ชวนรู้จักขั้นตอนและวิธีการทำ “นาปาเป้า” อีกหนึ่งเทคนิคการปลูกข้าวที่มีการเล่าลือกันว่าสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 2 ตันต่อไร่ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมในระยะเวลาเพียงไม่นาน
.
คุณมาณิชรา ทองน้อย แห่งบ้านโสกขุมปูน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนามาเป็น “นาปาเป้า” ได้ 2 ปีแล้ว และพบว่า รูปแบบใหม่นี้ตอบโจทย์ของเธอทั้งในเรื่องการขาดแรงงาน (มีแต่ตัวเองกับพ่อแม่ที่แก่เฒ่า) การมีเวลาน้อยในการจัดการแปลง รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ผลผลิตก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย
.
แม้สัดส่วนผลผลิตที่มาณิชรา หรือ “ต๋อ” ทำได้ในวันนี้ กำลังไต่ระดับไปได้ไม่ถึง 1 ตันต่อไร่ แต่อัตราที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เธอพอใจแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม วิธีการใหม่ใช่จะทำได้ง่ายดายเหมือนปอกกล้วย ขั้นตอนและงานที่ต้องทำนับว่ามีรายละเอียดค่อนข้างมาก เข้าข่ายเป็นเกษตรประณีตที่คนทำต้องขยันพอตัวและมีความถี่ถ้วนรอบคอบ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยน แต่ว่าผลลัพธ์ที่จะได้มาในที่สุดก็คุ้มค่ามิใช่น้อย
.
- 7 ขั้นตอนหลักการทำ “นาปาเป้า”
ขั้นตอนหลักๆ ในการทำนาปาเป้ามี 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การคัดพันธุ์ข้าวเพาะกล้า 2) การเพาะกล้าข้าวในถาดหลุม (ขนาดถาด 403 หลุม) 3) การเตรียมแปลงปลูกข้าว 4) การปาเป้า 5) การปรับปรุงบำรุงดิน 6) การผลิตฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต และ 7) การควบคุมระบบน้ำในแปลง
…
- ขั้นตอนที่ 1 วิธีการคัดพันธุ์
ในการคัดพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะกล้า ใช้วิธีคัดเมล็ดข้าวแบบลอยเกลือ ซึ่งมีวิธีการทำคือ (1) เตรียมภาชนะรองน้ำ ใส่น้ำพร้อมกับไข่ไก่สดใหม่ ซึ่งไข่ไก่นั้นจะจม จากนั้นให้ใส่เกลือลงไปจนกว่าไข่ไก่จะลอยขึ้นมา แล้วตักไข่ออกทันที (2) วางมุ้งเขียวในน้ำเกลือและใส่เมล็ดข้าวลงไป (3) ตักเมล็ดข้าวที่ลอยทิ้ง ส่วนเมล็ดข้าวที่จมถือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ เมื่อนำไปเพาะจะงอกทุกเมล็ด (4) ล้างเมล็ดข้าวทันทีด้วยน้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้น้ำเกลือเข้าไปในเมล็ดข้าว (5) ใช้น้ำจุลินทรีย์อัตราส่วน 1:1,000 หรือถ้าไม่มีน้ำจุลินทรีย์ ให้นำเมล็ดข้าวแช่ในน้ำมะพร้าว 1 คืน นำมาห่มผ้าบ่มไว้ 1 คืน
.
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ จะต้องใช้ข้าวประมาณ 2 ขีด หรือคิดเป็นเมล็ดประมาณ 9,026 เมล็ด
…
- ขั้นตอนที่ 2 การเพาะกล้าในถาดหลุม
ถาดหลุมที่ใช้ในที่นี้เป็นถาดขนาด 403 หลุม โดยสำหรับพื้นที่ 1 ไร่ จะต้องใช้ข้าวประมาณ 2 ขีดนั้น จะต้องใช้ถาดเพาะประมาณ 23-25 ถาด
.
