โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

กลุ่มเกษตรผสมผสานลุ่มน้ำเสียว ต.กู่กาสิงห์

1. ชื่อกลุ่ม : กลุ่มเกษตรผสมผสานลุ่มน้ำเสียว ต.กู่กาสิงห์

2. ที่ตั้งและภูมินิเวศ

          2.1 ที่ตั้ง: นาแปลงรวมเป็นพื้นที่เก็บอนุรักษ์พันธุ์ข้าว มี 1 แห่ง และสถานที่จัดกิจกรรมกลุ่มอยู่ในพื้นที่นาของนายสุริยา แจ้งสนาม จำนวน 1 ไร่ เลขที่ 209 หมู่ 4 บ้านหนองอีดำ ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์อยู่ในแปลงสมาชิก

          2.2 ลักษณะภูมินิเวศ : ทุ่งที่ราบลุ่ม ดินร่วนปนทราย มีแหล่งน้ำธรรมชาติคือหนองบัว แต่ไม่ได้นำมาใช้ในการเกษตร

3. ขนาดพื้นที่นาแปลงรวม: 1 ไร่

4. ความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์:

          ประมาณปี พ.ศ. 2539 มีกลุ่มนักพัฒนาซึ่งทำงานในพื้นที่ชื่อนายเดชา ลาฮุลี กลุ่มฮักแพงแปงสร้าง ทำงานเรื่องแหล่งอาหารโปรตีน มีการเลี้ยงปลาในกระชังในสระน้ำขุดเองในที่ดินตัวเอง ช่วงนั้นชาวบ้านมีโอกาสไปดูงานการทำเกษตรผสมผสานที่อ.สนม จ.สุรินทร์ ตอนนั้นในชุมชนยังไม่นิยมทำเกษตรแบบผสมผสาน มีอยู่บ้างแต่ไม่กี่ครอบครัว แหล่งอาหารอยู่ตามหนองสาธารณะ แหล่งน้ำธรรมชาติคือหนองบัว มีการปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวเหนียวกข 6 และข้าวสันป่าตอง

          ปี พ.ศ. 2540 พี่น้องทางเขื่อนราษีไศลมีปัญหา ซึ่งเป็นเครือข่ายกันในทุ่งกุลา ทางกลุ่มจึงไปช่วยร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนที่กรุงเทพฯ

          จนกระทั่งปีพ.ศ. 2544 มีเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย จึงมาตั้งเป็นกลุ่มเกษตรผสมผสานลุ่มน้ำเสียว แรกเริ่มมีสมาชิก 13 ครอบครัว จนปี พ.ศ. 2545 มีเข้ามาเพิ่ม 12 ครอบครัว รวมเป็น 25 ครอบครัว รวมกันเพื่อทำเกษตรแบบผสมผสาน ก่อนหน้านี้ในช่วงโครงการฮักแพงฯ ก็พยายามรวมกันเพื่อทำเกษตรผสมผสานแต่ขาดปัจจัยงบประมาณในการทำกิจกรรม และการขุดสระ ปี พ.ศ. 2544 จึงรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อรับการสนับสนุนจากโครงการนำร่องฯ เพราะจำเป็นต้องขุดสระเพื่อให้สมาชิกมีน้ำในการทำการเกษตร

          ช่วงนั้นนายเดชา ลาฮุลี ประสานงานรวบรวมเครือข่ายชาวบ้านในทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ อ.ท่าตูม อ.สุวรรณภูมิ อ.เกษตรวิสัย อ.ปทุมรัตต์ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เพื่อทำโครงการไปรับงบสนับสนุนจากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนในนามเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทุ่งกุลาร้องไห้

