สวนของคุณสมจิตร ศรีเจริญ
กับ สวนของคุณสมปอง ทองอ่อน
จากบรรดาสวนสมรม 9 สวนที่เข้าร่วมการประกวด “ป่าเรียน ป่าเย็น” ในงาน “ป่าเรียน ป่าเย็น ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 ที่ไร่วุฒิภัทร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา สองสวนที่เราจับคู่มานำเสนอเป็นคู่ที่สี่นี้ตั้งอยู่ที่บ้านควนหมากในตำบลวังใหญ่นั่นเอง และเจ้าของสวนหญิงทั้งสองคนต่างก็มีชื่อขึ้นต้นว่า “สม” ด้วยกันทั้งคู่
คนหนึ่งคือสมจิตร ศรีเจริญ อีกคนคือสมปอง ทองอ่อน
สมจิตรอายุ 68 ปีแล้ว เธอบอกว่าเธอภูมิใจที่ในช่วงหลังนี้มีผู้คนรู้จักทุเรียนบ้านมากขึ้น ด้านการตลาดก็จะดีขึ้น ทั้งยังอวดด้วยว่า ในยามที่ได้เข้าสวนหรือป่าเรียนนั้น “ดีกว่าไปห้าง เบี้ยก็ไม่ออก (ไม่เสียเงิน) เวลาพาลูกหลานไปเที่ยว ลูกหลานก็ได้เล่นน้ำคลองสบายใจ” ส่วนเรื่องอาหาร ในสวนก็มีเหลือเฟือ ไปเที่ยวสวนจึงเท่ากับได้อิ่มทั้งกาย ใจ ได้หย่อนอารมณ์ เติมพลังให้แก่ชีวิต
ทางด้านสมปองในวัย 54 ปี สวนของเธอมีทั้งทุเรียนบ้านอายุกว่า 70 ปีที่พ่อเป็นคนปลูก และมีทุเรียนพันธุ์สมัยใหม่ อยู่ด้วยกันผสมผสาน ส่วนผลผลิตจากสวนนั้นก็มีการส่งขายทั่วประเทศ เพราะเป็นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยฝีมือลูก ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสืบสานต่อยอด
ทั้งสองสวนนี้แม้ไม่ได้รางวัลใดๆ จากการประกวด แต่ก็เป็นสวนที่ให้รางวัลแก่ผู้เป็นเจ้าของทั้งสองสมมาโดยตลอด
สวนของคุณสมจิตร ศรีเจริญ
สวนของคุณสมจิตรมีพื้นที่ 12 ไร่ เป็นสวนที่อยู่ติดลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งที่ป้อนน้ำให้ตลอดทั้งปี บริเวณที่เป็น “ป่าเรียน” มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ อยู่บริเวณริมน้ำ ประกอบด้วยทุเรียนบ้าน 10 ต้น โดยมี 2 ต้นที่มีอายุกว่า 80 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางต้นประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนสูงประมาณ 30 เมตร แต่ละต้นมีชื่อ เช่น ต้นใหญ่ ต้นท่าน้ำ ต้นหนามสั้น ฯลฯ
สวนแห่งนี้บุกเบิกโดยรุ่นพ่อแม่ และคุณสมจิตรเป็นผู้สานต่อ ในวันที่มาร่วมงาน “ป่าเรียน ป่าเย็น” เธอกล่าวแสดงความรู้สึกผสมผสานไปกับการเล่าเรื่องราวสวนของเธอว่า
“ยินดีที่ได้มาร่วมงานนี้ คิดอยู่หลายปีแล้วว่าอยากอนุรักษ์ทุเรียนบ้าน คิดถึงชีวิตแต่ก่อนที่เราเที่ยวเดินไปหาบลูกเรียน เพราะสมัยก่อนไม่มีรถ ตอนนี้มีรถแล้วก็สะดวกมากขึ้น ต้นไม้อะไรก็อนุรักษ์ไว้ สบายใจมากเลยเวลาไปเที่ยวสวนทุเรียน ปลูกเพิ่มจากที่คนแก่ปลูกไว้ให้ 4-5 ต้น ต้องปลูกเพิ่มทุกปี ตรงไหนว่างต้องเอาเมล็ดเรียนไปใส่ไว้ จะได้ขึ้นมาใหม่บ้าง ถ้าไม่ปลูกไว้มั่ง ต้นแก่ ๆ อายุมากก็เริ่มตายไปบ้างแล้ว บางต้นก็ยอดด้วน ก็ต้องปลูกเพิ่ม ถ้าไม่ปลูกเพิ่มก็จะหมดไปเรื่อย ๆ คนรุ่นใหม่ก็จะไม่ได้กิน”
ด้วยความที่อยู่ติดริมน้ำ ในสวนแห่งนี้จึงมีผักกูดมากมาย และสัตว์ที่พบ จำพวกนกนานาชนิด มด และแมลงต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในดงผักกูดและเขตลำห้วยนั่นเอง
ไม้ผลที่มีในสวน นอกเหนือจากทุเรียนบ้าน ยังมีทุเรียนพันธุ์อย่างหมอนทอง กบชายน้ำ และมีทุเรียนหนามดำ ส่วนไม้ผลอื่นๆ เช่น จำปาดะ ขนุน ลองกอง ละไม มะพร้าว หมาก จำปูริ่ง นาง สาลิกา ดาหลา
ไม้ป่า เช่น กำชำ หว้า หลุมพอ เอาะ ตีนนกทูง เหรง ตะแบก ไผ่ ดังบาย ไทร เต่าร้าง ฉิ่ง กล้วยป่า ลำทำ เหมร ส้าน แคนา พรานนกคุ้ม
ส่วนผัก/พืชสมุนไพร เช่น ปุดช้าง ผักกูด ลำทึง คลุ้ม สิเหรง โผ๊ะ ผักหนาม บอนท่า บอนเต่า ส้มแขก
“ช่วงนี้รู้สึกภูมิใจมาก เพราะคนรู้จักทุเรียนบ้านมากขึ้น ช่วงนี้รู้สึกว่าตลาดจะดีขึ้นด้วย อาหารในป่าเรียนก็จะมีผักกูด บอนยายรัด เหล่านี้เกิดขึ้นเต็มเลยใต้โคนเรียน ตอนนี้นำดาหลาไปปลูกเพิ่ม เพราะเวลาไปเที่ยวสวนเรียนจะได้สดชื้น เพราะมีของสวย ๆ งาม ๆ มีสายน้ำไหลผ่าน แม่เอ้ย ดีกว่าไปห้าง” คุณสมจิตรกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
เธอกล่าวถึงการเตรียมการสำหรับอนาคตวันข้างหน้า ซึ่งอาจไม่ใช่วันเวลาของเธอว่า “บอกหลานไว้ว่าให้ดูแลสวนเรียน ถ้า (ตัวเธอ) ตายไปก็ต้องกลับมาเอา (ให้ลูกหลานกลับมาดูแลสวน) เพราะไม่มีใครสืบทอด ทำงานในเมืองกันหมด ส่งเด็กไปอยู่ในเมือง เลยเป็นคนเมืองเสียแล้ว กินเรียนบ้านไม่เป็น เรียนบ้านจากสวนขายอย่างเดียว ลูกหลานไม่กินบอกว่าเหม็น เอาเงินแทน ที่จริงก็เกิดมาพร้อมลูกเรียนนั้นแหละ สวนเรียนอย่างน้อยก็อยากส่งต่อให้คนในครอบครัว ลูกหลานในครอบครัว”
สวนของคุณสมปอง ทองอ่อน
คุณสมปอง ทองอ่อน อายุ 54 ปี เป็นเจ้าของสวนทุเรียนบ้านเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ที่มีต้นทุเรียนเก่าแก่อายุประมาณ 70 กว่าปี จำนวนประมาณ 30 ต้น พ่อของเธอเป็นคนปลูก ส่วนเธอเป็นคนรับช่วงดูแลต่อเรื่อยมา ชื่อของทุเรียนที่มีอยู่ เช่น ยายฉ่ำ สายธาร ทองนวล วิธีการดูลสวนที่เธอทำคือจะมีการถางป่าปีละครั้งและปลูกเพิ่มเติม
