โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ความหมายของข้าวใหม่

       ข้าวใหม่ คือข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ๆ มีระยะเวลาไม่เกิน 3-4 เดือน อย่างมีคำเปรียบเปรยสำหรับคู่แต่งงานใหม่ว่าข้าวใหม่ ปลามัน ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด เช่นกันความหมาย “ข้าวใหม่ ปลามัน” สำหรับชาวนาก็หมายถึงช่วงเวลาที่ชาวนามีความสุขที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดจากการตรากตรำทำนามาตั้งแต่ต้นฤดูฝน ผ่านฤดูหนาวจนเก็บเกี่ยวข้าว หากในอดีตแล้วข้าวใหม่ ปลามัน ในพื้นที่นาของภาคกลางจะชัดเจนมาก เพราะปลายฤดูฝนน้ำท่วมขังในที่นาจนถึงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เมื่อน้ำลดจะไหลลงไปยังสระหรือแอ่งน้ำในที่นา ซึ่งเป็นเวลาเกี่ยวข้าวการทำนาจะเสร็จสิ้นในราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม จากนั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวนาได้พักผ่อน และเป็นช่วงข้าวใหม่ ปลามัน เนื่องจากปลาได้กินอาหารที่สมบูรณ์ ส่วนข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ก็มีรสชาติดี หอมและนิ่มที่สุด ความสุขของชาวนา คือการได้กินข้าวใหม่ๆ ปลามันๆ และเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา ตลอดจนไปถึงเดือนเมษายนฉลองสงกรานต์เสร็จชาวนาก็จะเริ่มทำนาอีกครั้ง

      แต่เดิมการทำนาจะทำปีจะครั้ง และเรียกว่า นาปี และข้าวมีความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวที่เรียกกันตามการเจริญเติบโตและการเก็บเกี่ยว คือ ข้าวเบา ข้าวกลาง ข้าวหนัก ซึ่งข้าวเบาเป็นข้าวอายุสั้นระยะการเก็บเกี่ยวไม่เกินเดือนตุลาคม ส่วนข้าวกลางระยะเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน และข้าวหนักเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ชาวนาส่วนใหญ่จะเลือกปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ตามอายุการเจริญเติบโตและตามสภาพพื้นที่เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีข้าวให้กินทั้งปี หลังการเก็บเกี่ยวจึงมีข้าวใหม่และปลามันให้กินอิ่มท้องและมีความสุขร่วมกันทั้งครอบครัวและญาติมิตร

พิธีกรรม นัยยะความหมายข้าวกับวิถีชีวิต

      พิธีกรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ซึ่งทำให้ชีวิตดำรงอยู่ตามประเพณีและวัฒนธรรม ในอดีตมีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวเยอะมาก เช่น ภาคอีสานมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวในแต่ละเดือนที่เรียกกันว่า  “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ซึ่งได้เป็นแกนกลางที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเคารพข้าวที่ไม่ใช่เพียงแค่อาหารเท่านั้น ข้าวจึงมีบทบาทในวิถีชีวิตมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ปัจจุบันพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวสูญหายและลดลงไป แต่ก็พบและมีหลงเหลืออยู่ในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ยกเว้นภาคกลางอาจเนื่องจากเป็นภาคที่รวมแหล่งหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่า มอญ ขอม ไทย จีน ละว้า ฯลฯ พิธีกรรมและวัฒนธรรมจึงหลากหลายไปด้วย

      อย่างไรก็ตาม คนไทยได้ผูกพันกับข้าวมานานแล้ว วัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวในประเทศไทยใกล้ชิดอย่างยิ่งกับวัฒนธรรมข้าวของคนจ้วง มณฑลกวางสี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ถือว่าเป็นคนกลุ่มแรกที่ปลูกข้าว และพัฒนาวิธีการปลูกข้าวในนา ที่เป็นพื้นที่ยกพื้นรอบทั้ง 4 ด้านเพื่อกักน้ำได้ และทำให้วัชพืชไม่ขึ้นรบกวนต้นข้าว รวมทั้งทำให้มีน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ตลอดเวลา คำว่า “นา” เป็นภาษาไทยที่แสดงให้รู้ว่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าว การปลูกข้าวของคนไทยจึงมักปลูกในนา เพราะได้ผลผลิตสูงกว่า สามารถจัดการน้ำได้ และเรียกคนปลูกข้าวว่า “ชาวนา” นาจึงใช้ปลูกข้าวแต่ในปัจจุบันพื้นที่นาถูกนำไปใช้อย่างอื่น เช่น ปลูกแห้ว เลี้ยงกุ้ง แต่ยังคงเรียกว่า นาแห้ว หรือนากุ้ง

      ด้วยเหตุนี้ ข้าว ยังคงผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวนาในบางส่วนถึงแม้ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ยังคงเห็นการเฉลิมฉลองข้าวใหม่ เห็นพิธีกรรมเคารพแม่โพสพ พิธีเอาข้าวเข้ายุ้ง หรือการนำข้าวใหม่ทำบุญเลี้ยงพระ ฯลฯ ที่หลงเหลือหรือมีการฟื้นคืนกลับมา