          เมื่อได้รับโครงการนำร่องฯ นายเดชาเป็นผู้ประสานงานโครงการ เน้นองค์รวมเกษตรผสมผสานเป็นหลัก ลดละเลิกการใช้ปุ๋ยใช้ยาในการผลิต โดยในปี พ.ศ. 2544-2545 ทำงานวิจัยเรื่องสถานะการคงอยู่และหายไปของข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ศึกษาใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าตูม อ.เกษตรวิสัย อ.สุวรรณภูมิ อ.ปทุมรัตต์ อ.โพนทราย และอ.ราศีไศล ไปค้นหาว่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่อยู่กับใครบ้าง คงเหลือพันธุ์อะไรบ้าง ถามกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ว่าบ้านไหนมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองอยู่บ้าง แล้วทำไมยังทำอยู่ หรือทำไมไม่ทำแล้ว ทำให้กลุ่มได้พันธุ์พื้นเมืองกลับคืนมา เช่น ข้าวหอมนางนวล ข้าวป้องแอ้ว ข้าวสันป่าตอง ข้าวรากไผ่ (ส่วนใหญ่เป็นข้าวดอ ซึ่งหมายถึงข้าวอายุสั้น ใช้ปลูกในนาดอน ต้องการน้ำน้อย) เมื่อได้ข้าวพันธุ์ดังกล่าวมาแล้ว ก็มาทดลองปลูกในแปลงตัวเอง ตอนนั้นยังไม่มีแปลงรวม

          จากนั้นมีงานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมของภาคอีสานที่บ้านดอนแดง จ.มหาสารคามประมาณปี พ.ศ. 2546-2547 ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในภาคอีสานหรือฟื้นคืนพันธุ์ข้าวพื้นเมือง หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มได้พันธุ์มาแล้วมีความกระตือรือร้น เอามาปลูกในพื้นที่ เช่น พันธุ์มะลิแดง มะลิดำ อยากเห็นว่าเป็นอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร มาดูความเหมาะสมกับพื้นที่ตัวเองในด้านความต้านทานโรคภัย และความอร่อย

          เมื่อปลูกแล้วปีแรก ได้มาชิมดูว่ารสชาติเป็นอย่างไร พบว่ารสชาติดี ก็ขยายพื้นที่ปลูก ทางเครือข่ายก็ให้หาตลาด ไม่ใช่อนุรักษ์อย่างเดียวก็ต้องหาตลาดด้วย ช่วงแรกเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่ประสานงานหาข้าวไปขาย เช่น งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ที่กาฬสินธุ์ ก็เอาข้าวทุ่งกุลาไปขาย นอกจากขายแล้วให้เน้นคุณค่าทางโภชนาการด้วย เช่น ข้าวหอมมะลิแดง ลดน้ำตาลในเลือด ที่กาฬสินธุ์เอาคนเป็นเบาหวานมากินข้าวมะลิแดงปรากฎว่าน้ำตาลลด กินแล้วคุยสู่กันฟังว่า “ข้าวมันแซบ” ทางเครือข่ายก็เอาข้อมูลมาให้เกษตรกรได้รู้เพื่อเวลาขายจะได้ประชาสัมพันธ์คุณสมบัติ และได้ไปขายข้าวในงานที่หน่วยงานภาครัฐจัด มีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเข้ามาประสานงานให้เอาผลผลิตไปขายในนามกลุ่ม ส่วนในชุมชนเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่กู่กาสิงห์ กลุ่มสภาวัฒนธรรมซึ่งรับผิดชอบงานท่องเที่ยวร่วมกับเทศบาลจะมาเอาข้าวของกลุ่มไปช่วยประชาสัมพันธ์และขายเป็นของดีทุ่งกุลาร้องไห้

          ประมาณปี พ.ศ. 2552-2553 มีการอบรมการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้บริสุทธิ์ ได้แกะข้าวกล้อง มาเพาะกล้า แล้วไปปักดำในแปลงรวมซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้เอง ซึ่งเป็นแปลงในที่นาของนายสุริยา แจ้งสนาม มีกิจกรรมร่วมกันคือ ตกกล้าเป็นรวง ปักดำ มีการบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ ตัดพันธุ์ปน มีการกำจัดวัชพืช เก็บเกี่ยวร่วมกัน คัดเลือกรวงตามลักษณะที่เกษตรกรต้องการจะทำพันธุ์ต่อไป ส่วนในแปลงสมาชิกมีแปลงพันธุ์ของแต่ละคนต่างหาก