สวนของสมปองมีทำเลที่ตั้งเป็นเขา ทำให้ต้องมีทำทางเป็นขั้นบันได และในสวนมีสายน้ำไหลผ่าน โดยน้ำสองสายไหลมาบรรจบกันในบริเวณที่เป็นร่องเขา แล้วไหลลงไปสู่ที่ราบด้านล่าง ภายในสวนของเธอมีบ่อน้ำบาดาลถึง 4 บ่อ ซึ่งสาเหตุของการที่ต้องขุดบ่อเพิ่มเติมนั้นสืบเนื่องมาจากการปลูกทุเรียนหมอนทองขึ้นมาจำนวน 70-80 ต้น โดยเมื่อทุเรียนพันธุ์เหล่านี้โตขึ้น ก็พบว่าน้ำบ่อบาดาลดั้งเดิมที่มีนั้นก็แห้งลง ไม่พอใช้
“ตอนที่ต้นยังเล็กอยู่ น้ำบ่อบาดาลที่เจาะไว้เพียงพอ แต่เมื่อต้นโตขึ้น น้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ จึงเจาะบ่อเพิ่มอีก 3 บ่อ เพื่อสูบน้ำขึ้นเก็บไว้ที่แท็งก์น้ำจนเต็ม น้ำบ่อนั้นก็แห้งหมด ลงทุน 30,000 บาท แต่ถึงกระนั้นในสวนเราก็ยังมีสายเตราะที่มีน้ำไหลทั้งปี น้ำจะไม่แห้งเลย จึงทำเป็นฝายชะลอน้ำ สั่งกระสอบทรายไป 30 กระสอบ และต่อท่อลงไปในบ่อ ฝายชะลอน้ำสามารถสูบขึ้นแท็งก์น้ำความจุ 6,000 ลิตร สามารถใช้รดน้ำทุเรียนพันธุ์ได้อย่างเพียงพอ และสายน้ำไม่แห้ง นี้คือความสมบูรณ์ของสายเตราะ” สมปองเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีการบริหารจัดการน้ำในสวนของเธอ ซึ่งมีการวางระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์
สมปองบอกด้วยว่า ในการปลูกพืชของเธอทำแบบผสมผสาน ทั้งไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้ผล พืชผัก
ไม้ผลอื่น ๆ เช่น มังคุด ลองกอง ลางสาด เงาะ ละไม จำปาดะแบบไร้เมล็ด จำปาดะมีเมล็ด จันทร์กระ ลำไยคริสตัล
ส่วนไม้ป่าที่มี เช่น กฤษณา สะเดา ทัง เหรียง ตาเสือ มะพราง ปอ ลำทึง
และผัก/พืชสมุนไพร เช่น กระท่อม พลูหนัง บอนยายรัด กล้วยไม้ป่า มะพรานนกคุ้ม บอนส้ม กล้วยป่า เตยหอม บอนท่า เอื้องหมายนา เหมร ผักกูด กลีบแรด ธรณีเย็น ฉิ่ง ผักเหรียง หมุยป่า คลุ้ม ผักหวาน สะตอ เนียง ไผ่ ช้างไห้ ยาหนูต้น นางครวญ กล้วยป่า ปุดช้าง คลุ้มค้าง บอนยายรัด พ้อ
สัตว์ที่พบในสวนของสมปอง เช่น กระรอก นกเขา นกนานาชนิด จักจั่น
สมปองพูดถึงแนวทางความเป็นไปในอนาคตของสวนของเธอว่า น่าจะยังคงดำรงอยู่ได้ต่อไป “โชคดีที่ลูกก็ชอบทางด้านนี้ เกี่ยวกับธรรมชาติแบบนี้ ทุเรียนพันธุ์ที่ปลูก เช่น หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ทุเรียนบ้านก็นำมากวน สะตอก็มีขาย ผลผลิตเหล่านี้ส่งขายทั่วประเทศ เพราะลูกขายผ่านเฟซบุ๊ก”
สุดท้ายสมปองเชิญชวนอย่างแฝงด้วยความภาคภูมิว่า “ถ้าใครสนใจไปเที่ยวสวน ลงคลอง บุกป่า ขึ้นเขา ก็ยินดี เรียนเชิญได้เลย”