โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

“ผลผลิตทุกอย่างที่นำมาจำหน่าย มั่นใจว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค” และ “สิ่งที่ได้มากกว่าเงินคือความสุข”

“ตั้งแต่ปลูกผัก ทำเกษตรอินทรีย์มา สิ่งที่ได้มากกว่าเงินคือความสุข”

นี่คือคำพูดของ “ยุพิน” เกษตรกรจากพื้นที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เป็นแม่ค้า หรือ “แม่กาด” ในข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ มานานกว่า 20 ปีแล้ว คำพูดดังกล่าวสื่อความหมายได้อย่างชัดเจนอยู่ในตัว ไม่ต้องมีการตีความใด ๆ แต่สิ่งที่ยุพินกล่าวขยายความต่อมาก็ทำให้เกิดความเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรม ว่าความสุขในความหมายของเธอนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

“ได้อยู่พร้อมกันแม่ลูก มีรายได้ส่งเสียลูกเรียนจบได้ตามกำลังความสามารถของลูก ยิ่งไปกว่านั้น การทำเกษตรอินทรีย์ยังช่วยฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า และระบบนิเวศในสวน มีผลผลิตที่ปลอดภัยไว้บริโภค แบ่งปัน และจำหน่าย กลายเป็นวิถีที่อยู่ในจิตใจในจิตวิญญาณ ยิ่งแก่ตัวไปยิ่งมีความสุข”

เราสัมภาษณ์ยุพินเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ในขณะอยู่ที่แผงขายพืชผักผลไม้ของเธอเองในข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ ยุพินซึ่งแทนตัวเองว่า “แม่” ยกแตงไทยขึ้นวางบนกิโลชั่งน้ำหนัก พลางบรรยายต่อไปว่า

“ผลผลิตที่นำมาขายเป็นราคาที่เราพอใจ ลูกค้าได้บริโภคอาหารปลอดภัยและได้ซื้อของราคาไม่แพง เราก็มีความสุข อย่างแตงไทยลูกนี้ หนัก 4.5 กิโลกรัม ปลูกไม่ยาก เป็นพันธุ์พื้นบ้าน หอมหวาน ลูกค้าบางคนกลัวทานไม่หมด ให้ตัดแบ่งขาย แม่ก็ยินดี ทุกอย่างในแผงปลูกเองในสวน”

แม่กาด หรือแม่ค้าในข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ อีกคนที่เราได้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันคือ “แม่ศรีทอน จันทร์ก้อน” จากกลุ่มเครือข่ายสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เธอเข้าร่วมเครือข่ายตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2542 หรือประมาณ 25 ปีมาแล้ว

“ผลผลิตทุกอย่างที่นำมาจำหน่าย มั่นใจว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค บางอย่างก็เป็นของสมาชิกในหมู่บ้านฝากมาขาย อย่างครั้งนี้ฝากมา 3 คน แต่ก็เป็นผู้ที่อยู่ในเครือข่ายฯ เรา แผงเราก็จะมีผลผลิตที่หลากหลาย”

สินค้าบนแผงของศรีทอนมีทั้งผลไม้ ขนมไทย น้ำมะพร้าว กล้วยฉาบ ศรีทอนกล่าวถึงสินค้า การค้าขาย และความสัมพันธ์ที่มีกับผู้ซื้อสินค้าว่า

“อย่างฝรั่ง รับรองว่ากรอบหวาน หากลูกค้าต้องการให้สับพร้อมรับประทานก็แจ้งได้เลย หนึ่งผลหนักประมาณ 500-600 กรัม เชื่อมั่นได้ว่าผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์แน่นอน ลูกค้ามีทั้งขาจรและประจำ แต่ส่วนมากลูกค้าประจำ บางรายจะมารอตั้งแต่ยังตั้งร้านไม่เสร็จก็มี หรือโทรสั่งไว้ล่วงหน้าบ้าง”

ในเชิงภาพรวมเท่าที่มีข้อมูลจากประสบการณ์จริงของการดำเนินการข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ แม่กาดแต่ละราย ทั้งผู้ผลิตและแปรรูป จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 – 30,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับจำนวนและความหลากหลายของผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปที่นำมาขาย

โดยทั่วไป แต่ละแผงมีความหลากหลายของชนิดพืชผัก (ผักพื้นบ้าน ผักตามฤดูกาล ผลไม้ตามฤดูกาล) และความหลากหลายของผลผลิตอื่น ๆ (อาหารแปรรูป อาหารปรุงสุก) ไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด

การมีข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ ทำให้ผู้ปลูกผักและแปรรูปมีรายได้ในระดับครอบครัวเป็นที่น่าพอใจและมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอน เป็นแหล่งจำหน่ายอาหารอินทรีย์จากนิเวศที่แตกต่างกันในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น พื้นที่ดอย พื้นราบ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างรายได้และเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน รวมถึงเป็นตลาดที่เป็นเสมือนจุดนัดหมายให้เกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคได้มาพบกัน

ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่มาตลาดอินทรีย์แห่งนี้มีความหลากหลาย ทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ผู้สูงอายุ วัยทำงาน วัยรุ่น แม่-ลูก พ่อ-แม่-ลูก ตายาย-หลาน เป็นต้น

จุดร่วมหลักของผู้บริโภคส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้รักสุขภาพ บางส่วนคือผู้มีความตระหนักและใส่ใจต่อปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมการซื้อและการมีส่วนร่วมกับกาดนัดเกษตรอินทรีย์ เช่น มีการนำตะกร้าหรือถุงผ้ามาเองสำหรับใช้ใส่สินค้าที่จับจ่ายกลับบ้าน นอกจากนั้น ผู้ซื้อบางส่วนยังเข้าร่วมกิจกรรมกับทางตลาดและเครือข่ายฯ ด้วย เช่น การเยี่ยมสวน/ไร่นา โดยเฉพาะผู้บริโภคขาประจำจะพบว่ามีการเข้ามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ของข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ อยู่เสมอ

บทความแนะนำ

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร คนคืนถิ่น : บทเรียนและความร่วมมือการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ โครงการอาสาคืนถิ่น โดย นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม