ประวัติความเป็นมา
ข้าวพันธุ์หอมกระดังงา 59 เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีการปลูกในจังหวัดนราธิวาสมาอย่างยาวนานมีลักษณะไวต่อช่วงแสงปลูกในฤดูนาปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ประมาณ 4,000 ไร่ โดยจุดเด่นของข้าวพันธุ์นี้นอกจากจะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกกระดังงา ข้าวกล้องยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ
ในปีพ.ศ.2542 เกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์นี้ได้รวมกลุ่มกันแปรรูปเป็นข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือจําหน่าย โดยกลุ่มผู้ผลิตประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน ตําบลพร่อน อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
2) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกมะม่วง ตําบลพร่อน อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
3) กลุ่มแม่บ้านนารีสามัคคีธรรม ตําบลพร่อน อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
4) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรข้าวบ้านบอฆอ ตําบลโฆษิต อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
5) กลุ่มสตรีข้าวซ้อมมือบ้านตอหลัง ตําบลตันหยงลิมอ อําเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
สืบเนื่องมาจากการสํารวจความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาสเพื่อรองรับการดําเนินงานในโครงการฟื้นฟูนาร้างเพื่อการปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีในปีพ.ศ.2551 ซึ่งพบว่าข้าวพันธุ์หอมกระดังงาเป็นพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพื่อนํามาปลูกมากที่สุด จึงทําให้ในปี พ.ศ.2552 ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีได้เก็บรวบรวมพันธุ์จากแหล่งปลูกต่างๆ ในอําเภอตากใบ ได้แก่ ตําบลพร่อน ศาลาใหม่ บางขุนทองโฆษิต และเจ๊ะเห จํานวน 200 รวง มาปลูกศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝน และโครงการวิจัยการคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ข้าวหอมพันธุ์พื้นเมือง โดยให้รหัสสายพันธุ์ว่า PTNC09002 นํามาปลูกคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) แบบรวงต่อแถวที่ศูนย์วิจัยข้าว ปัตตานีในฤดูนาปี พ.ศ.2552-2553 ปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นต้น (2-row observation) ในฤดูนาปีพ.ศ.2553-2554 และปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นสูง (4-row observation) ในฤดูนาปีพ.ศ.2554-2555 คัดเลือกเหลือเพียงสายพันธุ์ PTNC09002-59 ซึ่งเก็บตัวอย่างมาจากตําบลพร่อน อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส นําไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีในฤดูนาปีพ.ศ.2555-2556 และปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาเกษตรกรที่อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และอําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ประเมินการยอมรับของเกษตรกรต่อลักษณะทางการเกษตร คุณภาพทางกายภาพของเมล็ด และคุณภาพข้าวหุงสุกในฤดูนาปีพ.ศ.2556-2557 โดยข้อมูลการปรับปรุงพันธุ์ที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการขอรับรองพันธุ์ข้าวต่อไปในอนาคต
หน้า: 1 2