ในการเพาะกล้ามีวิธีการคือ (1) ใช้ดินโคลนหรือดินจอมปลวกแห้ง นำมาร่อนให้ละเอียด แช่กับน้ำมะพร้าว อัตราส่วนคือ ดิน 10 กิโลกรัมต่อน้ำมะพร้าว 1 ลิตร หรือแช่ดินในน้ำหมัก 1 ลิตร 1 คืน แล้วนำดินนั้นไปใส่ในถาด (2) หยอดเมล็ดข้าวลงไปและกดให้จม แล้วใช้ไม้ปาดถาดหลุมอีกครั้ง (3) ใช้ผ้า เช่น กระสอบป่านเก่า มุ้งเก่า ผ้าห่ม ชุบน้ำคลุมถาดเพาะกล้าข้าว (4) นำถาดเพาะไปวางไว้ในบริเวณที่ไม่มีหนู มด นก และไก่ เข้ามาทำลาย (5) รดน้ำให้ชุ่ม โดยน้ำที่ดีที่สุดที่ควรใช้คือน้ำมะพร้าวหรือน้ำหมัก อัตราส่วน 1:1,000 หรือ 1 บัวรดต่อ1 ฝากระทิงแดง (6) เมื่อผ่านไป 3 วัน ต้นข้าวจะงอก ให้เอาผ้าคลุมออก และรดน้ำต่อเนื่อง (7) เมื่อต้นกล้าอายุ 9 วัน ข้าวจะแตกใบประมาณ 3-4 ใบ ให้นำไปปาเป้าได้ ทั้งนี้ ไม่ควรให้กล้าข้าวอายุเกิน 12 วัน เพราะรากข้าวจะเต็มถาดหลุมและเริ่มขด ทำให้การเติบโตหยุดชะงัก
…
- ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมแปลงปลูกข้าว
ในช่วงที่ตีเทือก ให้ใส่น้ำหมัก 200 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ หมักไว้ 1 อาทิตย์ เพื่อกำจัดหญ้าในแปลงนาและเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ถ้าเป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ให้ใส่ปุ๋ยหมักผักตบชวาสด จำนวน 25 ตันต่อไร่ หรือ 8 ตันแห้ง ให้ทำเทือกทิ้งไว้ 1 คืน และนำถาดเพาะข้าวแช่น้ำ 1 คืนก่อนปาเป้า
…
- ขั้นตอนที่ 4 การปาเป้า
(1) ให้ขึงเชือกระยะ 50×50 เซนติเมตร โดยตรงกลางแปลงเว้นระยะไว้ 1 เมตร สำหรับเป็นทางเดินพ่นฮอร์โมน (2) ให้ยืนคนละฝั่งกับเชือกที่ขึง และปาเป้าแบบเดินถอยหลัง (3) เพื่อให้ง่ายในการดึงหรือถอนกล้าข้าวออกจากถาด ให้งอถาดเพาะ ซึ่งต้นข้าวจะกระเด้งออกจากถาด วางถาดไว้บนแขนเพื่อปาเป้าโดยไม่ต้องก้ม (3) เมื่อผ่านไปประมาณ 3 วัน ต้นกล้าที่นอนอยู่จะตั้งขึ้น ระหว่างนี้ไม่ต้องทำอะไร จนถึงวันที่ 8 จึงเปิดให้น้ำเข้า แต่ถ้าน้ำไม่แห้งก็ยังคงไม่ต้องทำอะไร
…
- ขั้นตอนที่ 5 การปรับปรุงบำรุงดิน
ทำได้ดังนี้ (1) ฝังก้อนจุลินทรีย์ 1 ก้อนต่อ 1 ตารางเมตร เพื่อช่วยบำรุงราก (1 ไร่จะใช้จำนวน 1,600 ก้อน) (2) ใส่ปุ๋ยหมักเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของข้าวในแต่ละช่วง โดยมีหลักว่า “ขี้หมูใช้บำรุงหัว ขี้วัวบำรุงใบ ขี้ไก่บำรุงผล” นั่นคือ ในช่วงระยะแตกรากให้ใช้ขี้หมู ส่วนช่วงระยะแตกกอ/ลำต้นให้ใช้ขี้วัว และช่วงระยะออกรวงให้ใช้ขี้ไก่
…
สำหรับการทำก้อนจุลินทรีย์มีสูตรการหมักจุลินทรีย์ 1 ตัน ประกอบด้วย 1) ผักตบชวา 300 กิโลกรัม 2) ขี้หมู 300 กิโลกรัม 3) รำรวม 150 กิโลกรัม 4) กากมันสำปะหลัง 200 กิโลกรัม และ 5) ใช้น้ำหมักราดให้มีความชื้น 60% เมื่อหมักสิ่งเหล่านี้ไว้ 15 วันจะได้สิ่งที่เรียกว่า “สรรพสิ่งแห้ง” ให้นำมาบด แล้วผสมกับน้ำหมัก รำข้าว กากน้ำตาล ให้เข้ากัน แล้วปั้นเป็นก้อนขนาด 200 กรัม
.