          หลังจากเกษตรกรเอาพันธุ์ข้าวที่กลุ่มอนุรักษ์ไปแล้ว เช่น นายสุริยา มีพันธุ์ของตัวเอง มั่นใจในสายพันธุ์ที่ตัวเองทำ ไม่หลอกตัวเอง เพราะการที่เกษตรกรไปซื้อพันธุ์จากสหกรณ์หรือที่อื่นยังไม่ค่อยได้คุณภาพ แต่เกษตรกรในกลุ่มทำเองมีความมั่นใจมากกว่าซื้อจากแหล่งอื่นซึ่งมีข้าวปน ทำให้รายจ่ายเมล็ดพันธุ์ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ เช่น จากเคยใช้ 100 ลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง ช่วงปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมาทำเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ปริมาณยังไม่เพียงพอในครอบครัวตัวเองและในกลุ่ม เพราะส่วนใหญ่ทำการผลิตข้าวขายเป็นข้าวเปลือกให้โรงสีเป็นหลัก แต่ในปี พ.ศ. 2557 สมาชิกเพิ่มพื้นที่ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวมากขึ้น จึงมีเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงพอสำหรับครอบครัวตัวเองและกลุ่ม เช่น ปี พ.ศ. 2557 พ่อใหญ่สุวรรณ ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ 7 ไร่ โดยเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวจากนาแปลงรวมของปี พ.ศ. 2556 มาปลูกในแปลงตนเองปี พ.ศ. 2557 ผลผลิตออกมาได้คาดว่าปลายปี พ.ศ. 2557 จะได้ไร่ละ 400 กิโลกรัม ก็จะได้ประมาณ 3 ตัน ทำให้เห็นว่าในกลุ่มสมาชิกปี พ.ศ. 2558 จะไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากที่อื่น เช่น สหกรณ์การเกษตรอ.เกษตรวิสัยแล้ว ซึ่งการที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายกลุ่มและสภาพดินฟ้าอากาศว่าเอื้ออำนวยหรือไม่ เป้าหมายที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ ตอนแรกคิดว่าทำยาก ไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมือตัวเอง จึงยังไม่คิดจะทำ แต่เมื่อหน่วยงานสหกรณ์การเกษตร เข้ามาให้บางครอบครัวซึ่งอยู่ในกลุ่มให้ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์หลักส่งให้ ซึ่งเมื่อทำแล้วผ่านมาตรฐานจึงขายให้สหกรณ์ปี พ.ศ. 2555 และขายได้ราคา แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อพันธุ์ของสหกรณ์ ทางเกษตรกรในกลุ่มก็รู้สึกไม่ค่อยยอมรับ และราคาข้าวที่ขายให้โรงสีก็ต่ำ จึงเห็นว่ากลุ่มทำเป็นและสามารถพัฒนาพันธุ์ได้ ข้าวในกลุ่มเมื่อนำไปตรวจสอบแล้วมีคุณภาพกว่าข้าวในท้องตลาด ซึ่งในท้องตลาดยังมีข้าวปน จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มคิดที่จะทำเมล็ดพันธุ์ข้าวขาย

          โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ชาวนาในกลุ่มและชาวบ้านในแถบต.กู่กาสิงห์ได้เข้าร่วมขายข้าวให้โรงสี โดยเหลือไว้กินและทำพันธุ์ข้าวส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าโครงการเพิ่งได้รับเงินจำนำข้าวที่ค้างไว้เมื่อไม่นานมานี้ในราคาต่ำกว่าที่ตกลงไว้ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว กลุ่มฯ และชาวนาส่วนใหญ่ที่กู่กาสิงห์ปลูกข้าวขายโรงสีเป็นหลัก ไม่ได้ทำกลุ่มแปรรูปข้าวเป็นหลัก

