โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

         อาจารย์เทพรัตน์ ได้นำเสนอประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับกลุ่มชาวนาที่อาศัยบริเวณที่ราบริมทะเลสาปสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกับการทำนา ซึ่งได้มีการศึกษาใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ วิถีการทำนาของชุมชน การตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อเสนอแนะทั้งในระดับชุมชนและนโยบาย

วิถีการทำนาของชุมชน “นาในเล”

         จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ทำนาเป็นอู่ข้าวในอันดับต้นๆ ของภาคใต้ ตามนิยาม “เมืองนางโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ……” และจากลักษณะพื้นที่ที่มี 7 ลุ่มน้ำและมีระบบชลประทานทั้ง 7 ลุ่มน้ำ ซึ่งจะไหลรวมลงสู่ทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่กินพื้นที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา ก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย ชุมชนจึงได้ใช้ประโยชน์บริเวณที่ราบริมทะเลสาปโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เพื่อทำนา และเรียกกันว่า “นาในเล” ด้วยสภาพพื้นที่ดังกล่าว ทำให้หลายพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากติดอันดับของประเทศ ตัวอย่างเช่น พื้นที่เขตอำเภอควนขนุน ในลุ่มน้ำท่าแนะและลุ่มน้ำป่าพะยอม ชุมชนได้อยู่ร่วมในวิถีน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายใต้วัฒนธรรมที่ยึดโยงและได้สร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนมาอย่างยาวนาน

การปรับตัวของชุมชน

         ถึงแม้ปัจจุบันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือฝนไม่ได้ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อที่ผ่านมา ซึ่งชุมชนเองได้มีการสังเกตและรับรู้ได้ อย่างไรก็ตามภายใต้ความแปรปรวนของสภาพอากาศนั้นสิ่งที่ชุมชนได้วิเคราะห์ควบคู่ไปด้วย คือการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสร้างถนนหนทางที่เพิ่มขึ้นและตัดผ่านทะเลสาบที่เรียกว่าทะเลน้อย ซึ่งได้ส่งผลกระทบกับชุมชนที่มีน้ำท่วมซ้ำซากเพิ่มและนานมากขึ้น ดังนั้นชุมชนได้มีการปรับตัวโดย

  • เลื่อนระยะเวลาการทำนาออกไปหลังน้ำลด จากเดิมที่เริ่มทำนาในช่วงเดือนกันยายนถึงต้นตุลาคม ก็เลื่อนเป็นปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ปรากฏการณ์นี้จะเห็นภาพได้ชัดเจนในระดับชุมชน แต่การปรับตัวดังกล่าว ชุมชนถือว่าเป็นการยึดโยงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการใช้พันธุ์ข้าวที่ยังใช้พันธุ์ดั้งเดิมที่มีความนิยม 3 สายพันธุ์ คือ เล็บนก สังข์หยดและข้าวเฉี้ยง สำหรับพันธุ์ข้าวเล็บนก ถือเป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ส่วนข้าวเฉี้ยงเป็นข้าวที่นิยมบริโภคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นข้าวที่มีตลาดเฉพาะ
  • การปรับใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกลับพบว่า พื้นที่ในการทำนาของจังหวัดพัทลุงในช่วงฤดูการทำปี 2561-2562 มีพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้น จากคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้านมากขึ้น และคนเหล่านี้ ได้มีการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในการทำเกษตรเพิ่มขึ้น

         ดังนั้น การปรับตัวของชุมชนชาวนานอกจากการยึดโยงอยู่ร่วมกับธรรมชาติแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลมาใช้ในการจัดการเพิ่มมากขึ้น เพื่อร่นเวลาและแรงงานในการทำนา อย่างไรก็ตาม พบว่า ถึงแม้ชุมชนจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ทำให้ชุมชนเผชิญสภาพน้ำท่วมที่ซ้ำซากนานกว่าเดิม แต่ผลผลิตจากการทำนาของคนในชุมชนไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงคือเฉลี่ย 400 กิโลกรัมต่อไร่มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า การปรับตัวของชุมชนชาวนาของจังหวัดพัทลุงนั้น เป็นการจัดการภายใต้การพึ่งตนเองบนฐานการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและนิเวศที่เป็นอยู่

ข้อเสนอแนะ

         อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้น ยังยากที่จะทำนายว่ามีผลกระทบรุนเรงหรือไม่ อย่างไร หรืออะไรจะเกิดขึ้นอีก อย่างที่ผ่านมาชุมชนชาวนาในจังหวัดพัทลุง เคยประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมทำให้ข้าวได้รับความเสียหาย และครั้งนั้นได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายชาวนา องค์กรภาคประชาชนหลายฝ่ายทำให้ชุมชนรอดพ้นจากวิกฤตนั้นมาได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ชาวนาต้องมีการจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นให้ได้ใน 2 ระดับ คือ

  1. ในระดับชุมชน ต้องมีการรวมกลุ่มชาวนา เพื่อการจัดการพื้นที่นาทั้งทุ่งตามวิถีชาวนาแทนการจัดการนาแปลงใดแปลงหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา โดยมีการศึกษาเรียนรู้จัดทำข้อมูลร่วมกันแล้วนำมาวางแผนให้เกิดประโยชน์ เช่น การจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำตั้งแต่พื้นที่ราบเชิงภูเขาจนมาถึงพื้นที่ริมน้ำทะเลสาป มีการจัดการพันธุ์ข้าวร่วมกันทั้งในระดับชุมชนและเครือข่าย รวมทั้งคนเมือง อย่างเช่น กรณีเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็สามารถมีกลไกช่วยเหลือทั้งด้านเมล็ดพันธุ์ หรือเงินทุนสำหรับให้ชาวนาซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือข้าวกินภายในเครือข่ายด้วยกัน มีการจัดการแหล่งสำรองเมล็ดพันธุ์ในชุมชน โดยทำนาแปลงรวม หรือแปลงนาส่วนตัว สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อสามารถนำมาใช้ในยามเกิดวิกฤต หรือร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่น ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวในการจัดหาเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูก รวมทั้งความร่วมมือกับเครือข่ายชาวนาในจังหวัดต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ถึงแม้ไม่สามารถห้ามภัยพิบัติให้เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมีความเดือดร้อน ชุมชนชาวนาต้องมีกลไกช่วยเหลือระหว่างกัน เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารดำรงอยู่
  2. ข้อเสนอในเชิงนโยบาย ซึ่งต้องเกิดจากการประสานความร่วมมือทั้งระดับพื้นที่และหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและจัดการข้อมูลร่วมกัน ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง หรือรูปธรรมการจัดการดิน การจัดการน้ำ ข้อมูลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนที่แตกต่างกัน ข้อมูลทางนโยบายที่เกี่ยวข้องและส่งผลกับชุมชน ข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องมีทำความเข้าใจร่วมกัน ที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้สามารถใช้กลไกอย่างสภาเกษตรกรในระดับจังหวัดที่มีอยู่

         ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็น คือ การจัดการข้อมูลเพื่อนำมาออกแบบนโยบายในการจัดการชุมชนชาวนา ที่สอดคล้องเหมาะสมในแบบที่ชุมชนแต่ละชุมชนสามารถจัดการเองได้ ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจในวิถีชาวนาปัจจุบัน ที่ไม่ได้ดำรงอยู่เฉพาะกับตัวข้าวเพียงอย่างเดียวแต่ชาวนามีงานหลายด้าน ซึ่งมีความจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้จากพื้นที่และชุมชนชาวนาเอง

ที่มาภาพข้าวไร่ : FB ธรรมชาติ เพื่อชีวิต

บทความแนะนำ