กลุ่มบ้านนา ทุ่งกุลา (โรงเรียนใต้ต้นตะขบ)
1. ชื่อกลุ่ม : กลุ่มบ้านนา ทุ่งกุลา (โรงเรียนใต้ต้นตะขบ)
2. ที่ตั้งและภูมินิเวศ
2.1 ที่ตั้ง: นาแปลงรวมเป็นพื้นที่อนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว มี 2 แห่ง
1) ในพื้นที่นาของนางสาวทองทิพย์ ภูมิวงศ์ จำนวน 2 งาน เลขที่ 102 หมู่ 10 บ้านสังข์ใหญ่ ต.ทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
2) ในพื้นที่ของครูโรงเรียนบ้านร้านหญ้า จำนวน 4 ไร่ อยู่ติดโรงเรียนบ้านร้านหญ้า หมู่ 3 บ้านร้านหญ้า ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่เรียนรู้การทำนาอินทรีย์ของชุมชนบ้านร้านหญ้าและเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านร้านหญ้า
2.2 ลักษณะภูมินิเวศ :
– แปลงที่ 1 ต.ทุ่งกุลา เป็นทุ่งราบ ดินเหนียวปนทราย
– แปลงที่ 2 ต.ทุ่งหลวง เป็นทุ่งทาม น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลากบางปี
3. ขนาดพื้นที่นาแปลงรวม: 4 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นแปลงที่ 1 จำนวน 2 งาน แปลงที่ 2 จำนวน 4 ไร่
4. ความเป็นมา :
ชุมชนบ้านจานเตย เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นตำบลขนาดกลาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ดประมาณ 80 กิโลเมตร มีพื้นที่อาณาเขตติดแม่น้ำมูน ใจกลางผืนแผ่นดินทุ่งกุลา ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีที่ดินทำกินของครอบครัวต่อครัวเรือนจำนวนเฉลี่ย 30 ไร่ ที่นี้จึงเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดีที่ขึ้นชื่อและยังผลิตข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกด้วย
ดินแดนทุ่งกุลาซึ่งเดิมได้ชื่อว่าแห้งแล้ง เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความสนใจของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชน ในปี พ.ศ. 2530 สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้เข้ามาทำงานในพื้นที่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมสร้างรายได้หลังจากว่างจากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก จากการประชาคมหมู่บ้านทำให้ได้ข้อสรุปว่าชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ และสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะเป็นฝ่ายการตลาดให้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้เข้ามาอบรมเทคนิคการย้อมแบบต่างๆให้ ชาวบ้านในตำบลทุ่งกุลา 3 หมู่บ้านได้ทอผ้าฝ้ายร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นต้นมา
มีการทำเกษตรผสมผสานร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากนั้นสมาชิกกลุ่มที่เหลือกับสมาชิกใหม่ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยภูมินิเวศทุ่งกุลาร้องไห้ในปี พ.ศ. 2544 มีการส่งเสริมปัจจัยการผลิตในแบบการให้กู้ยืมเงินและสนับสนุนเงินส่วนหนึ่ง เช่น การขุดสระน้ำ การล้อมรั้ว การทำปศุสัตว์ การสร้างแนวคิดเกษตรอินทรีย์ในกลุ่ม และการส่งเสริมการทำงานกลุ่ม มีการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องเกษตร เช่น การปลูกไผ่ร่วมกัน จากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2549 กลุ่มได้ไปศึกษาดูงานเรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านที่อ.กุดชุม จ.ยโสธร และที่จ.อุบลราชธานี ในเรื่องต่างๆ เช่น การผสมพันธุ์ข้าว การบำรุงดิน การปลูกพืชหลังนา การทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น
หลังจากกลับมาจากยโสธรและอุบลราชธานี บางคนในกลุ่มอยากทำงานเรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 ไม่มีกิจกรรมกลุ่มเพราะปิดโครงการนำร่องฯ แล้ว นางสาวทองทิพย์ ภูมิวงศ์ ซึ่งเป็นลูกสาวของกรรมการโครงการนำร่องฯ ยังมีความสนใจเรื่องพันธุกรรมและด้วยหน้าที่การงานที่เป็นครูผู้จัดกระบวนการที่โรงเรียนชุมชนชาวนาบ้านปลาบู่ ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม มีโอกาสไปงานพันธุกรรมในนามเจ้าหน้าที่โรงเรียนชุมชนชาวนาบ่อย จึงเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชพื้นบ้านทั้งข้าว ผัก สมุนไพร มาปลูกในแปลงส่วนตัวและแบ่งปันให้สมาชิกในกลุ่มและเพื่อนบ้านที่ต้องการในช่วงกลับมาเยี่ยมบ้าน
เมื่อปี พ.ศ. 2551 นางสาวทองทิพย์ลาออกจากงานประจำ เนื่องจากมีแนวคิดว่าคนเราเกิดมาจะเอาอะไรมากมายกับชีวิต น่าจะเพียงพอแค่ กินอิ่ม นอนหลับ จึงไม่คิดจะทำงานประจำอีกแล้ว และประกอบกับอยากมีเวลาอยู่กับตัวเอง ไปวัด เนื่องจากตนเองสนใจธรรมะ ตนมีที่นา 1 แปลง จำนวน 8 ไร่ ที่แม่ยกให้เป็นของขวัญแต่งงาน กลับมาช่วงแรกมีแนวคิดเกษตรอินทรีย์ เริ่มปลูกผักบุ้งส่งร้านก๋วยเตี๋ยวละแวกบ้าน ชาวบ้านก็จะมีคำถามว่าทำไมจบปริญญาตรีแล้วกลับมาทำเกษตรที่บ้าน ไม่ทำงานประจำ เกิดความกดดันจึงย้ายมาอยู่ที่แปลงนาแทนบ้านในชุมชน ปลูกผักบุ้งเป็นหลักส่งร้านก๋วยเตี๋ยว ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วงอก งา มัน และได้ย่ำดินสำหรับทำบ้านดิน เริ่มฝันที่จะทำที่นาส่วนตัวให้เกิดแปลงเรียนรู้ภายในระยะ 10 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ปีแรกทำแปลงตนเองให้เป็นรูปธรรม 3 ปีต่อมาให้เป็นการทำงานกับกลุ่ม และอีก 4 ปีให้เป็นการพัฒนากลุ่ม เป็นภาพในอนาคตที่มีคนมาร่วมกิจกรรมในแปลงนาอย่างมีความสุข เช่น มีบ้านพัก มีแปลงผัก มีห้องสมุด เป็นต้น
ประมาณปี พ.ศ. 2552 ทำกิจกรรมกับเด็ก ชวนเด็กมาถักโครเชต์ ให้เด็กเล่นแบดมินตัน สอนการบ้านให้ฟรี ให้อ่านหนังสือและทำกิจกรรมในแปลง เช่น ขุดแย้ งมหอย หาปลา ทำกับข้าวกินร่วมกัน โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนและไม่ได้ใช้งบประมาณมากเพราะให้เด็กห่อข้าวมากิน ในงานด้านเกษตรก็ได้ไปช่วยงานนอกพื้นที่เรื่องการจัดตั้งกลุ่มเกษตร ให้เด็กมาเรียนรู้เกษตรที่บ้านหนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ไปวัดป่าโสมพนัสเพื่อปฏิบัติธรรม ช่วงนั้นสมาชิกกลุ่มก็ยังไม่ได้มารวมกลุ่มกันทำอะไร
ปี พ.ศ. 2553 ผอ.โรงเรียนบ้านฮ่องสังข์ ต.ทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ได้มาชวนไปเป็นครูอัตราจ้างเนื่องจากเห็นตนทำกิจกรรมกับเด็ก และมีเด็กๆ มาร่วมกิจกรรม เริ่มเห็นว่าการทำงานในระบบจะทำให้ทำงานพัฒนาในพื้นที่ตนเองได้รับการยอมรับ จึงไปเป็นครูประจำชั้น ป.4 และเริ่มเอากระบวนการพัฒนาไปใช้ในโรงเรียน เช่น ก่อนเริ่มเรียนให้เล่นเกม ทำกิจกรรม ผอ.เห็นว่าตนชอบปลูกผัก ก็ให้ชวนเด็กปลูกผัก โดยให้เด็กเอาพันธุ์จากที่บ้านมาปลูกในโรงเรียน ก็ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องพันธุ์ต่างๆ เช่น มัน ผัก และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ ถามจากเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมด้วยกัน ได้ให้เด็กทำสมุดบันทึกเล่มเล็กเรื่องพันธุ์ผักพันธุ์มันในต.ทุ่งกุลา ให้แลกเปลี่ยนกันระหว่างครูกับเด็ก
จากนั้นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานได้ประสานงานเพื่อจะจัดงานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลา จึงเลือกให้จัดตรงกับงานบุญข้าวจี่ที่วัดบ้านจานเตยในเดือนพฤษภาคม 2553 ตนได้พาเด็กนักเรียนในชั้นไปร่วมเรียนรู้ ความเป็นกลุ่มเกษตรในโครงการนำร่องฯ ก็เสมือนกลับมาพบกันอีกครั้ง ในงานแลกเปลี่ยนพันธุกรรม ชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนพันธุกรรม ได้นำพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านจากงานนี้มาปลูกในแปลงตนเอง
หลังจากงานครั้งนั้น นางสาวทองทิพย์รู้สึกว่าชาวบ้านมีความสุขจากการมาคุยและแลกเปลี่ยนกันในเรื่องพันธุกรรม และกิจกรรมกลุ่ม จึงเกิดความคิดที่จะรวมกลุ่มชาวบ้านกลับคืนมาดีหรือไม่ จึงไปถามประวัติความเป็นมาและการบริหารจัดการกลุ่มจากแม่ซึ่งเคยเป็นกรรมการโครงการนำร่องฯ พบว่าต้องมีงบประมาณในการบริหารจัดการกลุ่ม เช่น จ่ายค่าเดินทาง ซึ่งตนเองไม่มี จึงตัดสินใจทำงานกับกลุ่มเด็กต่อซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณอะไร เพราะให้เด็กห่อข้าวห่อน้ำมาเอง แล้วพาเด็กไปเยี่ยมสมาชิกกลุ่ม พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบเรื่องการทำมาหากิน มีการขอพันธุ์ผัก พันธุ์พืชไปปลูกต่อที่บ้าน ซึ่งพันธุ์เหล่านั้นมีอยู่ในพื้นที่และก็ได้มาจากการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันกับญาติมิตร คนที่เป็นสมาชิกกลุ่มนำร่องฯ เดิมก็มีคำถามว่ากลุ่มจะเดินต่อไปอย่างไร สมาชิกใหม่ เช่น ยายบัวไข ซึ่งขายของที่ตลาดนัดได้แลกเปลี่ยนพันธุ์กับตน จึงถามไปว่าถ้าจะทำกลุ่มจะร่วมหรือไม่ คนที่ตลาดก็อยากจะร่วม
ปี พ.ศ. 2554 มีการประชุมกลุ่มเรื่องพันธุกรรมข้าว จึงเสนอโครงการค้นหาพันธุ์ข้าวก่ำที่เหมาะสมกับพื้นที่บ้านจานเตย กลุ่มจึงได้กลับมาทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง มีการเยี่ยมแปลง ศึกษาดูงาน เริ่มนำข้าวพันธุ์หลากหลายจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานมาปลูก ไม่เฉพาะแปลงของนางสาวทองทิพย์ เกิดแปลงนารวม (แปลงทดลอง) โดยใช้ที่นาของนางสาวจำปี เหลาพิมพ์ มีการเรียนรู้เรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน เช่น การตกกล้า ตัดข้าวปน การบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ การผสมพันธุ์ เทคนิคการทำนาให้ได้ผลผลิตสูง การคัดเลือกพันธุ์ เป็นต้น
แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปยังสมาชิกกลุ่มอย่างทั่วถึง เพียงแต่แกนนำสามารถชวนชาวบ้านทำกิจกรรมได้ และในเวลานั้นส.ป.ก.ร้อยเอ็ด และกรมการข้าวเข้ามาร่วมสนับสนุน นางสาวทองทิพย์ก็ยังทำกิจกรรมกับเด็กอย่างต่อเนื่อง ไม่ค่อยได้มาร่วมบริหารจัดการกลุ่ม เนื่องจากการประชุมจะมีในวันจันทร์-ศุกร์ซึ่งตนเองทำงานในโรงเรียน ไม่สามารถไปได้ หลังจากนั้นเปลี่ยนวันประชุมมาเป็นช่วงเสาร์อาทิตย์หรือตอนกลางคืน ซึ่งตนเองมีฐานการทำงานพัฒนามาก่อน ตนจึงได้ร่วมประชุมและเป็นผู้ดำเนินการประชุม เริ่มคิดว่าบ้านสมาชิกมีพันธุ์ผักพันธุ์พืชอะไรก็ให้นำมาแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นก็เข้ามาร่วมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง และให้ใช้สถานที่ที่แปลงนาของตนเองเป็นที่ทำกิจกรรมกลุ่มถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในชื่อ “โรงเรียนใต้ต้นตะขบ” ซึ่งทำกิจกรรมกับเด็ก และกลุ่ม “บ้านนา ทุ่งกุลา” ที่ทำเกษตรกับผู้ใหญ่ จนจบโครงการ ซึ่งเหตุที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “บ้านนา ทุ่งกุลา” เพราะมีสมาชิกมาจากบ้านอื่นๆ ใน ต.ทุ่งกุลาด้วยไม่เฉพาะบ้านจานเตย
หลังจากนั้นไม่มีการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งใดๆ แต่กลุ่มก็ยังทำกิจกรรมต่ออย่างเข้มแข็งด้วยวิธีการห่อข้าวห่อแกงมาจากบ้านแล้วกินร่วมกัน และใช้เงินส่วนตัวในการจ่ายอาหารส่วนกลางและค่าเดินทางสมาชิกประมาณ 10 คน ยังคงมีการทำแปลงนารวมร่วมกันโดยใช้ความรู้เรื่องพันธุกรรมข้าวที่ได้ไปศึกษาอบรมมา เช่น การตัดข้าวปน ส่วนตัวก็มีเพื่อนในทางธรรมะจากการไปปฏิบัติธรรมมาร่วมช่วยทำกิจกรรมในแปลงนาด้วย ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวของปี พ.ศ. 2554 นางสาวทองทิพย์ได้ลาออกจากงานครูที่โรงเรียนบ้านฮ่องสังข์(หมดสัญญาจ้าง) กลุ่มสมาชิกบ้านนา ทุ่งกุลา และกลุ่มสมาชิกเด็กโรงเรียนใต้ต้นตะขบได้มาเกี่ยวข้าวร่วมกัน และตัดข้าวปนแบบรวง แต่เนื่องจากเด็กมาเกี่ยวข้าวด้วยจึงทำให้ข้าวแต่ละสายพันธุ์ปะปนกันจำนวนหนึ่ง ทำให้เก็บพันธุ์เพื่อปลูกต่อไม่ได้ ผู้ใหญ่ในกลุ่มจึงแก้ไขปัญหาด้วยการนำข้าวมาสีรวมกันด้วยเครื่องสีมือหมุน(ใช้แรงงานคน) ของกะเหรี่ยงโพล่วจากประเทศพม่า ออกมาเป็นข้าวหลายสีหลากพันธุ์ เอามาหุงกินแล้วอร่อยและเด็กต้องการนำไปฝากพ่อแม่จึงกรอกใส่ขวดเล็กๆ กลับไปบ้านเป็นผลงานของเด็ก รวมทั้งส่งไปให้เพื่อนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยทำข้อมูลประชาสัมพันธ์กลุ่มให้เป็นที่รู้จักในเฟสบุ๊ก “บ้านนา ทุ่งกุลา” และเขาได้ส่งข้าวให้เพื่อนๆ ของเขาได้กินด้วย ได้รับการตอบรับจากเพื่อนว่าอร่อยและต้องการสั่งซื้อจากกลุ่ม ซึ่งตนเองมีโจทย์อยู่แล้วว่าจะขายข้าวอย่างไรที่ไม่ใช่ขายข้าวเปลือกให้โรงสี จึงมาคิดชื่อตราข้าวหลากสีหลายสายพันธุ์ที่จะส่งขาย ด้วยเหตุที่วันที่เด็กมาทำข้าวปนกันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน แต่กลับเป็นการเริ่มต้นวันดีดี ที่ก่อเกิดข้าวที่หอมอร่อย เป็นที่ชื่นชอบของคนกินและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อตรา “ข้าววันดีดี” จากนั้นมาก็ปรึกษาหารือเรื่องการทำตลาดข้าวของกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง
ปีพ.ศ. 2555 สมาชิกกลุ่ม 3 ครอบครัวได้ขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากออแกนิคไทยแลนด์เป็นปีแรก และได้นำกลุ่มสมาชิกบ้านนา ทุ่งกุลา และกลุ่มเด็กๆ โรงเรียนใต้ต้นตะขบเข้าร่วมงาน จัดนิทรรศการ แสดงละครเรื่องเจ้าแม่โพสพ ในงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านภาคอีสาน ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ซึ่งได้รับการยอมรับเพราะนิทรรศการสวย ตอบคำถามคนมาร่วมงานได้ ได้รับรางวัลการแสดง เริ่มมีตัวตนชัดเจนและเป็นที่รู้จักในเครือข่าย และยังเป็นครั้งแรกที่ได้นำข้าวกล้องตราวันดีดีกับเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน กาแฟออแกนิกส์ไปขายในงาน ในปีเดียวกันสถาบันบ่มเพาะจิตเพื่อการแปรเปลี่ยนทางสังคม โดยดร.ธรรมนนท์ กิจติเวชกุล ได้สนับสนุนตนโดยชวนไปร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเอง เดินทางจาริกธรรมกับหลวงพี่ป๊อบ (ภิกษุณีสุโพธา) เรียนรู้เรื่องสมุนไพรและการพัฒนาตนเองด้านใน การดูแลสุขภาพด้วยการพึ่งตนเอง เดินทางไปประเทศจีนเพื่อไปเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่แบ่งปันแนวคิดการใช้ฐานการภาวนามาทำงานเกษตรกรรม ในขณะที่กลุ่มก็ยังคงทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ปลายปี พ.ศ. 2555 วางแผนจะไปบรรพชาสามเณรีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม จ.นครปฐม แต่เนื่องจากมีหนังสือราชการเรียกตัวไปทำงานตำแหน่งครูธุรการโรงเรียน จึงไม่ได้ไปบรรพชาสามเณรี และได้ใช้เงินเดือนเดือนแรกร่วมหุ้นกับกัลยาณมิตรมาซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็กเป็นของส่วนตัว เนื่องจากสมาชิกยังไม่พร้อมจะรวมกลุ่มทำเรื่องการตลาด จากนั้นมีเพื่อนที่ต้องการทำเกษตรแต่ยังไม่มีความพร้อมจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดมาพักอยู่ด้วยและช่วยทำกลุ่ม เช่น ประชุม เยี่ยมแปลง เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2556 ได้รับทุนเอื้อปัญญาจากสถาบันบ่มเพาะจิตเพื่อการแปรเปลี่ยนทางสังคมเป็นปีที่สอง เป็น ทุนสนับสนุนคนกลับบ้านเกิดเพื่อมาทำงานในพื้นที่จากพอช.