โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ความหมายของเกษตรแบบผสมผสาน

ระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดสามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน,น้ำ,แสงแดด อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลของสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเกิดผลในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติด้วย
รูปแบบการเกษตรแบบผสมผสาน มีอยู่ในระบบเกษตรแบบพื้นบ้านในเอเชีย เช่น จีน,ญี่ปุ่น,อินโดนีเซีย และไทย เป็นต้น จีนมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยง หมู,ปลา และพืชผักมานานหลายพันปีมาแล้ว เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาในนาข้าวในญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนจึงมีระบบการเกษตรแบบปลูกพืชหลายชั้น

หลักการของการเกษตรแบบผสมผสาน

หลักการพื้นฐานของระบบเกษตรกรรมแบบผสมผสาน มีอยู่ 2 ประการสำคัญคือ

1.ต้องมีกิจกรรมการเกษตรตั้งแต่ 2 กิจกรรมเป็นต้นไป โดยการทำการเกษตรทั้งสองกิจกรรมนั้น ต้องทำในพื้นที่และระยเวลาเดียวกัน กิจกรรมการเกษตรควรประกอบไปด้วยการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ หรืออาจจะผสมผสานระหว่างการปลูกพืชต่างชนิด หรือการเลี้ยงสัตว์ต่างชนดกันก็ได้

2.การเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมเกษตรต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในระบบเกษตรแบบผสมผสานนั้น เกิดขึ้นทั้งจากวงจรการใช้แร่ธาตุอาหารรวมทั้งอากาศ และพลังงาน การกมุนเวียนแร่ธาตุถายในไร่นาแบบผสมผสานส่วนใหญ่เป็นการจัดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากมูลของสัตว์ให้เป็นประโยชน์กับพืช และจัดการเศษพืชให้เป็นอาหารของสัตว์ โดยที่กระบวนการใช้ประโยชน์จะเป็นไปทั้งโดยตรงหรืออ้อมเช่น ผ่านการหมักของจุลลินทรีย์เสียก่อน

ลักษณะของการผสมผสาน

สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่

1.การปลูกพืชแบบผสมผสาน เราอาจใช้ความสัมพันธ์ระหว่างพืชพร้อมกับศึกษาระบบนิเวศตามธรรมชาติในเขตร้อน เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ว่าอะไรควรปลูกกับอะไรเพื่อให้เกื้อกูลกัน เช่น พืชชนิดนี้ต้องการแสงน้อยให้ปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีแสงแดดรำไร หรืออาจจะแบ่งระดับพืชเป็น พืชที่ต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโตกว่าพืชอื่นจะอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกันบริเวณความสูงระดับกลาง จะเป็นบริเวณที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชที่ต้องการแสงแดดปานกลาง ส่วนพืชที่ต้องการแสงแดดน้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในระดับชั้นล่างสุด โครงสร้างพืชเหล่านี้ทำให้เกิดความหลากหลายของภูมิอากาศ และความชื้นภายในระบบอีกด้วย

2.การผสมผสานการเลี้ยงสัตว์ สัตว์แต่ละชนิดมีความต้องการอาหารและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ในการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดร่วมกันกัน ต้องมีการจัดการให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบการหมุนเวียนเศษซากมูลสัตว์ต่างมาใช้ประโยชน์ เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำร่วมกับสัตว์บก( การเลี้ยงคู่กับปลา /การเลี้ยงเป็ดหรือไก่รวมกับปลา )

3.การปลูกพืชผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ เป็นรูปแบบการการผสมผสานระหว่างการปลูกพืชและสัตว์จึงเป็นรูปแบบการเกษตรที่สอดคล้องกับสมดุลของแร่ธาตุพลังงาน และมีการเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมการผลิตต่างๆ มากขึ้น และใกล้เคียงกับระบบนิเวศตามธรรมชาติมากขึ้นนั่นเอง เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าว, การเลี้ยงเป็ดในนาข้าว, การเลี้ยงหมู-ปลูผัก, การเลี้ยงสัตว์ปลูกพืชไร่ เป็นต้น

ที่มา : หนังสือเกษตรกรรมทางเลือก : ความหมาย,ความเป็นมา,และเทคนิควิธี
คณะผู้เขียน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ/ณรงค์ คงมาก/ฐิรวุฒิ เสนาคำ/วิฑูรย์ ปัญญากุล/ไชยา เพ็งอุ่น

บทความแนะนำ

การสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก” คุณสุชาญ ศีลอำนวย ผู้จัดการโครงการ และเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation)