โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 23  ข้าวไร่ : ศักยภาพในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

        การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความแปรปรวนของดิน ฟ้า อากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร อย่างกรณีภาคใต้ปี 2553-2554 เกิดภาวะน้ำท่วมหนัก แต่ปีที่แล้ว 2562 และปีนี้เกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภาวะดังกล่าวไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในแต่ละช่วงฤดูจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงอย่างใกล้ตัวของการทำเกษตร โดยเฉพาะผลผลิตที่ลดลงไม่ว่าข้าว ปาล์ม ยาง กาแฟ และมะพร้าว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยมาก และที่สำคัญภาคใต้ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้สองฝากฝั่งทะเลมีปริมาณน้ำฝนที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น

ภาคใต้ ควรมีพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่ม

        ภาคใต้ ยังคงมีปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาซึ่งมีเพียง 5% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของภาค อาจเนื่องจากเป็นการทำนาที่อาศัยน้ำฝน ผลผลิตจึงไม่สู้จะดีนัก ทำให้บางส่วนถูกปล่อยร้าง หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจ  อีกทั้งยังมีการบุกรุกป่าพรุ ที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติ แล้วนำมาปลูกพืชเศรษฐกิจเช่นกัน  ในอดีตภาคใต้ไม่เจอกับสภาวะน้ำท่วมขังนาน เนื่องจากป่าพรุช่วยกักเก็บน้ำ และน้ำสามารถไหลลงสู่ทะเลทั้งสองฝั่ง ถึงแม้เป็นภาคที่มีฝนตกชุกจนมีคำกล่าวว่า ฝนแปดแดดสี่ จึงเห็นได้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่ของภาคใต้มีเพียงเขื่อนเดียว คือ เขื่อนเชี่ยวหลานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากที่มีพื้นที่ทำนาน้อย ได้นำมาสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร เพราะคนใต้ไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค คนใต้จึงต้องซื้อข้าวจากภาคอื่นมากิน นั่นจึงเป็นที่มาของการสนับสนุนให้ภาคใต้ ควรมีพื้นที่ในการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น และข้าวไร่อาจเป็นแนวทางความเหมาะสม นี่เป็นแนวทางหนึ่งในการปรับตัวและรับมือของคนใต้ต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัย…ตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาการผลิตข้าวไร่

        อาจารย์ร่วมจิต ได้นำเสนอปัญหาการผลิตไร่จากงานศึกษาวิจัย พบว่า “ด้วยการปลูกข้าวไร่จะใช้พื้นที่ดอน และอาศัยน้ำฝน ดังนั้นผลผลิตจะดีหรือไม่ ขึ้นกับการกระจายตัวของฝน ถ้าฝนตกในช่วงที่ข้าวกำลังออกรวงก็ได้ผลกระทบ ความสูงของอุณหภูมิในช่วงดอกข้าวบานก็ทำให้เมล็ดเล็ก ลีบ ไม่สมบูรณ์ ความสุกแก่ของเมล็ดไม่เท่ากัน”อย่างเช่น ในปี 2561 พบว่า ข้าวไร่ยืนต้นตายจากฝนที่ทิ้งช่วงนาน 2 เดือน เมล็ดข้าวไม่ได้คุณภาพ เป็นท้องไข่ การเจริญเติบโตของลำต้นก็ไม่ดี หรือ การปลูกข้าวไรในแปลงมะพร้าวที่มีอายุ 22 ปี ในช่วงกลางวันบางวันอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส และในวันที่มีอุณหภูมิสูงนี้อากาศจะอบอ้าว แล้วฝนจะตกลงมาซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวไร่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ส่งผลต่อการผลิตข้าว งานศึกษาวิจัยจึงเกิดขึ้น ภายใต้ การตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การหาพันธุ์ข้าวที่แข็งแรง สามารถเจริญเติบโตได้ ถึงแม้มีภัยแล้ง หรือฝนตก เช่นเดียวกัน การค้นหาพันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตได้ในร่มเงา โดยเฉพาะในแปลงพืชเศรษฐกิจ อย่างสวนยางพาราที่มีอายุเกิน 10 ปี เหล่านี้ เป็นความต้องการของเกษตรกรภาคใต้ด้วยเช่นกัน

        แนวโน้มการศึกษาวิจัย เพื่อตอบโจทย์การปลูกข้าวไร่ที่นักปรับปรุงพันธุ์ต้องเข้ามา เช่น การพัฒนาพันธุ์ให้ทนแล้ง ปลูกได้ในพื้นที่โล่งแจ้ง ต้องเลือกพันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้น สามารถเติบโตได้แม้ฝนทิ้งช่วง ต้องมีลำต้นแข็งแรง ต้นเตี้ย แตกรากจำนวนมาก แตกกอน้อยเพียง 3 ต้น/กอ และปลูกในระยะถี่ ใช้เมล็ดต่อหลุมจำนวนมาก

ข้าวไร่กับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

        สิ่งสำคัญ คือ ต้องเรียนรู้ลักษณะสายพันธุ์ของข้าวแต่ละชนิด การมีขนใบ จำนวนราก การแตกกอ ลักษณะใบธง อายุการเจริญเติบโตของต้นข้าว ฯลฯ เหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลเพื่ิอนำมาปรับปรุงพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม สภาพพื้นที่ภาคใต้ มีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าวไร่ และไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรยังเหมาะสมกับการเป็นแหล่งผลิตอาหารให้คนในประเทศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และมีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เกษตรกรรมกับการเปลี่ยน ปรับ รับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 วันที่ 11 มิถุนายน 2563

บทความแนะนำ