โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

            หากเรานึกถึงภาคใต้ ภาพสองข้างทางที่คุ้นตาหลายคนก็คือภาพสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนมะพร้าว พืชเศรษฐกิจที่ชาวใต้นิยมปลูกกัน นอกจากนี้ก็อาจจะมีสวนผลไม้ อย่างทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง อยู่บ้าง  แต่หากพูดถึงข้าว ก็คงยากจะนึกภาพออกว่าภาคใต้นั้นมีการปลูกข้าวอยู่ด้วย เพราะพื้นที่การปลูกข้าวของภาคใต้ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก คนใต้ส่วนใหญ่ต้องซื้อข้าวจากภาคอื่นกินเป็นหลัก

            ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร และข้าวเป็นหนึ่งอาหารที่สำคัญที่คนใต้ควรจะสามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง   รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์   จึงได้ทำการศึกษาวิจัย และพยายามรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมาคัดเลือกพันธุกรรม ให้เหมาะสมกับสภาพระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพของลักษณะดินที่ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย อยู่ติดเขาบ้าง ติดทะเลบ้าง และผลงานวิจัยชิ้นสำคัญล่าสุดของอาจารย์ร่วมจิตรคือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวไร่ให้ปลูกใต้ร่มเงาได้ โดยการใช้พื้นที่ร่วมกับพื้นที่สวนยาง สวนมะพร้าว และสวนปาล์ม พืชเศรษฐกิจหลักของคนใต้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีร่มเงาของต้นไม้หลัก มีแสงเข้าถึงได้น้อย รวมถึงการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่แปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวฝนหนัก เดี๋ยวน้ำท่วม เป็นต้น

            จากการศึกษาและทดลองกับชุมชนในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง  รศ.ดร.ร่วมจิตร ก็พบว่าการปลูกข้าวไร่น่าจะเป็นคำตอบสำหรับอนาคต เพราะข้าวไร่สามารถปลูกได้ในดินทุกสภาพ ทนทุกสภาพอากาศ ปลูกในที่ดอนได้ดี อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ และข้าวไร่ที่รับการคัดพันธุ์มาแล้วบางพันธุ์ก็สามารถปลูกใต้ร่มเงาร่วมกับพืชเศรษฐกิจได้ด้วย

            หลังจากที่ รศ.ดร.ร่วมจิตร ได้ทำการศึกษาวิจัย ทดลอง และลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านในจังหวัดชุมพรเป็นเวลายาวนานหลายปี ตอนนี้ชาวบ้านจังหวัดชุมพรในหลายพื้นที่ไม่เพียงสามารถปลูกข้าวไร่เพียงพอให้ตัวเองกินเท่านั้น แต่ยังสามารถรวมกลุ่มกันผลิตข้าวไร่เพื่อขายให้คนอื่น อีกทั้งยังเรียนรู้ที่จะนำข้าวไร่มาแปรรูป เพิ่มมูลค่า ทำเป็นขนมนานาชนิดได้อีกด้วย

            เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มชาวบ้านได้ชวนเพื่อนในเครือข่ายที่ปลูกข้าวไร่ รวมถึงทำสวน ปลูกพืชผักผสมผสาน มาออกร้าน และร่วมกันเปิดตลาดชุมชนคนข้าวไร่เป็นครั้งแรก ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร

            เป็นตลาดเล็กๆที่มีทั้งข้าวไร่  ซึ่งพันธุ์ที่เป็นที่นิยมปลูก และนิยมกินกันคือพันธุ์ดอกขาม มีทั้งแบบที่เป็นข้าวกล้อง ข้าวสี 1 ครั้ง ข้าวขัดขาว รวมถึงจมูกข้าวที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางอาหาร และรำข้าว ที่พี่สายพิณผู้ขายบอกว่าสามารถนำไปทำขนม หรือนำไปทำเป็นลูกกลอนผสมน้ำผึ้งกินบำรุงสุขภาพ รวมถึงนำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงพืชผักได้  

            นอกจากนี้ก็ยังมีทั้งขนมครกจากข้าวไร่ เต้าฮวยนมสดที่ใช้น้ำนมจากจมูกข้าวมาทำ และขนมขี้มอดที่ทำจากรำข้าวให้เลือกซื้อชิมกัน ที่สนใจคือตลาดนี้ยังมีพืชผัก ผลไม้ นานาชนิด ทั้งของที่เก็บจากธรรมชาติ อย่างหยวกและปลีกกล้วยป่า และพืชผักชาวบ้านที่ปลูกเองแบบไม่ใช้สารเคมี อย่างถั่วฝักยาว มะเขือ พริก ผักเหรียง ผักกูด ถั่วลิสง ฟักทอง  มีเหนงมะพร้าว ซึ่งมาจากกะลาอ่อนๆ ไว้ทำแกงใต้แสนอร่อยให้ซื้อกลับไปแกงกัน  อีกทั้งยังมีผลไม้อย่างกล้วย สละ ที่ตัดมาจากสวนใหม่ ๆ ให้ได้ชิม แถมยังมีห่อหมก ขนมจีน และกับข้าวฝีมือชาวบ้านให้กินกันด้วย

            ตลาดชุมชนคนข้าวไร่แห่งนี้เป็นตลาดเล็ก ๆ ที่อบอุ่น อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม มิตรภาพ  นอกจากเป็นที่จำหน่ายผลผลิตแล้วยังเป็นพื้นที่ในการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของชาวบ้านด้วย บางคนมีองค์ความรู้ มีนวัตกรรมก็ได้นำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง บางคนมีความรู้เรื่องการนวดก็มาช่วยนวดให้เพื่อนที่มาร่วมงาน บางคนมีความรู้เรื่องดูแลสุขภาพ ก็นำมาแบ่งปัน เวลาผ่านไปไม่นาน ทั้งชาวบ้าน นักศึกษา และคนทำงานมากหน้าหลายตาต่างก็แวะเวียนเข้ามาอุดหนุน จนข้าวของที่ชาวบ้านตระเตรียมมาก็ค่อย ๆ หมดลง

            นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่งดงาม และเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่ามีคนในชุมชนจำนวนไม่น้อยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต ที่มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หวังพึ่งพืชเศรษฐกิจที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลาทั้งราคาและปริมาณผลผลิตที่ได้ พวกเขาได้เริ่มลงมือปรับเปลี่ยน หันมาเริ่มปลูกข้าวไร่ บางคนก็ตัดสินใจโค่นยางพาราทิ้ง แล้วทำสวนผสมผสานปลูกผลไม้นานาชนิด ควบคู่กับผักกินได้แทน และเมื่อพวกเขาเริ่มพึ่งตนเองได้ มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพกิน เขาก็เริ่มแบ่งปัน และเชื่อว่าความพยายามในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมถึงวิถีการผลิตของพวกเขา เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามา น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนที่ได้พบเจอ และได้เห็นถึงความเป็นไปได้เช่นกัน

            คงต้องขอขอบคุณทั้งชาวบ้าน รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา ทั้งมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) รวมถึงหน่วยงานอีกหลายหน่วยงาน ที่มีส่วนช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวดีๆแบบนี้

            ใครอยู่ชุมพร พวกเขานัดกันเปิดตลาดชุมชนคนข้าวไร่ทุกวันพุธ ใครสนใจแวะไปเที่ยว และอุดหนุนกันได้นะคะ

บทความแนะนำ