โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

สวนของคุณยินดี คงเหมือนเพชร
กับ สวนของคุณสุคนธ์ บุญสุย

สวนของคุณยินดี คงเหมือนเพชร

คุณยินดีในวัย 73 ปี บอกเล่าว่า สวนที่เธอเป็นคนดูแลอยู่ในตอนนี้เป็นสวนที่บรรพบุรุษปลูกสืบทอดกันมา มีการเรียกกันว่า “สวนทุเรียนร้อยปี” แต่เธอคิดว่าน่าจะมากกว่านั้น

“ฉันคิดว่าไม่ใช่ร้อยปี เพราะคนที่ดูแลอยู่ตอนนี้ ฉันเอง ก็อายุ 70 กว่าปีแล้ว สวนนี้ปลูกตั้งแต่สมัยที่ฉันยังไม่เกิด พอเห็นแล้วภูมิใจ พอมางานนี้ (งานป่าเรียนป่าเย็น) ยิ่งทำให้เห็นว่าสวนทุเรียนบ้านมีคุณค่าและมีประโยชน์ อยากบอกลูกหลานว่า “อย่าโค่นนะ” แต่ก่อนป้ายินดีไม่รู้ แรกเริ่มคิดจะโค่น แต่เพื่อนห้ามไว้ ตอนนี้รู้แล้วว่าป่าเรียนมีคุณค่า แนะนำให้ปลูกต่อ เพราะหวังให้มีทุเรียนบ้านไว้เก็บกินมากมาย”

สวนของคุณยินดีมีเนื้อที่เพียงประมาณ 4 ไร่ แต่ภายในสวนก็ร่มรื่นมาก มีทางน้ำไหลผ่านและมีพื้นที่ริมน้ำลำห้วย อีกทั้งมีทุเรียนบ้านมากถึงประมาณ 30 ต้น ซึ่งต่างมีชื่อ เช่น ไอ้แดง ไอ้ลำโพง ไอ้ยับยิ่ม ไอ้ขมิ้น ไอ้คูจง

นอกจากทุเรียนบ้าน สวนคุณยินดียังมีหมอนทอง และมีไม้ผลอื่น เช่น ลางสาด ลองกอง มะพร้าว ลูกเหนียง หมาก มะปราง มะละกอ ส้มโอ

ส่วนไม้ป่า เช่น แคป่า ยอป่า มะหาด ปุดช้าง ตีนเป็ด ดังบาย ยางพารา ไผ่ จง ตาเป็ด ดังบาย กล้วยป่า สัปปะรด ละมุด

และมีผัก/สมุนไพร เช่น ชะอม กระท่อม พลู ลำไยคริสตัน ขนุน ข่า เปราะหอม ผักชีฝรั่ง พริกขี้หนู คลุ้ม ทำทิ้ง บอน เอื้องหมายนา คางเงาะ กลีบแรด เน้น ราโพ นางครวญ หนุนปาน คานหามเสือ เตย พรางนกคุ้ม ยา สะตอ หนูต้น ต้นซ่าน บอนท่า ผักกูด เล็บมือนาง เดือยดิบ

ขณะเดียวกันก็พบสัตว์ประเภทจักจั่นและนก

สำหรับการดูแลทุเรียน คุณยินดีใช้วิธีจ้างหมอทุเรียนในพื้นที่เป็นผู้ช่วยดูแล ซึ่งคนที่คุณยินดีใช้ชื่อว่าคุณสุรศักดิ์ คงรอด อายุ 45 ปี คุณสุรศักดิ์มีแปลงทุเรียนอยู่ในความดูแลกว่า 30 แปลง

นอกเหนือจากการทานสด คุณยินดียังมีการแปรรูปผลผลิตทุเรียนบ้านในสวนร้อยปีด้วยการกวนอีกด้วย

แม้ว่าในการประกวด สวนของคุณยินดีไม่ได้รับรางวัล แต่ก็เป็นสวนหนึ่งที่เป็นที่ประทับใจของกรรมการและคณะสำรวจ กรรมการคนหนึ่งกล่าวถึงสวนแห่งนี้ว่า “สวนป้ายินดีตั้งอยู่ในหุบ ต้นทุเรียนมีแต่ต้นใหญ่ สูง ปรากฏอยู่ในสวน แสดงว่าได้รับการอนุรักษ์ไว้”

