การจัดการสารเคมีทางเกษตรและการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
เกือบสามปีที่ผ่านบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาในการจัดการสารเคมีการ เกษตรและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นได้มีกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นดังนี้
ข้อบังคับใช้ การห้ามทดลองสารเคมีกำจัดวัชพืชในที่สาธารณะ
– เหตุการณ์ เนื่องจากมีบริษัทขายสารเคมีกำจัดวัชพืชบริษัทหนึ่งใช้พื้นที่สาธารณะภายใน ตำบลทดสอบประสิทธิภาพการใช้และปักป้ายให้เห็นชื่อสารเคมี รวมทั้งสถานที่ติดต่อ ซึ่งสถานที่ทดสอบอยู่ริมถนนใกล้แหล่งชุมชน เป็นอันตรายกับผู้คนที่สัญจรผ่าน พื้นที่ทดลองเป็นที่สูง เมื่อฝนตกมาสารเคมีถูกชะล้างลงพื้นที่ด้านล่าง ที่สำคัญการทดสอบมีการโฆษณาซึ่งเป็นการชักจูงให้คนในชุมชนใช้สารเคมีกำจัด วัชพืชของบริษัท
– บทบาทอบต. ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวทาง อบต. และชุมชนจึงกำหนดร่วมกันว่าต้องมีมาตรการยับยั้งไม่ให้บุคคลหรือบริษัทใดๆ เข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะของตำบลทดสอบหรือทดลองสารเคมีกำจัดวัชพืช และได้มีการนำเรื่องเสนอผ่านในสภา อบต. เพื่อให้เกิดความตระหนักร่วมกัน จากนั้นนายก อบต. ประกาศห้ามทดลองสารเคมีกำจัดวัชพืชในที่สาธารณะของชุมชน โดยข้อบังคับดังกล่าวออกในนามองค์กรชุมชน
– ผลที่เกิด บริษัทต่างๆ ไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะในตำบลแม่ทามาทดสอบสารเคมีกำจัดวัชพืชได้อีกต่อไป
ยับยั้งการใช้สารเคมีกำจัดหอยเชอร์รี่
– เหตุการณ์ ช่วงฤดูการทำนาจะมีหอยเชอร์รี่เข้ามาทำลายต้นข้าวเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงใช้สารเคมีเพื่อกำจัดหอย ส่งผลกระทบกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
– บทบาทอบต. เพื่อเป็นการยับยั้งการใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอร์รี่ ทางอบต.จึงได้จัดทำโครงการรับซื้อหอยเชอร์รี่จากชาวบ้าน และอบต.นำหอยเชอร์รี่ที่รับซื้อมานั้นไปทำน้ำหมักชีวภาพ จากนั้นได้เอาน้ำหมักชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรต่อไป
– ผลที่เกิดขึ้น สามารถลดการใช้สารเคมีกำจัดหอยเชอร์รี่ลงได้ และมีน้ำหมักชีวภาพที่เกิดจากการหมักหอยเชอร์รี่มาใช้ประโยชน์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี
อาหารปลอดภัยในโรงเรียน
– เหตุการณ์ อาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนนั้น โรงเรียนต้องซื้อหามาจากตลาดนอกชุมชนทั้งพืชผักและไข่ ซึ่งปนเปื้อนสารเคมีและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก ขณะที่ในชุมชนแม่ทามีการผลิตพืชผักและเลี้ยงไก่อินทรีย์
– บทบาทอบต. เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี ทางอบต.จึงเสนอให้โรงเรียนต่างๆ ในตำบลจัดทำอาหารจากพืชผักและไข่ที่ปลอดภัยจากสารเคมี โดยอบต.ประสานกับเกษตรกรในชุมชนจัดหาวัตถุดิบให้กับโรงเรียน นอกจากนั้น อบต.ได้ประสานความร่วมมือกับอนามัยตำบลในการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในพืชผัก ที่ต้องซื้อมาจากตลาดแล้วมาทำเป็นอาหารให้เด็กนักเรียน
– ผลที่เกิดขึ้น เด็กนักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนแม่ทามีอาหารที่ปลอดภัยที่ผลิตขึ้นจากชุมชนเอง และเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของรูปแบบการจัดการผลผลิตการเกษตรภายในชุมชน