          ปี พ.ศ. 2557 กลุ่มวางเป้าหมายว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายในชุมชน เพราะในชุมชนส่วนใหญ่จะทำนาหว่าน ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ กลุ่มมีข้อตกลงร่วมของสมาชิกที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเมื่อ 26 มิถุนายน 2557 ว่า 1) สมาชิกจะทำนาหว่านหรือนาดำก็ได้ แต่ไม่เกินคนละ 10 ไร่ 2) มีการเตรียมดินไถกลบอย่างน้อย 3 ครั้ง 3) ตัดข้าวปนอย่างน้อย 3 ครั้ง 4) ตัดข้าวปนร่วมกันของสมาชิกในกลุ่ม 1 ครั้ง (ในแปลงย่อยจะมีสมาชิกไปช่วย 1 ครั้ง) 5) มีมาตรฐานร่วมกันคือ พันธุ์บริสุทธิ์ 98 เปอร์เซ็นต์ สิ่งเจือปนไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ข้าวแดงข้าวสีดำรวมกันไม่เกิน 5 เมล็ดต่อ 1 กิโลกรัม ความชื้นไม่เกิน 14 เปอร์เซ็นต์ ความงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยินยอมให้กรรมการตรวจแบบสุ่มตรวจมาตรฐานพันธุ์ 1 กิโลกรัม กรรมการตรวจแปลง 2 ครั้งช่วงข้าวกำลังออกรวง ตอนนี้มีสมาชิกผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 13 ครอบครัว สมาชิกทั่วไป 41 ครอบครัว รวม 54 ครอบครัว ซึ่งข้อตกลงนี้ เมื่อสมาชิกนำไปปฏิบัติแล้วก็จะมาสรุปปัญหากันอีกครั้งว่าที่ข้อตกลงดังกล่าวมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร เพื่อให้มีมาตรฐานที่คนในชุมชนไว้ใจได้

5. วัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่ม :

          1. เพื่อให้คนในชุมชนเกิดการอนุรักษ์ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพและมีความภูมิใจในสมบัติทางพันธุกรรมในพื้นที่ เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์จากนโยบายภาครัฐและการตลาด

          2. เพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมชุมชน งานประเพณีในชุมชนก็จะมีข้าวมาเกี่ยวข้องทุกอย่าง เช่น บุญข้าวจี่ บุญกุ้มข้าวใหญ่

          3. เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พันธุกรรมข้าวที่มีอยู่มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพตามความเป็นจริง

          4. เพื่ออนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านให้สืบทอดไปถึงลูกหลาน

6. โครงสร้างกลุ่มและสมาชิก :

