวในระบบไร่หมุนเวียนนั้น จะเลือกพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีข้าวกินอย่างเพียงพอ เนื่องจากข้าวแต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน บางสายพันธุ์ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง บางสายพันธุ์ทนต่อโรคและแมลง และการทำไร่ข้าวก็จะผสมผสานสายพันธุ์ในการปลูกทำให้ลักษณะยีนของข้าวเป็นลูกผสม ดังนั้น พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเรียกอย่างเดียวกันอาจมีลักษณะพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังภาพที่ 2 และ 3 เป็นพันธุ์ข้าวบือชอมี และเหมยนอง
สถานการณ์ไร่หมุนเวียนในพื้นที่สูง
การลดเวลาไร่เหล่าลงจาก 6-7 ปีเหลือเพียง 1-2 ปี ส่งผลต่อการฟื้นตัวของพืชหลายชนิดที่ไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เต็มที่ ทำให้ธาตุอาหาร หรือ biomass มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการฟื้นโครงสร้างของดินให้อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นการลดความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ และนี่เป็นปัญหาสำคัญต่อทัศนะความไม่เข้าใจในวิถีระบบไร่หมุนเวียน ดังนั้น แนวทางและการปรับตัวเพื่อฟื้นฟูระบบไร่หมุนเวียน มีดังนี้
- ทำความเข้าใจการจัดการระบบไร่หมุนเวียน การเริ่มทำไร่หมุนเวียนต้องตัดไม้และตากดินให้แห้ง แล้วถึงจะเผาโดยใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ดังนั้นการตัดและถางไม้จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์ แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง จนก่อนสงกรานต์ถึงเผา ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การทำไร่หมุนเวียนทำให้เกิดหมอกควัน จึงกำหนดให้พื้นที่ห้ามเผาไร่ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน บางครั้งถึงเดือนพฤษภาคม การห้ามเผาจากช่วงเวลาเดิม ทำให้ไม้ที่แห้งแล้วถูกฝนตกลงมาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำให้การเผาไหม้เกิดไม่สมบูรณ์จึงเกิดควันในจำนวนมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาวัชพืชเพิ่มขึ้น
- การค้นหาผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เพื่อถอดบทเรียน การทำไร่หมุนเวียนต้องมีการศึกษาและจดบันทึก จัดทำข้อมูลเรื่องระบบไร่หมุนเวียน เพื่อนำมาเผยแพร่สร้างความเข้าใจการผลิตในระบบนี้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกิดจากเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญหรือแกนนำที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความอยากลอง สามารถนำความรู้แนวคิดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสม และสามารถถ่ายทอดหรือสื่อสารให้กับคนอื่นๆ ได้ คนในชุมชนให้ความนับถือ มีความเป็นผู้นำซึ่งอาจเป็นผู้นำธรรมชาติ หัวหน้ากลุ่ม ตัวแทนชาวบ้าน อบต.ฯลฯ
ภาพที่ 4 เกษตรกรแกนนำ หรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องของชุมชน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านชนิดพืช ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่สามารถให้ข้อมูลได้ละเอียดว่า เป็นพืชลักษณะใด เอาไปใช้อย่างไร ออกผลตอนไหน หรือผู้ที่เชี่ยวชาญด้านพืชสมุนไพรก็จะบอกได้ว่า ควรจะเก็บสมุนไพรช่วงไหน ตรงบริเวณไหนของไร่เหล่า พืชตัวไหนนำมาเป็นสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์ได้ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ป่าที่สามารถบอกว่าไม้ชนิดไหนเอาไว้ใช้ทำอะไร หรือทำอุปกรณ์การเกษตรได้ เช่น ทำจอบ หรือวัสดุเกษตรอย่างอื่น หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสีย้อมผ้าก็บอกได้ว่าควรเอาพืช หรือไม้ชนิดไหนนำมาย้อมผ้า และควรนำส่วนไหนมาทำ เป็นต้น
ภาพ 5 แสดงตัวอย่างการเก็บข้อมูลข้าวในไร่ระบบหมุนเวียน เพื่อเป็นข้อมูลความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่สามารถส่งต่อให้กับนักวิทยาศาสตร์ เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมว่าแต่ละสายพันธุ์มีประโยชน์อย่างไร อย่างเช่นข้าวเหนียวดำอาจมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือมีธาตุเหล็ก/สังกะสีมาก เป็นต้น
ที่มาภาพไร่หมุนเวียนจาก : www.sarakadee.com