1. ชื่อกลุ่ม : กลุ่มผู้ผลิตข้าวพื้นบ้านอาหารปลอดภัย ตำบลบ้านกู่
2. ที่ตั้งและภูมินิเวศ :
2.1 ที่ตั้ง : นาแปลงรวมอยู่ภายในบริเวณแปลงนาของนายบุญมา สุวรรณศรี หมู่ 9 ตำบลบ้านกู่ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม
– สำนักงานชั่วคราวอยู่ในหมู่บ้านป่าตอง ตำบลบ้านกู่ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม
2.2 ลักษณะภูมินิเวศ : ลักษณะพื้นที่ในชุมชนตำบลบ้านกู่ เป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับพื้นที่ดอน ดินมีลักษณะเป็นดินทรายปนร่วนกักเก็บความชื้นได้ไม่ค่อยดี ในการทำนาจะทำได้ปีละ 1 ครั้ง เป็นการทำนาแบบอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
3. ขนาดพื้นที่นาแปลงรวม : 2 ไร่
4. ความเป็นมา : การทำมาหากินของคนในตำบลบ้านกู่ในอดีตจะเน้นไปที่การหากินจากแหล่งอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติและการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน เช่น การหาอาหารจากป่า จากหัวไร่ปลายนา แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น ระบบการเกษตรในสมัยนั้นใช้เพียงปุ๋ยคอกเท่านั้น ทำให้มีอาหารทั้ง ปู ปลา กบ เขียด เต็มนา ส่วนแหล่งน้ำ ถึงมีไม่มากก็มีเพียงพอต่อการเกษตรและเป็นแหล่งอาหาร ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ชุกชุมมาก การหาอาหารในน้ำนั้นง่ายมาก นายใจ เชื้อนิจ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เล่าว่า “แต่ก่อนเวลาไปทำไร่ทำนาจะทำอาหารตอนเที่ยง แบกแหถือสุ่มไปหาไม่นานก็ได้กบ เขียด มาทำอาหารแล้ว ” และคนในสมัยก่อนบริโภคอาหารที่หาได้จากแหล่งธรรมชาติ และทำงานเหมือนการออกกำลังกาย จึงมีสุขภาพที่ดีและอายุยืน
การเปลี่ยนแปลงของชุมชนตำบลบ้านกู่เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2504 เมื่อมีการพัฒนาหมู่บ้าน ขุดลอกลำห้วย หนองน้ำ การปรับเปลี่ยนระบบการผลิต จากเพื่อการบริโภค เป็นการผลิตเพื่อการค้าสร้างรายได้ ขณะที่กระแสการบริโภคและความทันสมัยก็ได้รุกล้ำเข้าสู่หมู่บ้านผ่านสื่อต่างๆ เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น วิถีการบริโภคเป็นไปตามกระแสโฆษณา ฐานการผลิตอาหารและของใช้อยู่นอกชุมชน ทำให้ฐานการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านต้องพึ่งพาระบบตลาดนอกหมู่บ้านมากขึ้น ทั้งรถเร่ซึ่งมีจำนวน 4-5 คัน มีตลาดนัดคลองถม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และร้านค้าในหมู่บ้านที่เริ่มนำอาหารสำเร็จรูปเข้ามาขาย กระแสการบริโภคเหล่านี้มาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของชาวบ้าน จากที่เคยปลูกพืชผักอย่างหลากหลาย และข้าวหลายสายพันธุ์ หันมาปลูกข้าวเพียง 2 สายพันธุ์เพื่อขาย ทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตมากขึ้นเพื่อให้ทันตลาด การพึ่งตนเองในปัจจัยการผลิตลดลง วิถีชีวิตของชาวบ้านกู่มีการพึ่งพาระบบตลาดสูงมาก ทั้งสินค้าในชีวิตประจำวันทุกชนิด และอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าว กับข้าว ผัก ขนม ผลไม้ ซึ่งหลายอย่างเป็นปัจจัยที่เคยผลิตได้เองในหมู่บ้าน และหาได้จากทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ หมู่บ้าน
การผลิตข้าวที่เคยมีหลากหลายสายพันธุ์ มีความหลากหลายทางโภชการ กลายเป็นการเน้นปลูกข้าวเชิงเศรษฐกิจเพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น จากที่เคยบริโภคอาหารตามแหล่งธรรมชาติ และผลิตได้เอง มาเป็นการซื้อจากแหล่งตลาด รถเร่ ซื้ออาหารถุง อาหารสำเร็จรูป ผัก ผลไม้ เป็นต้น ซึ่งต่างก็ไม่ทราบแหล่งที่มาของอาหารเหล่านั้น รวมถึงกระบวนการผลิตว่าเป็นอย่างไร มีความสะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพเพียงพอหรือไม่ สถานการณ์เหล่านี้ ถือเป็นความเสี่ยงและความเปราะบางต่อชุมชนเป็นอย่างมาก แต่เมื่อหันมามองที่ต้นทุนเดิมของชุมชน กลับพบว่าสภาพพื้นที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตพืชอาหาร ปศุสัตว์ ที่เป็นอาหารเพื่อให้เพียงพอในครัวเรือนได้
