กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กว่า 65 คน เป็นชาวนาและคนทำงานจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้จำนวน 16 คน เป็นชาวนาและคนทำงานจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานรวมกว่า 43 คน และเป็นคณะทำงานจากส่วนกลางรวมทั้งผู้เข้าร่วมอื่นๆ อีก 6 คน ซึ่งมีเนื้อหากิจกรรมต่างๆ สรุปได้ดังนี้
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551•
อาศรมเรียนรู้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภูมินิเวศยโสธร
พ่อบุญส่ง มาตขาว ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภูมินิเวศยโสธร เป็นตัวแทนกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากภาคใต้ โดยแสดงความยินดีที่พี่น้องชาวนาจากภาคใต้มาเยี่ยมเยือนภาคอีสาน สำหรับพื้นที่ยโสธรก็เป็นภูมินิเวศหนึ่งในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และกิจกรรมที่ได้ทำกันมาก็ถือว่างานพันธุกรรมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องขับ เคลื่อนร่วมกัน เพราะพันธุกรรมเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของวิถีเกษตรกรรมในบ้านเรา ทั้งนี้ งานพันธุกรรมในภาคอีสานแม้ว่าจะมีการดำเนินงานมานับสิบปี แต่ก็เริ่มจะเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนในช่วง 2-3 ปีหลังนี้เอง สำหรับในพื้นที่ยโสธรก็ได้เกิดอาสาสมัครเรื่องพันธุกรรมแล้ว 12 ครอบครัว นอกจากนี้ก็ได้มีการทำงานเยาวชนควบคู่กันไป เพราะมองว่าการสร้างคนที่จะมาสืบทอดวิถีชาวนาเป็นสิ่งที่จำเป็น และพ่อบุญส่งกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ณ ที่แห่งนี้เรียกว่า อาศรมเรียนรู้ของเครือข่ายฯ ถือเป็นที่ทำงานกลางทุ่งนา วันนี้ได้ต้อนรับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ก็เสมือนญาติมิตรมาเยือน ก็รู้สึกยินดีและดีใจ…”
แนะนำตัว…ระดมความคาดหวัง
จากนั้นเวทีเข้าสู่ช่วงของการแนะนำตัวผู้เข้าร่วมทั้งจากภาคใต้และภาคอีสาน โดยชาวนาจากภาคใต้ทุกคนก็รู้สึกดีและประทับใจมากที่ได้เดินทางมาที่นี้ และหลายคนกล่าวตรงกันว่าทันทีที่เข้าเขตยโสธร ได้เห็นรวงข้าวเหลืองอร่ามไปทั้งท้องทุ่งก็อดภูมิใจแทนคนอีสานไม่ได้จนนึก อยากให้ภาคใต้มีข้าวเหลืองอร่ามแบบนี้บ้าง ถัดจากนั้นเป็นการระดมความคาดหวังของการแลกเปลี่ยนดูงานในครั้งร่วมกัน ซึ่งประมวลประเด็นความต้องการในการเรียนรู้ได้ดังนี้
– วิธีการรวบรวมพันธุ์ข้าวและแนวทางการจัดการพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย
– การจัดการผลผลิตข้าว/การแปรรูปข้าว
– การจัดการกลุ่ม/องค์กร ความสามัคคีพร้อมเพรียงของชาวนา
– การทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล
– แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชาวนาอีสาน-ใต้
– การทำงานเยาวชน การสืบทอดวิถีนา และรักษาพื้นที่นาเอาไว้
– การจัดการโรงสีโดยชุมชน