ข้าวการสูญหายของสายพันธุ์และพิธีกรรม

      หลังการปฏิวัติเขียวในปี 2504 และการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้การปลูกข้าวได้เปลี่ยนไปเป็นปลูกเพื่อการค้า ทำให้เกิดการปลูกข้าวนาปรังหรือการปลูกนอกฤดูทำนาซึ่งต่างจากเดิม และการทำนาปรังต้องอาศัยระบบชลประทาน เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มาก และมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง จึงต้องเร่งการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงยากำจัดวัชพืชและศัตรูพืช การผลิตเช่นนี้ไม่ได้ปลูกไว้กินแต่เป็นการปลูกเพื่อขาย ข้าวพันธุ์ปรับปรุงมักจะมีอายุการปลูกและเก็บเกี่ยวที่แน่ชัด เช่น ปุทมธานี 1 มีอายุ 120 วัน ปลูกวันไหนก็จะมีอายุตามกำหนดซึ่งสามารถนำมาทำนาปรังได้  แต่ถ้าเป็นข้าวพื้นบ้าน เช่น ข้าวมะลิ มักเป็นข้าวไวแสงปลูกเมื่อไหร่มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น “ข้าวใหม่” จึงแถบไม่มีความหมายเพราะสามารถปลูกข้าวได้ทั้งปี เกี่ยวเสร็จก็เข้าโรงสีไปขาย อันเป็นสาเหตุที่พิธีกรรมต่างๆ หายไปหมด สุดท้ายชาวนากลับเป็นหนี้สินจำนวนมหาศาล ชาวนาตกอยู่ในภาวะกระแสการพัฒนาที่ไม่สามารถกำหนดวิถีชีวิตเองได้

ทางฝันวันนี้ของข้าวพื้นบ้านไทย

      ในทางปฏิบัติเพื่อไปสู่คุณค่าและความสำคัญของข้าวพื้นบ้านไทยในโลกยุคใหม่นี้ จำเป็นต้องคำนึง คนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบสานต่อ ประการแรกที่สำคัญ คือต้องเรียนรู้เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ จากคนรุ่นเก่ามาสู่ปัจจุบัน แล้วเลือกว่าส่วนใดเหมาะสมจึงนำมาปฏิบัติพร้อมกับการค้นคว้าศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าข้าวให้มากขึ้น ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นกินข้าวน้อยลงกว่าเดิม จาก 50 กิโลกรัมต่อปีต่อคน เหลือ 20 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ข้าวที่เป็นเมล็ดข้าวกินน้อยลงมาก แต่ชาวนายังสามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัวและจำหน่ายได้ในราคาดี จากการคิดค้นแปรรูปข้าวให้หลากหลาย ทั้งเป็นเครื่องดื่ม เป็นยา หรือทำขนม หรือในประเทศไทยที่นำข้าวมะลิแดงไปตรวจสอบคุณค่าโภชนา และพบว่ามีคุณสมบัติน้ำตาลต่ำ เหมาะกับคนเป็นเบาหวาน และเมื่อนำไปวิจัยเพิ่มพบว่าถ้านำมาทำเซรั่มสำหรับทาหน้าสามารถลดริ้วรอยและรักษาความชุ่มชื้นใบหน้าได้ดี หรือการเพิ่มเรื่องราวของข้าวเข้าไป เช่น ความเป็นมา ความเชื่อ ฯลฯ อย่างเช่น ข้าวปิ่นแก้วที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดข้าวระดับโลก วันนี้มีการนำข้าวปิ่นแก้วมาปลูกแล้ว แต่ต้องค้นคว้าการใช้ประโยชน์เพิ่มเติม เพราะรสชาติข้าวสารอาจไม่อร่อย ไม่หอม หรือการนำเสนอเรื่องราวการบายศรีสู่ขวัญ หรืออื่นๆ เหล่านี้เป็นการเชื่อมโยงอดีตในแง่ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี มาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดการตระหนักและเห็นความสำคัญของข้าวที่เป็นชีวิต มากกว่าเพียงแค่การค้าขาย

      ดังนััน นอกจากการเชื่อมโยงเรื่องราวความเป็นมา ความเชื่อ วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับข้าว การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อยกระดับคุณค่าของข้าว แนวทางปฏิบัติที่สำคัญคือ การฟื้นสายพันธุ์ข้าวที่สูญหายไปท่ามกลางการเกษตรที่เน้นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้คืนกลับมาสู่ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวให้มากที่สุด ภายใต้การรักษาสิ่งแวดล้อม นำเอาภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณีมาเรียนรู้แล้วผสานกับความรู้ใหม่ที่เหมาะสม ต้องกำหนดและสร้างอนาคตของตัวเองให้ได้บนฐานการรักษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าว การรักษาสิ่งแวดล้อมและฐานเกษตรกรรมที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

บทความแนะนำ