คุณศิวกร โอโด่เชา บ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง เชียงใหม่
หลักคิดการจัดการแปลงเกษตร
การจัดการแปลงการผลิตที่ทำอยู่ปัจจุบัน นำใช้หลักการของปกาเกอะญอที่เรียนรู้จากธรรมชาติ ดังเช่นการทำไร่หมุนเวียนที่ต้องมีการพักแปลงเพื่อให้ระบบนิเวศฟื้นตัว 7-10 ปี ที่ผันไปตามสภาพการผลิตในพื้นที่ นอกจากนี้มีการสังเกตธรรมชาติ และใช้หลักการสร้างความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยไม่ต้องเหนื่อยกับการทำปุ๋ย หรือคิดเรื่องการกำจัดแมลง ดังมีคำพูดที่ว่า “ถ้าเรามีผลผลิตหรือมีเมล็ดพันธุ์อยู่ 30 ชนิด แม้ว่าจะแร้นแค้นแต่เราก็จะมีกิน” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายพันธุ์พืชที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการผลิต โดยเฉพาะสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำ การระบาดของโรคและแมลง ผลผลิตในแปลงเกษตรได้รับความเสียหาย
จากการสังเกตธรรมชาติ จะเห็นว่าในระบบธรรมชาติไม่มีพื้นที่ว่างเปล่า ด้วยธรรมชาติมีการทำงานตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดอย่างเช่นจุลินทรีย์ รวมถึงสัตว์ที่หลากหลาย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปกาเกอะญอมีความเชื่อเรื่องขวัญ 37 ขวัญ ด้วยเชื่อว่าสัตว์จะมีส่วนช่วยในการเพาะปลูก ดูแล และสร้างปุ๋ยให้กับธรรมชาติ หรือการทำงานของจุลินทรีย์ที่เริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ในท้องของคนเรา ซึ่งจะสังเกตจากการที่หากมีเด็กเกิดใหม่ก็จะมีการเอาสายรกเอามาผูกต้นไม้ ถ้าสายรกตกลงมาก็จะกลายเป็นจุลินทรีย์ ดังนั้น กล่าวได้ว่าในระบบธรรมชาติจะมีจุลินทรีย์ทำงานย่อยสลายอยู่ตลอดเวลา จากหลักการทำงานของธรรมชาติจึงนำมาปรับใช้ในแปลงการผลิตที่มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ที่ช่วยเป็นแรงงานในการทำปุ๋ย เน้นการปลูกในระบบผสมผสานหลากหลายที่เอื้อให้เกิดนิเวศที่สมดุล เช่น การปลูกกล้วยหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะกล้วยป่าที่สามารถแตกต้นอ่อนตลอดและสามารถให้ผลผลิตต่อเนื่อง มีการปลูกเสริมด้วยไผ่จีนที่ช่วยระเบิดดินและให้ความชื้น ร่วมกับการใช้หลักคิดที่ว่า อยากกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น เช่น หัวเผือก มัน โกโก้ หวาย ชะอม อโวคาโด กาแฟ ฯลฯ ในการจัดการแปลงระบบแบบนี้ พบว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น กาแฟจะเป็นพืชที่อ่อนแอกว่าพืชชนิดอื่นในแปลง การผลิตด้วยเป็นพืชที่มีการเข้าทำลายโรคและแมลงมาก จึงทำให้เรียนรู้ได้ว่า พืชเศรษฐกิจมักจะเป็นพืชที่อ่อนไหวในระบบการผลิตมากกว่าพืชนิดอื่น ทำให้ต้องมีการจัดการดูแลเป็นพิเศษและจำเป็นต้องปลูกร่วมกับพืชพี่เลี้ยงชนิดอื่นไม่ใช่ปลูกลักษณะเชิงเดี่ยว
การจัดการสวนที่ทำอยู่ปัจจุบัน มีความหลากหลายของพืชประมาณ 80 ชนิด จึงทำให้สามารถทยอยเก็บผลผลิตตลอดทั้งปีทั้งฤดูร้อน หนาว และฝน เพราะแต่ละฤดูกาลจะให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน นอกจากการปลูกพืชผักแล้วในแปลงมีการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ข้าว เพื่อให้เข้าถึงอาหารที่หลากหลาย และสามารถนำใช้ประโยชน์เป็นไม้ใช้สอยในครัวเรือนได้ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มส่งผลกระทบในพื้นที่ แต่หากมีการจัดการแปลงการผลิตในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากระบบการผลิตที่หลากหลายช่วยในการกระจายความเสี่ยง นอกจากการนำแนวคิดการจัดการแปลงการผลิตของปกาเกอะญอแล้ว มีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้และทันเท่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้น รวมถึงหลักพิจารณาการเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจที่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพนิเวศ เพื่อให้ชุมชนสามารถเกิดการปรับตัว และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง หรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
หลักคิดการปลูกพืชร่วม
ในการเลือกพืชปลูกในพื้นที่นั้น ควรพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของนิเวศ หรือนิสัยของพืชและไม้ผลชนิดนั้นๆ ตัวอย่างเช่น หากมีการปลูกกาแฟกับพลับอยู่พื้นที่เดียวกัน มักจะเจอปัญหาเรื่องมดมาเกาะที่ต้น เนื่องจากเป็นกลุ่มพืชที่มีผลเป็นรสหวานก็จะล่อมดเข้ามามากขึ้น ดังนั้น อาจต้องเสริมหรือปรับเลือกพืชที่ให้ผลไม่หวาน เช่น อโวคาโด แมคคาดีเมีย หรือ ลูกเนียงที่มีกลิ่นฉุน กล้วยป่า (ช่วยรักษาความชื้นในดิน) ไม้ไผ่ (ช่วยระเบิดดิน) ในการเสริมความหลากหลาย
หลักคิดการพัฒนาแบรนด์กาแฟ
“กาแฟสวนคนขี้เกียจ หรือ Lazy Man Coffee” ได้แนวคิดมาจาก ความเชื่อที่เป็นนิทานในตำนานของคนปกาเกอะญอ ที่หากพิจารณาแล้วก็สอดคล้องกับหลักการทำงานของธรรมชาติที่ว่า ถ้าขยันเกินไปจะทำให้จุลินทรีย์ทำงานไม่ทัน เช่นเดียวกัน คนเรามักเห็นธรรมชาติทำงานแล้ว ไม่มีความสุขคนมักจะรีบไปตัดหญ้า ถางหญ้าแล้วนำไปเผา แต่ถ้าคนเราขี้เกียจบ้างควบคู่กับการสังเกตฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา จะทำให้คนเราทำงานสอดคล้องกับธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นแนวคิดการตั้งแบรนด์กาแฟดังกล่าว เป็นลักษณะการทำงานที่ทำน้อยแต่มาก ช่องทางการตลาดกาแฟจำหน่ายผ่านออนไลน์ และส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ซื้อผลผลิตกาแฟของกลุ่มทุกปี ด้วยได้รับการตอบรับที่ดีทำให้กาแฟเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันทางกลุ่มจึงเริ่มขยายฐานกาแฟเชื่อมกับชุมชนอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อรวบรวมผลผลิตและนำมาแปรรูป โดยเน้นชุมชนที่มีสวนกาแฟที่มีการจัดการแปลงที่ตามวิถีของปกาเกอะญอที่ให้ความสำคัญกับการทำงานของธรรมชาติ
การอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ
การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หรือการทำสวนแบบขี้เกียจนั้นสามารถอยู่ได้จริง โดยจะต้องเรียนรู้และสร้างพื้นที่ให้กับระบบนิเวศ ซึ่งพื้นที่การผลิตเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การจัดการป่าหรือทรัพยากรในพื้นที่จำเป็นต้องช่วยกันดูแลให้เป็นป่าอนุรักษ์ด้วย เป็นพื้นที่สำคัญทางแหล่งอาหาร และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในระบบธรรมชาติ รวมถึงการร่วมขับเคลื่อนเรื่องป่าชุมชนที่แม้ว่ามีการขับเคลื่อนมานาน แต่ทุกวันนี้ยังคงมีการขับเคลื่อนกันอยู่ในหลายพื้นที่ ส่วนเรื่องการทำไร่หมุนเวียนที่มีรอบการพักฟื้นจากปกติอยู่ในช่วง 7-10 ปี ซึ่งถ้าหากครบรอบการพักฟื้นจะเข้าไปจัดการทำการเพาะปลูกที่มีความหลากหลายของผลผลิตที่เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน