โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 6 ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศกับความมั่นคงทางอาหาร

             สถานการณ์ที่ท้าทายปัจจุบัน ซึ่งนอกจากการรับมือของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงพฤติกรรมการเข้าถึงและบริโภคอาหารแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกข้อท้าทายหนึ่งที่เริ่มรุนแรงขึ้นมากกว่าอดีต ซึ่งเห็นได้จากการสภาพความแห้งแล้งที่ยาวนาน น้ำท่วมรุนแรง ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายให้อย่างหนักให้กับหลายพื้นที่ ดังเช่นพื้นที่ภาคอีสานในช่วงปีที่ผ่านมา ที่พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในมิติเชิงเศรษฐกิจ และอาหาร

    จากคำนิยามความมั่นคงทางอาหารชุมชน คือการที่ชุมชนมีอาหารกินอย่างเพียงพอตลอดปี โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองด้านอาหาร สิทธิในการเข้าถึงฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน อาหารที่บริโภคต้องปลอดภัย มีโภชนาการ มีตลาดที่เป็นธรรม มีรายได้ที่เพียงพอ มั่นคง และมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแล รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืนในระบบอาหาร” นั้น แน่นอนว่าความมั่นคงทางอาหารถูกสั่นคลอนเช่นกัน ซึ่งไม่เฉพาะชุมชนเท่านั้น แต่ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นความเสี่ยงต่อการบริโภคอาหารของประเทศ 

             สำหรับภัยแล้งในปีนี้ ได้มีการคาดการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงกรกฎาคมนี้และมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี โดยเบื้องต้นได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง 24 จังหวัด 143 อำเภอ 742 ตำบล รวม 6,255 หมู่บ้าน (ข้อมูลวันที่ 13/04/63) จากสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละปีที่ทางภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ เช่น ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง นั้น ตามมาตรการดังกล่าวเกษตรกรมองว่าเอื้อกับพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง แต่บางพื้นที่ยังคงมองว่าบริบทของนิเวศแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันทำให้การจัดการตามมาตรการดังกล่าวไม่ได้ผลจริง ที่ผ่านมาเกษตรกรได้มีการปรับตัวในการผลิตที่หลายรูปแบบซึ่งเกิดจากด้วยประสบการณ์เรียนรู้ด้วยตนเอง และบางส่วนเรียนรู้จากการส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยทั่วไปสามารถจัดกลุ่มการปรับตัวของเกษตรกร ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

  • การปรับตัวในระยะสั้น คือ ลักษณะการปรับตัวที่ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายผลผลิตทางการเกษตรเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่น การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเพาะปลูก, การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการฟาร์ม (เช่น การใช้พืชวัสดุปรับปรุงดิน), การเปลี่ยนช่วงเวลาการปลูกให้เข้ากับฤดูกาล, การกระจายความเสี่ยงด้วยการทำอาชีพเสริม, การปลูกพืชผสมผสาน, การปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์, การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ในระบบการผลิตในการลดต้นทุนการผลิต, การปลูกพืชหมุนเวียน
  • การปรับตัวในระยะยาว คือ ลักษณะการปรับตัวที่ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาว เช่น การใช้สายพันธุ์พืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง, การใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการแปลงการผลิต (เช่น รถปักดำนา, เครื่องยอดข้าว เป็นต้น), การขุดสระน้ำในนาข้าว, การทำงานเชื่อมกับองค์กร/ผู้ประกอบการทางสังคมที่สนับสนุนเรื่องข้อมูลการปรับตัวและเสริมเรื่องช่องทางการตลาด, การเพิ่มเทคนิคการอนุรักษ์ดินและน้ำ, การติดตั้งศูนย์ข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้า

             รูปแบบการปรับตัวของเกษตรกรดังกล่าวถือเป็นการป้องกันหรือให้เกิดการลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบของผลผลิตทางการเกษตร หรืออีกนัยยะคือการปกป้องความมั่นคงทางอาหารของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปรับตัวของเกษตรกรส่วนใหญ่มุ่งให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การผลิตมุ่งสู่เกษตรกรรมยั่งยืน การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงนวัตกรรมการคิดค้นสายพันธุ์พืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต เพื่อรับมือกับความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น


อ้างอิง

สุภา ใยเมือง และ เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน. 2554. รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์: ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

https://www.naewna.com/politic/486234
https://www.bbc.com/thai/thailand-51004534

บทความแนะนำ