          โครงสร้าง                ประธาน                นายสุริยา แจ้งสนาม

                              รองประธาน                นายสุวรรณ บัวกฎ

                              รองประธาน                นายเสรี กลีบแก้ว

                              เลขานุการ                   นางระวี ใจแก้ว

                              เหรัญญิก                       นางอุสมา ก๋าแก้ว

                              กรรมการ                      นางพิทยาภรณ์ อยู่สำโรง

                              กรรมการ                       นายอ่อน ศรีนนท์

                              กรรมการ                      นางบัวพิมพ์ สีแก

          สมาชิก

          หมู่ 1 บ้านคุ้มตะวันรอน

                    1)    นายเสรี กลีบแก้ว  

                    2)    นางพิทยาภรณ์ อยู่สำโรง

                    3)    นายอ๊อด นามหงษา

                    4)    นางทองลิ้ม จาบทอง

                    5)    นายอ่อน ศรีนนท์

                    6)    นายสุนันท์ สายสุข

                    7)    นายสุภาพ สายสุข

                    8)    นายสวาสดิ์ แสงงาม

                    9)    นางใจ เจริญภักดิ์

                    10)  นายสุวรรณ บัวกฎ

                    11)  นางสาวลอง สมสีใส

                    12)  นางคำจร อาจหนองหว้า

                    13)  นางหลุน สีแก

                    14)  นางมูล ขาวงาม

                    15)  นางละมุล ตรีคาม

                    16)  นางลอง อาจหนองหว้า

                    17)  นางละวี ใจแก้ว

                    18)  นางบัวศรี จันทะคาม

                    19)  นางเพ็ญจันทร์ จุลเหลา

                    20)  นางสุทิพย์ ลุนภูงา

                    21)  นางประดิษฐ์ วาสนาม

                    22)  นางนาง แจ้งสนาม                    

                    23)  นายประสิทธิ หาญตับเหล็ก

          หมู่ 2 บ้านหนองเมืองแสน

                    1)    นายสุริยา แจ้งสนาม

                    2)    นางบัวพิมพ์ สีแก

                    3)    นางมณีรัตน์ พลอาสา

                    4)    นางอุทัย รัตนสังข์

                    5)    นางเสงี่ยม แสงสงค์

                    6)    นางลออ จาบทอง

                    7)    นางต่อม แจ้งสนาม

                    8)    นางบุญ บุญทัน

                    9)    นางบังอร โกฏแสน

                    10)  นางสงวน สูงพล

                    11)  นางหนูพุ่ม ผุดบัวดง

                    12)  นางแสงอาทิตย์ นุเสน

                    13)  นางญุ่น ผารัตน์

                    14)  นายวิไล สูงพล

          หมู่ 3 บ้านบูรพากู่น้อย

                    1)    นางอุสมา ก๋าแก้ว

          หมู่ 4 บ้านหนองอีดำ

                    1)    นายเสรี กลีบแก้ว

                    2)    นายคำภา คันทัพไทย

                    3)    นางเนียน พิศวงค์

                    4)    นางวันเพ็ญ คชสีห์

                    5)    นางสุดีย์ จันทะบุดศรี

                    6)    นางสอน นามเขต

                    7)    นายสุพจน์ ภูสนาม

                    8)    นายวิรุฬ ภูสนาม

                    9)    นายอำพร ศรีสัจจา

          หมู่ 9 บ้านหนองสิม

                    1)    นางนวย สัมฤทธิ์

                    2)    นายเหมือน พาพานต์

                    3)    นายวันดี ลานรอบ

                    4)    นางเกี้ยว ประทุม

                    5)    นายอนันต์ ภาชนะวรรณ

                    6)    นางสาวบุญสี สีหาวงษ์

          หมู่ 10 บ้านหนองอ้อ

                    1) นายศูนย์ สีหาวงษ์

7. กิจกรรมของกลุ่ม :

          1. ประชุมตามวาระที่มีกิจกรรมหรือสถานการณ์เร่งด่วน

          2. เป็นฐานเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

          3. ทำแปลงเกษตรผสมผสานและมีแปลงตัวอย่าง

          4. รวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน

          5. พัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมข้าว

          4. ประเมินเพื่อค้นหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่

          5. บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว

          6. รณรงค์เผยแพร่

                    6.1 ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวรับทราบโดยการขายข้าวและผลผลิตทางการเกษตรที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ปางกู่ บ้านบูรพากู่น้อย ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย

                    6.2 ประชาสัมพันธ์ในงานบุญชุมชน (งานบุญเดือนสาม/บุญกุ้มข้าวใหญ่/บุญกุ้มข้าวจี่)

                    6.2 ประชาสัมพันธ์ในงานระดับอำเภอ เช่น งานบุญกุ้มข้าวใหญ่(บุญคุนลาน) โดยไปออกร้านขายสินค้า นิทรรศการของกลุ่ม และแสดงพันธุ์ข้าวของชุมชน ให้ความรู้เรื่องข้าว

          7. งานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมภาคอีสาน

          8. ขยายเครือข่ายการพัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกรมการข้าว

