โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

“ผมเองเป็นเจ้าของสวนก็ได้กินผักปลอดสารพิษในสวนทุกวัน ได้รับอากาศบริสุทธิ์จากสวนตัวเองทุกวัน ทำให้ร่างกาย-จิตใจเราดีขึ้น ปลูกพืชพรรณที่ขายได้ เช่น หน่อไม้ไผ่เลี้ยงหวาน ผักกูด ซึ่งเป็นผักเศรษฐกิจที่สามารถส่งขายตลาดได้”

คำพูดข้างต้นเป็นของ “อุทิศ พรมสมปาน” แห่งไร่วุฒิภัทร ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา อันเป็นสถานที่จัดงานที่ชื่อ ““ป่าเรียน ป่าเย็น” ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่่ 1” ระหว่าง 22-23 กรกฎาคม 2567 โดยที่ในงานวันแรกมีวงเสวนาภายใต้หัวข้อ “ป่าเรียน ป่าเย็น” ซึ่งมีสาระน่าสนใจหลายประเด็น

ทางเพจสวนผักฯ จึงตั้งใจที่จะทยอยนำเสนอสิ่งที่วิทยากรแต่ละคนได้อภิปรายไว้ในเวทีดังกล่าว ชิ้นแรกนี้เริ่มด้วย “อุทิศ พรมสมปาน” ในฐานะเจ้าของสถานที่และผู้ร่วมจัดงาน

สถานการณ์ปัญหาของ “ป่าเรียน”

อุทิศเริ่มด้วยการเล่าว่า กว่าจะจัดงาน ป่าเรียน ป่าเย็นฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย เกิดจากสถานการณ์สองเรื่องได้มาบรรจบกัน ด้านหนึ่งคือสถานการณ์ในพื้นที่ตำบลวังใหญ่ (บ้านใหม่ บ้านควนหมาก บ้านโหล๊ะบอน บ้านคลองยอ บ้านพรุกง และบริเวณใกล้เคียง) ที่ทุเรียนพันธุ์หมอนทองกำลังเข้าแทนที่ทุเรียนบ้าน ส่วนอีกสถานการณ์มาจากการที่คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนมีประเด็นที่กำลังขับเคลื่อนในพื้นที่ 5 เรื่อง ได้แก่ การท่องเที่ยวชุมชน ผักปลอดภัย สมุนไพร โซลาเซลล์ และพันธุกรรมท้องถิ่น

“ได้เลือกเรื่องพันธุกรรมท้องถิ่นของทุเรียนบ้านมาสื่อสาร เพราะเห็นว่าทุเรียนบ้านกำลังจะสูญหาย จึงได้จัดงานเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นขึ้นมา ปีนี้จะเป็นปีแรก แม้มีคนเข้าร่วมไม่มาก ก็ดีใจและภูมิใจ ปีหน้าก็จะขับเคลื่อนเรื่องทุเรียนบ้านต่อไป”

อุทิศขยายความถึงสถานการณ์ปัญหาในส่วนแรกอีกว่า “ในวันนี้ทุเรียนพันธุ์เข้ามาครอบงำพื้นที่การปลูกหมดแล้ว ทุเรียนบ้านกำลังจะหายไป ตัวอย่างเช่นพื้นที่บ้านเรา บางสวนโค่นทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ไม่คิดถึงอนาคตข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นคนที่มีทุเรียนบ้านควรอนุรักษ์ไว้”

ชวนอนุรักษ์มรดกจากบรรพบุรุษ

สำหรับความผูกพันของตัวเขาเองกับทุเรียนบ้าน อุทิศเล่าถึงความเป็นมาแต่วัยเด็กจนถึงวันที่ลุกขึ้นมาสร้าง “ป่าเรียน” ว่า “ผมมีทุเรียนบ้านสมัยที่พ่อสร้างไว้ 2 ต้น พอได้กินแล้วรสชาติดี รู้สึกว่าอยากส่งต่อ ผมจึงเอาต้นพันธุ์ขยายพันธุ์ต่อ ตั้งชื่อ 2 ต้นดั้งเดิมนี้ว่า ไอ้แจ้ ไอ้เขียว วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนพื้นที่คือ ถือทุเรียนออกมาจากป่า กินเสร็จก็ขว้างเมล็ดทิ้งไว้ เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า ค่อยๆ เจริญเติบโต”

จากนั้นจึงอธิบายถึงคุณูปการของ “ป่าเรียน” ทั้งในเชิงรูปธรรมปัจจุบันและการตอบสนองแนวโน้มในอนาคต ว่า

“ในป่าเรียนเป็นพื้นที่ที่มีพืชอาหารผสมผสานอยู่ในสวน และสามารถสร้างรายได้อีกด้วย มีพืชสมุนไพร เช่น ข่า ขิง ส้มแขก ชะมวง พริกไทย เราแทบไม่ต้องไปกังวลเรื่องอาหารการกิน เวลาจะทำอาหารก็สามารถลงไปเก็บหาได้เลย เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร สามารถลดรายจ่าย สร้างรายได้ในครัวเรือน

“ป่าเรียนจะช่วยลดภาวะโลกร้อนและสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารได้มาก สมมุติว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต เราจะพบว่าเรามีพืชอาหารครบทุกอย่างในป่าเรียน เช่น ผักกูด ผักเหรียง ผักหนาม ปลาในลำคลอง มีบ่อปลาในสวน มีพืชทุกอย่างที่เราปลูกในพื้นที่ของเรา”

“ฉะนั้นพ่อแม่พี่น้องที่มาในงานวันนี้ และมีสวนในลักษณะนี้ สามารถกลับไปพัฒนาสวนของตนเองให้มีความมั่นคงทางอาหารได้ เชื่อว่าทุกสวนสามารถคิดพัฒนาสวนของตนเองให้มีความมั่นคงทางอาหารของตนเองได้ทุกสวน”

เชื่อมั่นว่ายังไม่สายที่จะกลับตัว

อุทิศย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ เรื่องที่เป็นห่วงก็คือการไม่เห็นความสำคัญของต้นทุเรียนบ้าน “บางสวนโค่นทิ้งเสียหมด คิดถึงแต่การปลูกหมอนทอง หลายสวนโค่นทิ้ง ขายไม้ทุเรียนอายุต้นนับร้อยปี แม้จะมีความรู้สึกเสียดายบ้าง”

อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่า หากจะเริ่มต้นหันกลับมาอนุรักษ์ต้นทุเรียนบ้านและสร้าง “ป่าเรียน” ในวันนี้ก็ยังไม่สาย “เพราะอย่างน้อยเราก็ยังมีต้นเล็กๆ อยู่ ดูแลต่อไปให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ของเราให้ได้ พื้นที่แถวนี้มีสายน้ำของน้ำตกเขาสูงคอยหล่อเลี้ยง ไม่เคยแห้งแล้ง ฉะนั้นพี่น้องที่มีพื้นดินติดริมคลองสามารถปลูกทุเรียนบ้านได้ ทั้งหมดของพื้นที่ริมคลองสองข้าง แนวทางในอนาคตคิดว่าพ่อแม่เราคิดไกลแล้วว่าพืชกลุ่มไหนอายุยืน เป็นพืชอายุยืนและยั่งยืน และให้ผลผลิตได้ในระยะยาว เช่น ทุเรียนบ้าน สะตอ มะพร้าว หมาก พืชเหล่านี้สามารถมีอายุได้ถึงร้อยปี

“ฉะนั้นเราอย่าไปหลงประเด็นว่าเราปลูกทุเรียนพันธุ์แล้วเราจะรวย มันไม่เสมอไป เพราะต้นทุนสูง มั่นใจได้เลยว่า หากเราปลูกป่าเรียนบ้าน ไม่มีสารเคมี วันนี้ยังไม่สายที่จะกลับมาขับเคลื่อนพันธุกรรมท้องถิ่นเรื่องป่าเรียน เพราะเรายังมีต้นพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนพันธุกรรมในพื้นที่ที่มีอยู่”

ยังไม่สายที่จะเริ่มต้น แต่ก่อนอื่น…ดูเหมือนต้องเริ่มจากการกลับใจก่อน

 

บทความแนะนำ