ส่วนสูตรสรรพสิ่งเร่งต้น ประกอบด้วย 1) สรรพสิ่งผักตบชวา 25 กิโลกรัม 2) ปุ๋ยคอก (ขี้หมู, ขี้วัว, ขี้ไก่) 25 กิโลกรัม 3) รำรวม 10 กิโลกรัม นำทั้งหมดมาผสมกับน้ำหมักพอให้ชุ่ม จากนั้นนำปุ๋ยที่ได้ไปใส่ที่แปลงทุกวัน จำนวน 1 กำมือต่อ 1 ต้น
…
- ขั้นตอนที่ 6 การฉีดฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต
หลังจากการปาเป้าประมาณ 2 อาทิตย์ ให้เริ่มฉีดพ่นฮอร์โมน โดยฉีดพ่นทุกๆ 10-15 วัน/สูตร ตามระยะการเจริญเติบโตของข้าว ซึ่งมี 5 สูตร ตามลำดับการฉีดพ่นดังนี้
- ฮอร์โมนน้ำมะพร้าว: ใช้น้ำมะพร้าว 7 ลิตร ผสมกับกากน้ำตาล 1 ลิตร หมักไว้ 3 วัน ครบ 3 วันจะพบว่ามีเชื้อราขาวขึ้น การพ่นฮอร์โมนนี้ช่วยให้ลำต้นและรากข้าวแข็งแรง
- ฮอร์โมนนม: ใช้นมหมดอายุมาหมัก 3-7 วัน จากนั้นนำมาฉีดพ่น
- น้ำหมักจากอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ผลไม้ เพื่อช่วยเร่งการแตกกอ
- น้ำหมักเศษอาหาร
- น้ำหมักน้ำซาวข้าว: ใช้น้ำซาวข้าวมาหมัก เพื่อนำฉีดพ่นในช่วงข้าวกำลังออกรวง “เพราะอาหารพืชที่ดีที่สุดคือตัวมันเอง” หากไม่มีน้ำซาวข้าว ให้ใช้รำหมักหรือนำข้าวมาบด ในสัดส่วน 7 กิโลกรัมผสมกับกากน้ำตาล 3 กิโลกรัม หมักไว้ 15 วัน
ทั้งนี้ แต่ละชนิด ให้ฉีดพ่นประมาณ 15 วัน จะพอดีกับช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าว โดยฉีดพ่นทุกวัน ตอนเช้าหรือเย็น ถ้าเช้าให้พ่นระหว่างเวลาตี 4 – 8 โมงเช้า ส่วนตอนเย็นควรเป็นช่วง 4 โมงเย็น
…
- ขั้นตอนที่ 7 การควบคุมระดับน้ำในแปลง
ในช่วงที่ข้าวอายุได้ 100 วัน (กรณีเป็นข้าวหอมมะลิ) ให้หยุดการฉีดพ่นหรือการให้ปุ๋ย เพื่อให้ข้าวแตกกอ โดยต้องควบคุมระดับน้ำในแปลงให้สูงไม่เกิน 5 เซนติเมตร เพราะถ้าระดับน้ำเกินกว่านั้น แสงจะส่องไปไม่ถึงรากข้าว ซึ่งเป็นสาเหตุให้ข้าวไม่แตกกอ
.