– ฯลฯ
รู้จักเครือข่ายฯ ยโสธรอ้ายดาวเรือง พืชผล เป็นตัวแทนของพื้นที่ยโสธรแนะนำภาพรวม กลไกและประเด็นงานภายในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร (ดูรูปประกอบ)
อ้ายดาวเรืองกล่าวว่าภาพรวมการทำงานในพื้นที่นั้น การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนก็มีฐานพันธุกรรมเป็นหลักเพื่อนำมาสู่การพึ่งตน เองของชาวนา เนื่องจากปัจจุบันพบว่าพันธุกรรมหลายอย่างได้ตกไปอยู่ในมือของบริษัทโดย เฉพาะพันธุ์ผัก พันธุ์พืชไร่ ก็ยังเหลือแต่พันธุ์ข้าวที่ชาวนายังสามารถเก็บเองได้ และผลจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าย้อนไปในปี 2540 พื้นที่นี้มีข้าวหลงเหลืออยู่แค่ 2 พันธุ์ (มะลิ 105 กับ กข.6) ซึ่งเป็นพันธุ์ปรับปรุงที่เน้นขาย แต่มักไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ชาวนาต้องลงทุนในการผลิตสูงมาก ต่างจากข้าวพื้นบ้านที่มีหลากหลายพันธุ์เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไป ตั้งแต่ข้าวเบาในที่สูงที่ดอน ข้าวกลางในที่นา และข้าวหนักในที่ลุ่ม เป็นต้น ทำให้ชาวนามาสรุปกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเรียกพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกลับมาอีกครั้ง
หลังจากก่อเกิดความคิดดังกล่าว ปี 2548 ก็เริ่มต้นรวบรวมคนที่สนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิดช่วยกันทำจนเกิดเป็น “กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์ พัฒนาและปรับปรุงพันธุกรรมพื้นบ้าน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร” จาก 12 ครอบครัว ก็ได้ทำการรวบรวมพันธุ์ข้าวที่หลงเหลืออยู่และไปแลกเปลี่ยนมาจากพื้นที่ อื่นๆ อีกทั้งได้ศึกษาความรู้การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวจากสถานที่ต่างๆ เช่น มูลนิธิข้าวขวัญ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี รวมทั้งนำมาทดลองปฏิบัติในแปลงนา เพื่อให้คนในชุมชนได้เห็นตัวอย่าง ซึ่งอ้ายดาวเรืองได้เล่าถึงเกร็ดเล็กๆ เรื่องหนึ่งให้ฟังว่า
“เคยมีคำถามจากคนในชุมชนว่า พันธุ์ข้าวที่กลุ่มปลูกรักษาพัฒนาขึ้นจะมีคุณภาพดีเท่ากับเขามั้ย..ชาวนาจะ ทำเรื่องพันธุ์เองได้มั้ย..เราก็เลยทำให้ดูเสียเลย”
ผลจากการทำงานที่ผ่านมาจากพันธุ์ที่เคยมีอยู่ใน ชุมชนกว่า 63 พันธุ์ แล้วเหลือเพียง 2 พันธุ์ปัจจุบันกลุ่มได้ทำการรวบรวมและแลกเปลี่ยนเข้ามาปลูกรักษาไว้กว่า 40 สายพันธุ์ รวมทั้งสมาชิกแต่ละครอบครัวก็ได้ปลูกข้าวพื้นบ้านที่สนใจ เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวในระดับแปลง และเพื่อค้นหาสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของครอบครัว
• แปลงอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน พ่อถาวร พิลาน้อย