          9. งานนโยบาย ร่วมคัดค้านนโยบายการค้าเสรี ผลักดันนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน และผลักดันให้มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย 4 ชนิด และคัดค้านเรื่องสิทธิพันธุ์ข้าว อนุสัญญายูปอฟ รวมถึงติดตามนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

          10. จัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมเรื่องต่างๆ อาทิ ทำปุ๋ยหมัก ทำสมุนไพรไล่แมลง ฮอร์โมนไข่ น้ำหมักชีวภาพ เรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน การปรับปรุงดิน การปลูกแตงโมปลอดสารพิษ

8. ผู้รับผิดชอบ/ผู้ประสานงาน :

          1. นายสุริยา แจ้งสนาม บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 2 บ้านหนองเมืองแสน ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 086-0730823

          2. นายสุวรรณ บัวกฎ บ้านเลขที่ 158 หมู่ที่ 1 บ้านคุ้มตะวันรอน ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 080-1883548

9.ผู้ให้ความรู้/ผู้สื่อสารเรื่องราวภายในกลุ่ม :

          1. นางเที่ยง ลานรอบ  การแปรรูปและช่องทางการตลาดผักและข้าว

          2. นายสุวรรณ บัวกฎ  วัฒนธรรมชุมชนในด้านการผลิตข้าว วิถีชีวิตการทำนา และพันธุกรรมข้าว

          3. นายศูนย์ สีหาวงษ์   การทำปุ๋ยชีวภาพ

          4. นายสุริยา แจ้งสนาม            การทำเกษตรผสมผสาน การทำน้ำหมัก และการปรับปรุงดิน

          5. นางสุภามาส แจ้งสนาม        พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

10. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน :

          1. สมาชิกยังไม่ให้ความสำคัญในการนำข้าวไปพัฒนาพันธุ์ ส่วนมากเอาไปปลูกทำพันธุ์ให้ตัวเองปลูกปีต่อไป ทำให้การพัฒนาพันธุ์ข้าวไม่ต่อเนื่อง การที่จะผลิตข้าวพันธุ์ขายให้กลุ่มและชุมชนจึงต้องกระตุ้นให้สมาชิกทำให้ต่อเนื่อง

          2. สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคน ลูกหลานไม่สืบทอด เช่น พ่อสุวรรณอายุ 60 ปีกว่าแล้ว ถ้าลูกไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาพันธุ์ข้าวก็จะไม่มีคนสืบทอด คือหมายความว่าเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นและยังคงเป็นเกษตรกรแต่ไม่เอาแนวคิดวิธีการแบบนี้ไปปฏิบัติ

          3. ไม่มีคนในชุมชนสนใจที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ทำให้ไม่มีสมาชิกเพิ่ม (แต่มีคนส่วนหนึ่งในชุมชนที่พัฒนาพันธุ์โดยภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ใช้เอง มีกลุ่มของเกษตรตำบลที่รับพันธุ์ข้าวจากเกษตรตำบล แต่เทคนิค ไม่ใช่เทคนิคแบบดำต้นเดียว-ตกกล้าเป็นรวง)

          4. ไม่มีฝ่ายการตลาดข้าวแปรรูป จึงไม่ได้ทำข้าวแปรรูปแล้ว

11. แนวทางการทำงานและทิศทางการทำงาน/ความต้องการการสนับสนุนจากภายนอก

          1. เครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์

          2. ต้องการเครื่องชั่งแบบแท่นชั่ง (ตาชั่งเหล็กอ่านลูกตุ้ม) ปัจจุบันใช้เครื่องชั่งแบบสปริง (ตาชั่งหน้าปัด 60 กิโลกรัม)

12. ความโดดเด่น :

          กลุ่มเกษตรผสมผสานลุ่มน้ำเสียว ตำบลกู่กาสิงห์ เป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับชุมชน เป็นฐานการเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศเกษตร และมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน

บทความแนะนำ