ในขณะที่ผู้เป็นเจ้าของสวนกล่าวว่า “ใครสนใจอยากไปเที่ยวสวนสามารถไปได้เลย ป้ายินดียินดีต้อนรับเสมอ ใครที่ไปเที่ยวสวนทุเรียนนายชะเวง สามารถแวะสวนนางยินดีได้เลย เพราะเส้นทางเดียวกัน”

สวนของคุณสุคนธ์ บุญสุย

คุณสุคนธ์อายุ 67 ปี มีสวนขนาด 8 ไร่ โดยเป็นส่วนของพื้นที่ป่าเรียนประมาณ 2 ไร่ ภายในสวนมีต้นตีนเป็ดต้นใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 เซนติเมตร ในบริเวณตาน้ำ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีต้นทุเรียนบ้านอายุกว่าร้อยปี ประมาณ 3 ต้น

นอกจากนั้นยังมีทุเรียนพันธุ์จำนวนหนึ่ง และมีไม้ผลอื่น เช่น ลูกเหนียง ลองกอง มังคุด สะตอ ส้มแขก จำปาดะ หมาก ละไม กระท้อน หมอนทอง ตะขบ ลางสาด มะพร้าว

ส่วนไม้ป่าที่พบในสวนนี้ เช่น กระท้อนรอก ไผ่ป่า ตีนเป็ด ดันหมี กระจง หลุมพอ ยอป่า แซะ มะกอกป่า คลุ้มด่าง เอาะ กล้วยป่า เต่าร้าง ไผ่ ปอจง ฉิ่ง พลับพลา เดื่อยปล้อง ไผ่หวาน เฟิน สะค้าน คานหามเสือ เน็น ดากเงาะ เชียด พรางนกคุ้ม จิกนม ดอกก้ามกุ้ง บอนท่า เพกา เฉียงพร้าน้ำ ต้นสาว

ขณะที่ผัก/สมุนไพรที่มี เช่น บอนยายรัด ข่า กระชาย พ้อ เอื้องหมายนา บอนส้ม บอนเต่า ดาหลา สัปปะรด ผักกูด ผักบุ้งนา

แปลงสวนของคุณสุคนธ์มีความพิเศษที่เป็นแหล่งน้ำซับ แต่ในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วม ทำหให้มีผักกูดและพืชจพวกที่ชอบน้ำ เช่น บวนน้ำ บวนยายรัด บอนส้ม ฯลฯ ขึ้นเป็นจำนวนมาก ตาน้ำที่ไหลตลอดทั้งปียังทำให้พื้นที่ไม่แห้งแล้ง ใช้ที่ดินทำการเกษตรได้ดี

คุณสุคนธ์กล่าวถึงสวนของตัวเองว่า เป็นสวนที่สามีเป็นคนทำ และของในสวนสามารถขายได้หมดเลย เช่น มะนาว ขายได้ทั้งปี

ตรงกับสิ่งที่หนึ่งในกรรมการผู้ตัดสินการประกวด “ป่าเรียน ป่าเย็น” กล่าวไว้ว่า “สวนคุณสุคนธ์ บุญสุย ของในสวนขายได้เงินหมด ถามว่าต้นทุเรียนมีกี่ต้น มีเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น แต่มีพืชอื่นในสวนที่สามารถขายได้ เช่น บอนยายรัด มะนาว กล้วย ในสวนนั้นมีป่าเรียนซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับของสวน ประโยชน์ของน้ำซับตรงนั้นมีมากมาย ไหลตลอดปี ไม่เคยแห้งตลอดทั้งปี”

สิ่งที่ยิ่งน่ายินดีที่สุดคือ สวนของคุณสุคนธ์มีแววว่าจะมีความยั่งยืนสืบไป เนื่องจากลูกชายของเธอมีแนวความคิดชัดเจนว่าจะไม่ขายที่ดินและห้ามตัดไม้ใหญ่ จะต้องอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ทั้งหลายไว้

ในส่วนผลการประกวด สวนของคุณสุคนธ์ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3

บทความแนะนำ

เสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.