ประมาณปี พ.ศ. 2552 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.)โหนดเกษตร ได้เข้ามาในชุมชนบ้านป่าตอง ซึ่งเป็นชุมชนในตำบลบ้านกู่ และได้รวมกลุ่มชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพัฒนาโจทย์วิจัย จนได้ประเด็นที่ให้ชาวบ้านศึกษา คือ เรื่องรูปแบบการฟื้นฟูฐานอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในชุมชน กระบวนการศึกษาทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ถึงสถานการณ์ในชุมชน และแนวโน้มของปัญหาที่อาจทบทวีไปเรื่อยๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างตน และในปีต่อมาแกนนำในกลุ่มชาวบ้านป่าตองได้มีการไปเชิญชวนชาวบ้านใกล้เคียงในตำบลเดียวกันที่มีความสนใจในเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชุมชนตัวเอง คือ บ้านหนองหญ้าปล้อง และบ้านกู่ จนเกิดเป็นงานวิจัยฯ ขึ้นหมู่บ้านละ 1 โครงการทำให้ 2 หมู่บ้านนี้ได้เรียนรู้ถึงสถานการณ์ในชุมชนของตนเองเช่นเดียวกัน และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัยฯ ทำให้ชาวบ้านกลุ่มที่เป็นแกนนำของแต่ละหมู่บ้าน หมายถึง แกนนำของชาวบ้านป่าตอง บ้านกู่ และบ้านหนองหญ้าปล้อง ได้ร่วมกันพูดคุยและวางแผนการสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนร่วมกัน โดยเริ่มต้นจากเรื่องการผลิตข้าวพื้นบ้าน เพราะหลังจากการเข้าร่วมโครงการวิจัยฯ ก็ทำให้แกนนำชาวบ้านได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับทางเครือข่ายเกษตรในภาคอีสานและจากนั้นเครือข่ายเกษตรทางเลือกได้มีการส่งเสริมเรื่องการผลิตข้าวพื้นบ้าน ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของข้าวพันธุ์พืชบ้าน ประกอบกับชาวบ้านมีฐานความรู้เดิมและมีทุนเดิมในเรื่องการผลิตข้าวอยู่แล้ว หากเพียงแต่ต้องเพิ่มเติมเรื่องเทคนิคและทักษะอีกบางเรื่องก็จะทำให้การผลิตข้าวของชาวบ้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ชาวบ้านจึงคิดพากันทำกิจกรรมการเพาะปลูกข้าวแปลงรวมขึ้น เพื่อเป็นแปลงอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้เรียนรู้และมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ไว้เลือกปลูกในชุมชน ประมาณก่อนปี พ.ศ. 2553 พ่อสนธิ์ แดนกะไสย ได้เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจากเพื่อนในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในระหว่างช่วงที่ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เครือข่ายฯ จัดขึ้น ปัจจุบันได้รวบรวมข้าวพันธุ์พื้นบ้านไว้ในแปลงเพาะปลูกข้าวของตัวเองได้กว่า 15 สายพันธุ์ คือ 1. ข้าวลืมผัว 2. หอมใบเตย 3. มะลิดำ 4. ก่ำต้นเขียว 5. นางหก 6. ปลาเข็ง 7. อีดอหอม 8. หอมสกล 9. มะลิแดง 10. เหนียวแดง 11. ธัญสริน 12. เจ้าแดง 13. อีเหลืองน้อย 14. หอมนิล และ 15. หอมนางฟ้า และมีพันธุ์ข้าวสายพันธุ์อื่นๆ อีก 10 กว่าสายพันธุ์ที่ทางเครือข่ายฯนำมาให้ปลูกในแปลงรวม โดยกลุ่มได้เริ่มดำเนินการเพาะกล้าแปลงรวมกันในวันที่ 16 มิถุนายน 2557 และต่อมาได้ถอนกล้ามาดำนาแปลงรวมในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมานี้ และจะใช้แปลงรวมเป็นพื้นที่ในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่สมาชิกในกลุ่มต่อไป