ถ้าหากมีวัชพืชเกิดขึ้นในช่วงระดับน้ำน้อยหรือมีไม่เพียงพอนั้นก็ให้ถอนทิ้งไว้ในแปลง ไม่ต้องขนออกจากแปลงนา เพื่อให้เวียนกลับเป็นปุ๋ยให้กับข้าวต่อไป
…
…
- ประโยชน์จากการทำ “นาปาเป้า”
ผลลัพธ์สำคัญที่จะได้จากการปลูกข้าวในระบบ “นาปาเป้า” นี้ ตามที่เคยมีการพิสูจน์กันมาแล้วก็คือ จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวสูงถึง 2 ตันต่อไร่ เนื่องจากข้าวแตกกอได้ดี
.
คุณต๋อบอกเล่าว่า ในกรณีที่ได้ผลผลิตไร่ละ 2 ตันนั้น พบว่าข้าวมีการแตกกอถึง 100-134 ต้น ส่วนนาของเธอในตอนนี้ มีอัตราแตกกออยู่ที่ประมาณ 74 ต้น
.
คุณต๋อระบุว่า ความสามารถในการแตกกอได้มาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่รูปแบบการจัดการแปลงนาระบบนี้มีช่องว่างระหว่างแถวกว้าง จึงทำให้แสงแดดส่องถึง และทำให้เดินสะดวกด้วย
.
อีกทั้ง แปลงนาและระบบปลูกแบบนี้ยังช่วยลดปัญหาการเกิดโรคในแปลงข้าว
.
คุณต๋อกล่าวถึงการทำนาปาเป้าว่า แม้ดูเหมือนมีขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอน แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นขั้นตอนที่มากกว่าการทำนาทั่วไป และไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแต่อาจจะมีบางรายละเอียดที่แตกต่างออกไป และต้องทำอย่างละเอียด บางขั้นตอนใช้เวลาบ้าง แต่ถ้าเปรียบเทียบจริงๆ แล้ว เป็นการทำนาที่ใช้เวลาและกำลังแรงงานน้อยกว่าแบบปกติทั่ว
.
เธอยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ใช้ในการเพาะกล้า จะใช้เวลาประมาณ 14 นาทีต่อ 1 ถาด ส่วนในขั้นตอนการปาเป้า สำหรับที่นาจำนวน 1 ไร่ จะใช้แรงงาน 6 คน ทำในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ
.
ในฐานะที่เป็นลูกชาวนามาแต่เกิด แต่ว่าส่วนตัวนั้นเพิ่งเริ่มมาทำนาปี 2560 และประสบพบเจอปัญหาในทันทีว่า พ่อแม่แก่ลงทุกปี นั่นก็คือต้องเผชิญภาวะขาดแรงงาน เมื่อมีคนแนะนำว่ามีองค์ความรู้การทำนาที่ลดแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตมาก นั่นคือนาปาเป้า ซึ่งมีคนทำอยู่ที่เชียงราย และทำได้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 2 ตัน คุณต๋อจึงเลือกทำนาแบบ “นาปาเป้า” ซึ่งทำมาได้ 2 ปี พบว่า ผลผลิตต่อไร่ที่ได้คือ 700 กิโลกรัม
.
คุณต๋อบอกว่าหัวใจสำคัญขั้นตอนของนาปาเป้าก็คือการคัดพันธุ์ ซึ่งใช้วิธีลอยน้ำเกลือ โดยที่ต่อไร่ใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 2 ขีดเท่านั้น
.
สุดท้ายคุณต๋อสรุปว่า “หากมีการจัดการตามกระบวนการผลิตในระบบนี้ติดต่อกัน 3 ปี หลังจากนั้นจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย เพียงแค่ไถกลบฟางอย่างเดียว”
.
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความหมายของ “นาปาเป้า” ก็คือ เป็นระบบการผลิตที่ช่วยลดแรงงาน ลดเวลาในการจัดการแปลง และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวสูงได้ถึงไร่ละ 2 ตัน เพียงแต่ต้องทำนาอย่างละเอียดและใจเย็น