หลังจากพูดคุยภาพรวมของภูมินิเวศยโสธรแล้ว คณะชาวนาใต้-อีสาน ก็ได้เดินทางไปยังแปลงของพ่อถาวร พิลาน้อย และ บุตรชาย นายแก่นคำกล้า พิลาน้อย บ้านเลขที่ 153 หมู่ 11 บ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร ที่ได้ปลูกข้าวพื้นบ้านและผสมพันธุ์ข้าวขึ้นมากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งพี่น้องชาวนาภาคใต้ต่างก็สนใจลงศึกษาข้อมูลพันธุ์ข้าวที่มีอยู่หลากหลาย กันอย่างเต็มที่
เมื่อพี่น้องเสร็จจากการเดินดูแปลงข้าวก็ได้ชักชวนกันมาพูดคุยถึงแนวคิดการทำงานของครอบครัวพิลาน้อย ซึ่ง พ่อถาวร พิลาน้อย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พ่อถาวรบอกว่า
“เรื่องพันธุ์ข้าวมันเป็น ชีวิตของเรา ข้าวคือชีวิต อย่ามองเป็นการค้า ถ้ามองลึกๆ มันก็เกี่ยวกับระบบทุนที่จะกอบโกยเมล็ดพันธุ์ไปอยู่ในมือเขาทั้งหมด เราต้องตื่นตัวเรื่องนี้ การอนุรักษ์ที่ดีที่สุดคือการปลูกต่อเนื่อง คัดให้พันธุ์มันนิ่ง และปู่ย่าตายายเราก็ได้คัดจนพันธุ์นิ่งมาให้เราแล้ว เราก็เพียงอนุรักษ์ต่อ และเราก็ยังสามารถผสมสายพันธุ์อื่นๆ ได้อีกด้วย”
จุดเริ่มต้นที่ทำให้พ่อถาวรสนใจเรื่องพันธุ์ข้าว เกิดจากช่วงปี 2539 ที่แล้งมากจนไม่ได้ทำนา ก็มาคิดว่าถ้าเราทำอยู่แค่สองพันธุ์ (มะลิ 15 กับ กข.6) ถ้าข้าวไม่พอกินจะทำอย่างไร ก็หวนกลับมาหาสายพันธุ์ข้าวเดิมๆ ที่สอดคล้องกับพื้นที่ในภาคอีสาน และเริ่มเก็บสะสมสายพันธุ์เรื่อยมา รวมทั้งได้ผสมสายพันธุ์ข้าวขึ้นใหม่ 3 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเวสสันตระ ข้าวศรีถาวร ข้าวสูตะบุตร นำไปจดทะเบียนเป็นสาธารณะสมบัติของเกษตรกรทั่วประเทศ ไม่เคยคิดหวงเก็บไว้คนเดียวเหมือนที่บรรดาบริษัทเมล็ดพันธุ์เขาทำกัน ขอแค่ให้มันดีและมีคนเอาไปปลูกเท่านั้นเอง ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงแนวทางในการให้ลูกและครอบครัวมาช่วยกันทำงานอย่างนี้ พ่อถาวร ก็บอกว่าหลักสำคัญคือการใช้ธรรมะเป็นตัวนำ และทำเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นเท่านั้นเอง ซึ่งในประเด็นนี้ น้องแก่นคำกล้าได้เล่าถึงความรู้สึกในการทำงานเรื่องพันธุ์ข้าวให้ฟังว่า
“คนเราเป็นอะไรก็กินข้าว คนทุกคนต้องกินข้าว ข้าวคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้เราอยู่รอด อาชีพชาวนาคืออาชีพที่มั่นคงที่สุด ต่อให้เศรษฐกิจทั้งโลกฟุบหมด เราก็อยู่ได้ ซึ่งความคิดเหล่านี้ผมก็ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในเครือข่าย เกษตรและในเครือข่ายอโศกนั่นเอง”
ทุกวันนี้พ่อถาวรบอกว่ามีความสุขแล้ว มีข้าวปลาอาหารอยู่ในแปลงมากมายไม่ขาดแคลน ช่วยกันทำงานในครอบครัว ครอบครัวก็มีความอบอุ่น และในช่วงท้ายของวงแลกเปลี่ยน น้าพ่วง ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวนาภาคใต้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาพบปะกับครอบครัวพ่อ ถาวรว่า รู้สึกภูมิใจมากและดีใจมากที่ได้มาเห็นของจริง สิ่งที่พ่อถาวรทำเป็นเสมือนความสว่างที่เกิดแก่ชุมชนและสืบทอดมรดกล้ำค่าให้ คนรุ่นหลังสืบไป