เป็นเวลา 1 ปีในการพัฒนาแปลง สำหรับทุนเอื้อปัญญาเป็นทุนให้เปล่าเพื่อการเติบโตด้านในของตนเอง ซึ่งได้นำมาซื้อฉางใส่ข้าว ล้อมรั้ว พัฒนาแปลง ซื้อพันธุ์ไม้ และทำกิจกรรมกับกลุ่ม รวมถึงเริ่มมีความคิดจะสร้างศาลาและห้องน้ำเพื่อใช้ส่วนรวมเวลามีกิจกรรม จากนั้นได้กลับมาทำงานโครงการอีกครั้งในชื่อโครงการ “ใต้ต้นตะขบนี้ดีจัง” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนสองวัยคือผู้ใหญ่กับเด็กในเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ หลักๆ คือเรื่องพันธุกรรมข้าวและพืชผักพื้นบ้าน การทำสีย้อมจากธรรมชาติ ศิลปะ โดยใช้แม่ครูพ่อครูที่เป็นสมาชิกในกลุ่มและวิทยากรภายนอกบ้าง ซึ่งเป็นช่วงที่สมาชิกสามารถให้เวลากับกิจกรรมกลุ่มได้เต็มที่เนื่องจากมีทุนสนับสนุนอย่างเป็นระบบ กลุ่มขยายตัว มีครูภูมิปัญญาที่ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากร ครูในโรงเรียนใกล้บ้านและกลุ่มผู้ปกครองเด็กเข้ามาร่วมกลุ่มบ้านนา ทุ่งกุลาด้วย สมาชิกจาก 10 คนจึงเพิ่มมาเป็น 20 คน กลุ่มก็ยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง มีการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้นกว่า 60 สายพันธุ์ในแปลงรวมซึ่งได้มาจาก จ.ยโสธร งานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมภาคอีสาน และเพื่อนๆ เริ่มมีการขายข้าวก่ำในตรา “ข้าวก่ำอีแม่” และปลูกพืชผักสมุนไพรหลากหลายชนิดมากขึ้นในแปลงของสมาชิกกลุ่มที่สะสมมาเรื่อยๆ ตลอดการทำงานกลุ่ม สมาชิกเริ่มเข้ามามีบทบาทแปรรูปสมุนไพรและพืชผักในแปลงของสมาชิก เช่น น้ำยาล้างจานมะเฟือง น้ำยาซักผ้ามะเฟือง แชมพูมะกรูด ใช้เองแต่ยังไม่มีการจำหน่าย ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมักชีวภาพ ส่วนในแปลงสมาชิกก็มีการนำข้าวพันธุ์พื้นบ้านไปปลูก เช่น ข้าวก่ำใบเขียว เพราะขายดีในตลาดนัดชุมชนและชาวบ้านใช้ในงานบุญประเพณี มะลิแดงซึ่งมีข้อมูลโภชนาการที่ระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลต่ำ หอมนิลซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ สันป่าตอง เล้าแตก ปลูกเพราะเหนียว นุ่ม หอม กินอร่อย ขณะที่ข้าววันดีดี ข้าวก่ำอีแม่ มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และมีความต้องการข้าวหอมมะลิ 105 จากผู้บริโภค
ปี พ.ศ. 2557 ไม่ได้รับทุนให้เปล่าจากกองทุนเอื้อปัญญา และไม่ทำงานโครงการต่อ เพราะต้องการพัฒนาข้าว วันดีดี และกลุ่มต่อ แต่ยังคงขอรับทุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งสนับสนุนทุนให้สรุปบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาของกลุ่ม ในปีนี้จึงได้ชวนโรงเรียนที่ตนเองทำงานธุรการอยู่ ครู ผู้ปกครองและคนที่มาช่วยงานในแปลงทำเกษตรอินทรีย์ สมาชิกกลุ่มจึงเพิ่มขึ้นมาเป็น 30 ครอบครัว โดยมีสมาชิก 14 ครอบครัวที่ทำในระบบอินทรีย์ (มี 3 ครอบครัวที่ขอการรับรองและผ่านมาตรฐานออแกนิคไทยแลนด์) และในขณะเดียวกันในปีนี้ ส.ป.ก.ร้อยเอ็ดก็ติดต่อเข้ามาเพื่อหาแนวทางสนับสนุนกลุ่มในปีงบประมาณ 2558
ประมาณกลางปี พ.ศ. 2557 กองทุนเอื้อปัญญายื่นข้อเสนอให้เงินกู้ยืมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าววันดีดีโดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อสอบถามสมาชิกแล้วก็ยังไม่มีความพร้อมจะทำโรงสีในระบบกลุ่มแต่สะดวกที่จะเป็นสมาชิกแบบถือหุ้นโรงสี ตนจึงตัดสินใจจะนำเงินดังกล่าวมาซื้อเครื่องสีข้าวกล้องที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพื่อลดการจัดการในด้านการแปรรูปข้าวกล้อง
ดังนั้นการเชื่อมโยง ความสัมพันธ์กับภาคีที่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นความพยายามใหม่อีกครั้ง กับการฟื้นฟูแกนนำคนทำงาน พัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง คึกคัก เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากลุ่ม พัฒนาเด็กและเยาวชน และการพัฒนาประเด็นพันธุกรรม เป็นต้น โดยหวังว่าทิศทางการทำงานเช่นนี้จะสามารถสร้างการเรียนรู้ในชุมชน นำชุมชนไปสู่เป้าหมายการพึ่งตนเองและเป้าหมายในเชิงอุดมคติส่วนตนด้วยเช่นเดียวกัน
5. วัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่ม :
1. เพื่อหนุนเสริมกระบวนการทำงานขององค์กรชาวบ้านในเขตพื้นที่ต.ทุ่งกุลา
2. เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำและแกนนำเด็ก-เยาวชนในการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกหลานเกษตรกร
3. เพื่อสร้างรูปธรรมงานพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านในตำบลทุ่งกุลา
วิสัยทัศน์
เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคนเรื่องสมุนไพร ข้าว และพืชพื้นบ้าน และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคน
6. โครงสร้างกลุ่มและสมาชิก :
โครงสร้าง ประธาน นางสาวทองทิพย์ ภูมิวงศ์
รองประธาน นายบุญเลื่อน ซุยน้ำเที่ยง
ประชาสัมพันธ์และเลขานุการ นางสาวอรุษา กิตติวัฒน์ นางสาวนัยนา ภูมิวงศ์
ที่ปรึกษา นางสาวธรรมนนท์ กิจติเวชกุล ผู้อำนวยการสถานบันบ่มเพาะจิตวิญญาณเพื่อการแปรเปลี่ยนสังคม
นางปรียานุช ป้องภัย กป.อพช.อีสาน
นางสาวปัทมา ราตรี นักวิชาการอิสระ
สมาชิก ต.ทุ่งกุลา
1.บ้านสังข์ใหญ่ หมู่ 10 จำนวน 5 คน
1) นางสาวทองทิพย์ ภูมิวงศ์
2) นายบุญเลื่อน ซุยน้ำเที่ยง
3) นางหนูเพียร แสวงจันทร์
4) นางแดง พลสิม
5) นางสาวอรุษา กิตติวัฒน์
2. บ้านสังข์น้อย หมู่ 3 จำนวน 9 คน
1) นางทองนาค ภูมิวงศ์
2) นางบัวทอง ศรีบุปผา
3) นางบุญโฮม พลสิม
4) นางเพ็ญธิภา ราศี
5) นายทอง ดำโพนทัน
6) นายพร ลำใย
7) นางประดับจิต เทพวงษ์
8) นางสุภาพ เขาภูเขียว
9) นางบุญยัง สอนสนาม
3. บ้านจาน หมู่ .5,6,12,13,14. จำนวน 7 คน
1) นายชำนาญ ตันทาสุวรรณ
2) นางบัวไข สืบเพ็ง
3) นางไพร จุลเสริม
4) นางสาวนัยนา ภูมิวงศ์
5) นายสุทธี วิจิตรขากี
6) นางจำปี เหลาพิมพ์
7) นางสมพร ศรีสุกใส
8) นางทองพูล แสงดาว
9) นางโฉมยง บัวลี
4. บ้านโนนเม็ก หมู่ 4 จำนวน 4 คน
1) นางเหลาทอง พลสิม
2) นางเหรียญ สิงห์โพนงาม
3) นางวรรณ โพนห้างหว้า
4) นางนารี ซุยน้ำเที่ยง
ต.ทุ่งหลวง
1. บ้านร้านหญ้า หมู่ 3 จำนวน 5 คน
1) นายวิพัฒน์ สุวรรณธาดา
2) นายสวัสดิ์ คุณมาศ
3) โรงเรียนบ้านร้านหญ้า
4) นายสัมพันธ์ ภูหินกอง (แปลงนาอยู่ต.ดอกไม้ อ.สุวรรณภูมิ)
5) นางสมมาศ ภูกลาง
ระบบควบคุมกลุ่ม
1. ซื้อข้าวจากสมาชิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานออแกนิคไทยแลนด์หรือกลุ่มเท่านั้น
2. ต้องเข้าร่วมการประชุมอย่างต่อเนื่อง
7. กิจกรรมของกลุ่ม :
1. ประชุมตามวาระที่มีกิจกรรม
2. รวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านและพืชผักอื่นๆ
3. พัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมข้าว
4. ประเมินเพื่อค้นหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่
5. บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว
6. แปรรูปข้าวและสมุนไพร
7. รณรงค์เผยแพร่
7.1 ประชาสัมพันธ์ผ่านงานบุญชุมชน (งานบุญข้าวสาก/บุญข้าวจี่)
7.2 ประชาสัมพันธ์แบบพูดคุยในชีวิตประจำวัน
7.3 ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟสบุ๊ก ยูทูป
8. งานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมภาคอีสาน
9. จัดทำหลักสูตรโรงเรียนทางเลือกร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทางเลือกแห่งชาติ เช่น เรื่องการทำนาอินทรีย์ สมุนไพร การดูแลสุขภาพเบื้องต้น
10. จัดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เช่น วาดรูป การถ่ายภาพ อ่านหนังสือนิทาน เป็นต้น
8. ผู้รับผิดชอบ/ผู้ประสานงาน :
นางสาวทองทิพย์ ภูมิวงศ์ บ้านเลขที่ 102 หมู่ที่ 10 บ้านสังข์ใหญ่ ต.ทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 091-4182079 อีเมล์ bannatunggula@gmail.com
9.ผู้ให้ความรู้/ผู้สื่อสารเรื่องราวภายในกลุ่ม :
1. นางสาวทองทิพย์ ภูมิวงศ์ การบันทึกลักษณะพันธุ์ข้าว การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน การทำน้ำหมักชีวภาพ การปลูกพืชบำรุงดิน การส่งเสริมการรวมกลุ่มทำเกษตร การจัดกิจกรรมเด็กและเยาวชน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แนววอล ดรอฟ
2. นายบุญเลื่อน ซุยน้ำเที่ยง การทำปุ๋ยหมัก การตอนกิ่ง การทำน้ำหมักชีวภาพ การส่งเสริมการรวมกลุ่มทำเกษตร
3. นายวิพัฒน์ สุวรรณธาดา การส่งเสริมการรวมกลุ่มทำการเกษตร การทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ การจัดกิจกรรมเด็กและเยาวชน
4.นางสาวนัยนา ภูมิวงศ์ การจัดกิจกรรมเด็กและเยาวชน
5.นางจำปี เหลาพิมพ์ การเก็บรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว ผักและพืชพื้นบ้าน
6. นางเหลาทอง พลสิม การเก็บรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว ผักและพืชพื้นบ้าน
10. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน :
1. ผลผลิตข้าวยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เห็นความสำคัญเรื่องข้าวพื้นบ้านและเกษตรอินทรีย์
11. แนวทางการทำงานและทิศทางการทำงาน/ความต้องการการสนับสนุนจากภายนอก :
1. เครื่องมือ องค์ความรู้ เทคนิค และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก
2. ที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงกลุ่ม
12. ความโดดเด่น :
กลุ่มบ้านนา ทุ่งกุลา (โรงเรียนใต้ต้นตะขบ) เป็นกลุ่มที่เน้นกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยมีหลักสูตรโรงเรียนทางเลือกร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทางเลือก เช่น เรื่องการทำนาอินทรีย์ สมุนไพร การดูแลสุขภาพเบื้องต้น และมีการแปรรูปข้าวออกสู่ตลาด